รู้จัก 'ริชี ซูนัค' นายกฯ อังกฤษคนใหม่ที่เป็นคนเชื้อสายเอเชียคนแรก นับถือฮินดู อายุน้อยสุด รวยที่สุด 'แต่ต้องแกล้งทำตัวจน'
ในที่สุด อังกฤษก็ได้(ว่าที่) นายกรัฐมนตรีคนใหม่มาแทนที่ ลิซ ทรัสส์ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นนายกฯ ซึ่งที่ทำหน้าที่สั้นที่สุดของอังกฤษ เพียง 44 วันแล้ว
และว่าที่นายกฯ อังกฤษคนใหม่นี้ที่ชื่อว่า "ริชี ซูนัค" (Rishi Sunak) ก็มีความเป็น "ที่สุด" และ "น่าจับตามอง" ในหลายประเด็นด้วยกัน ทีมข่าว SPOTLIGHT จะพาไปดูประวัติและความน่าสนใจของผู้นำอังกฤษคนใหม่เชื้อสาย "อินเดีย" รายนี้กัน
ว่าที่นายกฯ เชื้อสาย "เอเชีย" คนแรก และเป็นว่าที่นายกฯ คนแรกที่นับถือ "ฮินดู"
นายซูนัคเกิดที่เมืองเซาแธมป์ตัน สหราชอาณาจักร ในปี 1980 พ่อแม่ของเขาเป็นคนเชื้อสายอินเดียทางปัญจาบ อพยพมาจากแอฟริกาตะวันออก (เคนยา และ แทนซาเนีย) ซูนัคนับถือศาสนาฮินดู ไปวัดทุกอาทิตย์ และไม่ดื่มเหล้า
แต่เขาไม่ใช่ลูกของผู้อพยพทั่วๆ ไปที่ยากจน เพราะพ่อของเขาเป็นแพทย์ ส่วนแม่ก็มีร้านขายยาเป็นของตัวเอง คือเรียกได้ว่าทั้งพ่อและแม่ของเขาย้ายมาอังกฤษตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ทำให้รุ่นพ่อแม่ได้มีโอกาสเรื่องการศึกษาและการตั้งตัวจนเป็นแพทย์และมีร้านยาของตัวเอง แถมคุณตายังทำงานให้จักรวรรดิอังกฤษในยุคนั้นจนได้เครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้น MBE มาด้วย นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ประวัติของซูนัคไม่ธรรมดา
เด็กทั่วไปมักจะเรียนในโรงเรียนรัฐบาลที่ไม่ต้องเสียค่าเทอม แต่ซูนัคเรียนในโรงเรียนเอกชนค่าเทอมแพงมาตั้งแต่เด็กที่ Winchester College จบปริญญาตรีคณะเศรษฐศาสตร์การเมืองจากมหาวิทยาลัย Oxford ที่ๆ ปั้นนายกฯ มาแล้วหลายคนทั้งในอังกฤษและแม้แต่ประเทศไทยเอง (อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็จบจากที่นี่) และไปเรียนต่อ MBA ที่มหาวิทยาลัย Stanford ในสหรัฐ
ที่นี่เองทำให้เขาได้พบกับ "ภรรยาในอนาคต" ซึ่งเป็นลูกสาวของผู้ก่อตั้งบริษัท Infosys บริษัทไอทียักษ์ใหญ่ในอินเดียที่มีมูลค่ามาร์เก็ตแคปทะลุ 1 แสนล้านดอลลาร์ (กว่า 3.8 ล้านล้านบาท) และทำให้เขาได้ชื่อว่า(น่าจะ)เป็นนายกฯ อังกฤษที่รวยที่สุดไปด้วย
นายกฯ ที่รวยที่สุดในอังกฤษ
ลำพังครอบครัวของซูนัคเองก็ถือว่าเป็นคนมีเงินในอังกฤษอยู่แล้ว ทั้งเรียนโรงเรียนเอกชนตั้งแต่เด็ก จบอ็อกซ์ฟอร์ด ไปเรียนต่อปริญญาโทที่สแตนเฟิร์ด และทำงานเป็นนายแบงก์ที่วาณิชธนกิจยักษ์ใหญ่อย่าง Goldman Sachs
แต่ความรวยที่แท้จริงที่ทำให้ซูนัคถูกเรียกว่า Ultra Rich หรือถูกบางสื่อเรียกว่า "ตกถังข้าวสาร" มาจากการแต่งงานกับภรรยา "อัคชาตา มูรติ" (Akshata Murty) ลูกสาวของ นารายณ์ มูรติ มหาเศรษฐีแสนล้านผู้ก่อตั้งบริษัท "อินโฟซิส" บริษัทไอทีใหญ่สุดอันดับ 2 ในอินเดีย ทั้งคู่แต่งงานกันในเวลาต่อมา มีบุตรสาวด้วยกัน 2 คน
ในปี 2001-2004 ซูนัคเป็นนักวิเคราะห์ในวานิชธนกิจ โกลด์แมนแซคส์ และต่อมาได้ตำรงตำแหน่ง หุ้นส่วนในบริษัทเฮดจ์ฟันด์ 2 แห่ง ก่อนที่ในเวลาต่อมาจะเบนเข็มเข้าสู่ "เส้นทางการเมือง" จนเคยขึ้นไปถึงตำแหน่งรัฐมนตรีคลังมาแล้วในสมัย บอริส จอห์นสัน ซึ่งมีการคาดการณ์กันว่า ซูนัคน่าจะเป็นหนึ่งใน ส.ส. ที่รวยที่สุด แต่เขาไม่เคยพูดถึงความมั่งคั่งของตัวเองอย่างเปิดเผย
รวยแค่ไหน?
