ครบ 1 ปี นายจ้างต้องให้ "พักร้อน" กระทรวงแรงงานย้ำ สิทธิลูกจ้างเป็นเรื่องสำคัญถ้าไม่ให้วันพัก ต้องจ่ายเป็นเงิน เร่งชี้แจงสถานประกอบกิจการในพื้นที่ให้เข้าใจและปฏิบัติตามให้ถูกต้อง
นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 กำหนดให้ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันมาแล้วครบหนึ่งปีมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้ปีหนึ่งไม่น้อยกว่า 6 วันทำงานโดยได้รับค่าจ้าง และให้นายจ้างเป็นผู้กำหนดวันหยุดดังกล่าวให้แก่ลูกจ้างล่วงหน้าหรือกำหนดให้ตามที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกัน
ในกรณีที่นายจ้างมิได้จัดให้ลูกจ้างหยุดพักผ่อนประจำปีหรือจัดให้ลูกจ้างหยุดน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ ให้นายจ้างจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้แก่ลูกจ้าง เสมือนว่านายจ้างให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุด
ทั้งนี้ กรมได้มอบหมายให้หน่วยปฏิบัติ ได้แก่ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด และสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 ดำเนินการชี้แจงกฎหมายคุ้มครองแรงงานให้แก่นายจ้าง/ลูกจ้างในสถานประกอบกิจการในพื้นที่ที่รับผิดชอบ เพื่อสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ และตระหนักในข้อกฎหมายและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่ลูกจ้างพึงได้รับ และนายจ้างจะได้ปฏิบัติอย่างถูกต้องครอบคลุมทุกมิติ
นายนิยมฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า หากนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบกิจการ/ลูกจ้าง มีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ กองคุ้มครองแรงงาน โทร. 0 2660 2069 – 71 หรือสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด และสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือโทรสายด่วน 1506 กด 3 หรือ 1546
รู้หรือไม่ "ไทย" ได้พักร้อนขั้นต่ำ น้อยติดอันดับโลก
ประเทศไทยมีกฎหมายคุ้มครองสิทธิ ให้คนทำงานสามารถลาพักร้อน (ลาขั้นต่ำโดยที่ยังได้รับเงินเดือน) ได้ขั้นต่ำ "6 วัน" สำหรับลูกจ้างที่ทำงานเกิน 1 ปี และสามารถ "ยกวันลาไปสะสมในปีอื่นได้" ตามข้อกำหนดของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน 2541
อย่างไรก็ดี หากลองเปรียบเทียบกับในหลายประเทศทั่วโลกแล้วจะพบว่า จำนวนวันลาพักร้อนของไทยถือว่า "น้อยมาก" เมื่อเทียบกับประเทศที่ลาพักร้อนได้สูงสุดที่ "25 วัน" ซึ่งได้แก่ 5 ประเทศในยุโรปอย่าง ฝรั่งเศส เดนมาร์ก สวีเดน ลักเซมเบิร์ก และ สเปน
ทั้งนี้ หลายประเทศมีกฎหมายให้ลาขั้นต่ำได้ต่อปีที่ประมาณ 10 วันขึ้นไป แต่ก็ยังมีหลายประเทศเช่นกันที่มีวันลาไม่ถึง 10 วัน เช่น ไทย จีน และเม็กซิโก ที่ให้ลาได้ 6 วันต่อปี (ขั้นต่ำ) ขณะที่ฟิลิปปินส์ได้ 5 วันต่อปี
ขณะที่ Expedia เคยเปิดเผยผลสำรวจ 18th Annual Vacation Deprivation Study เกี่ยวกับพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่ไม่ยอมหยุดลาพักร้อน และสาเหตุที่ไม่ได้พักผ่อนอย่างแท้จริงใน 19 ประเทศทั่วโลก ซึ่งเป็นรายงานประจำปี 2561 พบว่า จำนวนเฉลี่ยของวันลาพักร้อนที่คนไทยได้รับ คือ 10 วัน/ปี ขณะที่บราซิล ฝรั่งเศส เยอรมัน สเปน ได้รับวันลาพักร้อนสูงสุด 30 วัน/ปี รองลงมาคือ อิตาลี 28 วัน/ปี ตามมาด้วย สหราชอาณาจักร 26 วัน/ปี
ส่วนประเทศอื่นๆ ในเอเชีย อาทิ ญี่ปุ่น และอินเดีย ได้รับ 20 วัน/ปี, มาเลเซีย 16 วัน/ปี, สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ 15 วัน/ปี, ไต้หวัน และฮ่องกง 14 วัน/ปี
คนไทยใช้สิทธิ์ลาพักร้อน "น้อยมาก"
ผลสำรวจของเอ็กซ์พีเดีย ยังระบุด้วยว่า นักท่องเที่ยววัยทำงานที่ไม่ยอมหยุดลาพักร้อนกำลังมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอินเดียเป็นประเทศที่มีคนไม่ยอมหยุดลาพักร้อนมากที่สุดอันดับ 1 ของโลก มีสัดส่วนสูงถึง 75% รองลงมาอันดับ 2 เกาหลีใต้ 72% และอันดับ 3 ฮ่องกง 69% ส่วนคนไทยติด "อันดับ 7" ด้วยสัดส่วน 62%
แม้ว่าคนส่วนใหญ่จะนิยมใช้ช่วงวันลาพักร้อนเพื่อท่องเที่ยว หรือไปทำกิจกรรมผ่อนคลาย ดูแลเยียวยาจิตใจของตัวเองหลังจากทำงานมาหนัก แต่วันลาพักร้อนก็ยังถูกใช้ไปในการทำธุระอื่นๆ อีก เช่น จัดตารางนัดหมาย และทำสิ่งต่างๆ ที่คั่งค้างให้เสร็จ เป็นต้น โดยพบสถิติสูงถึง 67% หรือจำนวน 2 ใน 3 ของแรงงานทั่วโลก ซึ่งปรากฏการณ์นี้จะพบมากในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ไม่ว่าจะเป็น อินเดีย 85% ไทย 85% รวมถึงบราซิล 84%