คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกาศความพร้อมจัดงานประชุม “เอเปค ซีอีโอ ซัมมิท” (APEC CEO Summit) ในวันที่ 17-18 พฤศจิกายนนี้ หวังสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจ เปิดเสรีการค้าและการลงทุน และกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นโดยคาดว่าการมาเยือนของผู้นำและคณะผู้ติดตามจะสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศถึง 20,000 ล้านบาท
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กล่าวว่า การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม APEC CEO Summit 2022 จะทำให้นานาชาติกลับมาสนใจประเทศไทยอีกครั้ง และไทยต้องใช้โอกาสนี้ในการขยายการค้าระหว่างประเทศ รวมถึงการส่งเสริมและผลักดันเขตการค้าเสรีระหว่างประเทศสมาชิก APEC ให้มากขึ้น
นอกจากนี้ จะเป็นการเสริมสร้างศักยภาพทางการแข่งขันของผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อยของไทย (MSMEs) ให้เข้าสู่ระบบการค้าโลก ผ่านการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ และนำเสนอศักยภาพของประเทศไทย ให้นานาชาติได้เห็นถึงความพร้อมในด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ซึ่งในระยะถัดไปจะเป็นประโยชน์ต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย
โดยเฉพาะการทำให้ต่างชาติเข้าใจ “BCG Model” คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy), เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ที่เป็นแนวทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย ซึ่งสอดคล้องกับ COP27 และเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ในการยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม
จ่อลงนาม MOU กับ "มกุฎราชกุมารซาอุฯ"
การประชุมครั้งนี้เป็นการรวมตัวของผู้นำ บุคคลสำคัญ รวมทั้งซีอีโอ จากทั้งองค์กรภาครัฐและเอกชนระดับโลกจาก 21 เขตเศรษฐกิจ และ 3 ประเทศ ที่เป็นแขกพิเศษของรัฐบาล อาทิ เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมาร นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมซาอุดีอาระเบีย ที่เสด็จมาพร้อมคณะภาครัฐและเอกชนของซาอุฯ กว่า 600 คน โดยการมาเยือนไทยของคณะตัวแทนจากซาอุฯ ในครั้งนี้ มีไฮไลต์สำคัญคือ
- การลงนาม MOU 2 ฉบับสำคัญ ในความร่วมมือด้านการลงทุน และความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลนีนวัตกรรม
- เวทีจับคู่เจรจาธุรกิจกับภาคเอกชนไทย เพื่อผลักดันการลงทุนร่วมไทย-ซาอุฯ ซึ่งจะเป็นการเปิดโอกาสให้มีความร่วมมือพหุภาคีและทวิภาคีในกรอบ APEC หรือ ASEAN
"ฝรั่งเศส" จ่อขยายการลงทุน มิชลิน
นอกจากความร่วมมือกับซาอุดีอาระเบียแล้ว นายกรัฐมนตรีไทยยังมีกำหนดการณ์หารือกับประธาธิบดี เอมมานูเอล มาครง จากฝรั่งเศส ถึงความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาไทย-ฝรั่งเศส โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวิจัยและและพัฒนายางพารา รวมถึงการขยายการลงทุนของ “มิชลิน” หนึ่งในผู้ผลิตยางรถยนต์รายใหญ่ในไทย
เชื่อม "BRI จีน" กับ "EEC" ของไทย
นอกจากนี้ การตอบรับคำเชิญของนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ยังจะเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ โดยในระหว่างการประชุมจะมีการหารือเพื่อเร่งรัดแผนงานต่าง ๆ เพื่อเชื่อมโยงการค้า การลงทุนระหว่างกัน โดยเฉพาะการเชื่อมแผน Belt and Road Initiative ของจีน กับพื้นที่ EEC ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างรวดเร็วขึ้น
ทั้งนี้ นอกจากความร่วมมือทางเศรษฐกิจในระดับในระดับมหภาคแล้ว นายสนั่นยังคาดว่าการประชุมในครั้งนี้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น เพราะในงาน APEC CEO Summit จะมีแขกที่เข้าร่วมของภาครัฐ และการจัดงานของเอกชนรวมผู้ติดตามแล้วไม่ต่ำกว่า 5,000 คน ที่จะเข้ามาจับจ่ายใช้สอยในประเทศ รวมไปถึงสื่อต่างประเทศที่จะช่วยประชาสัมพันธ์ศักยภาพด้านเศรษฐกิจของไทย รวมไปถึงเผยแพร่ Soft Power ที่รัฐบาลแฝงไว้ในทุกรายละเอียดการประชุมไปยังผู้ชมทั่วโลก
โดยนายสนั่นคาดว่างานประชุมนี้จะทำให้เกิดเงินหมุนเวียนโดยตรงในระบบทันทีประมาณ 1,000-2,000 ล้านบาท และสร้างเม็ดเงินทางอ้อมหลังจบงานรวม 20,000 ล้านบาท