หนังสือพิมพ์ The Times of London ประเมินว่า คู่สามีภรรยาซูนัคมีทรัพย์สินมากกว่า 800 ล้านดอลลาร์ (กว่า 3 หมื่นล้านบาท) ซึ่งทำให้พวกเขากลายเป็น 1 ใน 250 ครอบครัวที่รวยที่สุดในอังกฤษ โดยแหล่งที่มาของทรัพย์สินส่วนใหญ่มาจากธุรกิจเทคโนโลยีและเฮดจ์ฟันด์
ขณะที่ The Guardian สื่อฝ่ายเอียงซ้ายในอังกฤษระบุว่า ทรัพย์สินมูลค่า 730 ล้านปอนด์นั้น "มากกว่าเป็นเท่าตัว" เมื่อเทียบกับความมั่งคั่งส่วนพระองค์ของกษัตริย์ชาร์ลที่ 3 และพระราชินีคามิลล่า ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 300 - 350 ล้านปอนด์ เสียอีก
ครอบครัวซูนัคอาศัยอยู่ในทาวน์เฮาส์หรูย่านคนรวยใน Kensington ซึ่งบริษัทอสังหาฯ ประเมินมูลค่าอยู่ที่กว่า 7 ล้านปอนด์ (กว่า 300 ล้านบาท) เขาเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์อีก 4 แห่ง ทั้งในและนอกอังกฤษ รวมมูลค่ากว่า 15 ล้านปอนด์
ส่วนในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ ก็จะไปพักผ่อนในบ้านพักตากอากาศที่ North Yorkshire ซึ่งเป็นคฤหาสน์สไตล์จอร์เจีย ที่ซื้อมาในราคา 1.5 ล้านปอนด์ เมื่อปี 2015 ปัจจุบันราคาขึ้นไปกว่า 2 ล้านปอนด์แล้ว บ้านตากอากาศหลังนี้ถูกตกแต่งไปอีกกว่า 4 แสนปอนด์ เพื่อทำสระว่ายน้ำ ยิม ห้องโยคะ อ่างอาบน้ำ และสนามเทนนิส
ทำไมต้องแกล้งจน และทำไมถึงอวดรวยไม่ได้?
ในรายงานของ The Guadian ระบุว่า เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ระหว่างที่ซูนัคถ่ายรูปขณะกำลังเติมน้ำมันรถยนต์ยี่ห้อ Kia จากเกาหลีใต้ ที่ปั๊มแห่งหนึ่งในเมืองเซนส์บิวรี เพื่อพีอาร์ถึงสถานการณ์ราคาน้ำมันในปั๊มที่ลดลงแล้ว มีการแฉและเปิดเผยในภายหลังว่า รถคันนั้นไม่ใช่รถของซูนัค แต่ทีมงานของเขาเป็นคนไปสอบถามและขอยืม "รถธรรมดาๆ เช่น Kia" ของคนในปั๊ม เพื่อให้ซูนัคมาถ่ายรูป เจ้าตัวเองได้ออกมายอมรับในภายหลังว่า นี่เป็นเรื่องที่น่าอับอายที่สุดเขา ที่ต้องทำเป็นจ่ายค่าน้ำมันรถที่ไม่ใช่รถของตัวเอง
ทั้งนี้ แม้ว่าการเป็นคนรวยจะไม่ใช่เรื่องผิดอะไร ทุกคนต่างก็อยากรวย "แต่การเป็นผู้นำประเทศที่ร่ำรวย ในจังหวะที่คนในประเทศกำลังยากจนลง" อาจไม่ใช่จังหวะเวลาที่ดีนัก เพราะอาจถูกตั้งคำถามตั้งแต่เรื่องความเหลื่อมล้ำ ไปจนถึงถูกตั้งแง่ตั้งแต่ยังไม่เริ่มทำงานว่า คนรวยล้นฟ้า จะมาเข้าใจคนจน จะมาแก้ปัญหาให้คนจนได้อย่างไร
เงินเฟ้อพุ่ง-ค่าไฟแพง-ค่าแรงไม่พอ ปัญหาปากท้องคนอังกฤษที่รอแก้ไข
เงินเฟ้อของอังกฤษในเวลานี้ พุ่งขึ้นไปแตะเลขสองหลักถึง 10.1% ทำสถิติสูงสุดในรอบ 40 ปี ลำพังแค่เรื่องนี้ก็ถือเป็นปัญหาที่ใหญ่มากพออยู่แล้วสำหรับปากท้องประชาชน แต่เมื่อบวกกับค่าไฟที่แพงขึ้นถึง 80% และการที่เศรษฐกิจประเทศเข้าสู่ภาวะถดถอย (จีดีพีหดตัวลง 2 ไตรมาสติดกัน) ก็ทำให้สถานการณ์ยิ่งย่ำแย่
สำนักงานกำกับตลาดก๊าซธรรมชาติและไฟฟ้า หรือ Ofgem ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐบาลอังกฤษที่มีหน้าที่กำหนดเพดานค่าไฟฟ้า ได้ปรับเพิ่มเพดานราคาพลังงานสำหรับผู้บริโภคโดยเฉลี่ย เป็น 3,549 ปอนด์ต่อปี โดยเพิ่มขึ้น 80% จาก 1,971 ปอนด์นับตั้งแต่เดือน ต.ค.นี้
ส่วนก่อนหน้านี้ในช่วงกลางปี โพลล์ของอิปซอส (Ipsos) เคยระบุว่า สถานการณ์ข้าวยากหมากแพงในยุคที่อังกฤษเจอเงินเฟ้อสูงสุดในรอบ 40 ปี ทำให้มีชาวอังกฤษจำนวนมากต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตและกินอาหารชนิดที่ "ประหยัดสุดๆ" กลุ่มตัวอย่างถึง 1 ใน 4 ระบุว่า จำเป็นต้องยอมอดข้าวในบางมื้อเพื่อประหยัดเงิน ส่วนอีก 2 ใน 3 ต้องยอมหนาวปิดฮีตเตอร์เพื่อประหยัดค่าแก๊สที่พุ่งขึ้น และอีกเกือบครึ่งหนึ่งใช้วิธีขับรถให้น้อยลง หรือเปลี่ยนไปซูเปอร์มาร์เก็ตที่ใกล้บ้านมากขึ้นแทน เพื่อให้ประหยัดค่าน้ำมัน
สถานการณ์เหล่านี้ทำให้เกิดการประท้วงขึ้นทั่วอังกฤษ ตั้งแต่ London, Edinburgh, Swansea และ Liverpool มีการรณรงค์ให้คนหยุดจ่ายค่าไฟในแคมเปญ Don't Pay ขณะที่สถานการณ์อาจรุนแรงขึ้นอีกในช่วงหน้าหนาวนี้ ที่คาดว่าราคาแก๊สและน้ำมันจะกลับมาแพงขึ้นอีกครั้ง และทำให้ปัญหาปากท้องคนอังกฤษ เป็นเรื่องใหญ่อันดับ 1 ที่นายกฯใหม่ ต้องแก้ไขให้ได้
ก่อนหน้านี้ในยุคของนายกฯ ลิซ ทรัสส์ เธอให้สัญญาว่าจะออกแคมเปญช่วยค่าไฟ/ค่าแก๊สประชาชนและภาคธุรกิจ ครัวเรือนละ 2,500 ปอนด์ เป็นเวลา 2 ปี แต่รัฐมนตรีคลังคนใหม่บอกว่าจะช่วยถึงแค่ เม.ย. ปีหน้า ปัญหาก็คือ ภายใต้เงินเฟ้อที่สูงและค่าไฟที่จะพุ่งขึ้นอีกในฤดูหนาว อาจทำให้แพ็คเก็จนี้บานปลายจาก 2,500 เป็น 4,000 ปอนด์ ในช่วงไตรมาส 2 ปีหน้า
รัฐบาลจำเป็นต้อง "ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้" เพื่อหาเงินมาช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน แต่การจะลดรายจ่ายของรัฐบาลก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ว่าจะไปล้วงงบกลาโหม สาธารณสุข หรือกระทรวงไหนๆ ก็เสี่ยงต่อความขัดแย้งทางการเมืองภายในที่วุ่นวายมากพออยู่แล้วของพรรคอนุรักษ์นิยม ซึ่งเป็นที่มาของการเปลี่ยนนายกไปถึง 4 คน ภายในเวลาแค่ 2 ปี