ข่าวเศรษฐกิจ

รำลึก 1 ปี สงครามรัสเซีย-ยูเครน บาดแผลของเศรษฐกิจโลก

24 ก.พ. 66
รำลึก 1 ปี สงครามรัสเซีย-ยูเครน บาดแผลของเศรษฐกิจโลก

ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 1 ปีที่แล้ว รัสเซียได้ส่งกองทัพเข้ามาโจมตียูเครนจากทางเหนือ ตะวันออก และ ทางใต้ เปิดฉากสงครามครั้งที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากทั้ง 2 ฝั่งแล้วหลายแสนราย ทั้งพลทหารและพลเรือน และทำให้คนยูเครนถึง 8 ล้านคนต้องอพยพพลัดถิ่นออกไปจากบ้านเกิด สร้างความทุกข์ทรมานแสนสาหัสให้แก่ประชาชนของทั้ง 2 ฝ่าย

339x444-highres

อย่างไรก็ตาม นอกจากผลกระทบที่เกิดโดยตรงกับ 2 ประเทศแล้ว ทั่วทั้งโลกยังได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งนี้ ทั้งในทางการเมือง ความสัมพันธ์ทางการทูต และโดยเฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ทำให้ราคาของสิ่งจำเป็นในการใช้ชีวิตต่างๆ ทั้งน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ไฟฟ้า และอาหารทั้งโลกพุ่งสูงขึ้น และกระตุ้นภาวะเงินเฟ้อรุนแรงในหลายประเทศทั่วโลก

โดยในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ มีงานวิจัยออกมาว่าภาวะเงินเฟ้อที่กระตุ้นโดยสงครามในครั้งนี้อาจทำให้คนถึง 78-141 ล้านคนทั่วโลกคุณภาพชีวิตต่ำลง และมีเงินไม่พอใช้จ่ายในภาวะเงินเฟ้อจนกลายเป็นประชาชนในกลุ่มยากจน 

ในวันครบรอบหนึ่งปีของสงครามรัสเซียยูเครนในปีนี้ ทีมข่าว Spotlight จึงอยากชวนทุกคนไปย้อนดูกันว่าสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนได้ฝากบาดแผลอะไรไว้ให้กับเศรษฐกิจโลกบ้าง

 

สงครามที่ทำให้คนจนลงทั่วโลก

ถึงแม้ความขัดแย้งและความเสียหายจะถูกจำกัดอยู่ในพื้นที่ระหว่างสองประเทศคือยูเครนและรัสเซีย สงครามในครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อคนทั้งโลก เพราะแน่นอนว่าเมื่อเกิดความไม่สงบและความขัดแย้งด้านการทูตและการเมืองระหว่างประเทศขึ้นการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการทุกอย่างที่ทั้งสองประเทศนี้เคยมีกับประเทศอื่นๆ ย่อมสะดุด โดยเฉพาะการค้าขายระหว่างรัสเซียและชาติตะวันที่ชะงักลงทันทีหลังเกิดความขัดแย้ง 

ความขัดแย้งในครั้งนี้ทำให้เกิดปัญหาในห่วงโซ่อุปทานโลก โดยเฉพาะในกลุ่มพลังงานและอาหาร ที่ทั้งรัสเซียและยูเครนต่างก็เป็นผู้ส่งออกสำคัญ รัสเซียเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกน้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ และโลหะที่ใหญ่ที่สุดในโลก ในขณะที่ยูเครนเป็นผู้ส่งออกอาหารเช่น น้ำมันจากเมล็ดพืช ข้าวโพด และข้าวสาลี โดยทั้งรัสเซียและยูเครนรวมกันเป็นผู้ส่งออกข้าวสาลีมากว่า 30% ของโลก และเป็นผู้ส่งออกน้ำมันดอกทานตะวัน 75% ของโลก

เพราะฉะนั้น เมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้น ราคาของสินค้าเหล่านี้ย่อมดีดตัวขึ้นทันที เพราะนั่นแปลว่าผู้ผลิตสินค้าเหล่านี้ในรัสเซียและยูเครนย่อมไม่สามารถผลิตสินค้าป้อนผู้บริโภคทั้งโลกได้ในปริมาณเท่าเดิมอีกต่อไป หรือบางประเทศอาจไม่ได้สินค้านี้อีกเลยเพราะรัสเซียหยุดการส่งออก หรือประเทศของพวกเขาแบนการนำเข้าสินค้าพวกนี้ 

จากผลการวิจัยเรื่อง Burden of the global energy price crisis on households หรือผลกระทบของวิกฤตพลังงานต่อประชากรโลก ที่ศึกษาโดยทีมนักวิจัยจากยุโรปและจีน ตั้งแต่เกิดสงครามขึ้นจนถึงในช่วงต้นปี 2023 ราคาของสินค้ากลุ่มพลังงานปรับตัวสูงขึ้น 63-113% ทั่วโลก และทำให้ค่าใช้จ่ายของทุกครัวเรือนในโลกเพิ่มขึ้นประมาณ 2.7-4.8% 

ความขัดแย้งนี้ทำให้ประเทศในทวีปแอฟริกาและภูมิภาคตะวันออกกลางซึ่งนำเข้าข้าวสาลีมากกว่า 80% ทุกปี ประสบปัญหาขาดแคลนอาหารที่ส่งกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนรวมกันหลายร้อยล้านคนในพื้นที่ และทำให้ประเทศในทวีปยุโรปที่เคยเป็นผู้นำเข้าสำคัญของน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียประสบปัญหาขาดแคลนพลังงาน จนราคาค่าไฟฟ้าและค่าแก๊สพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ มีคนออกมาประท้วงไม่จ่ายค่าไฟเป็นจำนวนมาก จนรัฐบาลต้องออกเงินสนับสนุนเพื่อช่วยเหลือประชาชน รวมไปถึงขอให้ประชาชนประหยัดไฟ หรือแม้แต่งดการใช้ไฟฟ้าในบางช่วงเวลา

จากข้อมูลของ Euronews ค่าแก๊สในยุโรปพุ่งถึง 111% ในขณะที่ค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 69% ทั่วยุโรป ในระยะเวลาหนึ่งปีนับตั้งแต่เกิดสงครามขึ้น

 

สงครามที่ทำให้ทั้งโลกแบ่งฝักแบ่งฝ่าย

เช่นเดียวกับสงครามในครั้งอื่นๆ ของโลก สงครามระหว่างประเทศย่อมลุกลามกลายไปเป็นความขัดแย้งระดับโลก เพราะในขณะที่บางประเทศเลือกสนับสนุนยูเครน ต้องมีบางประเทศเลือกสนับสนุนรัสเซีย  และมีบางประเทศพยายามรักษาความเป็นกลางทางการเมืองไว้

ในสถานการณ์ปัจจุบัน ทุกประเทศทั่วโลกอยู่ใน 1 ในกลุ่มประเทศที่ว่านี้จากท่าทีและปฏิกิริยาที่มีต่อความขัดแย้งดังกล่าว โดยกลุ่มประเทศที่ประกาศตัวสนับสนุนยูเครนอย่างชัดเจนก็คือประเทศตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ แคนาดา และประเทศกลุ่มอียู ที่นอกจากจะประกาศคว่ำบาตรทั้งรัฐบาล และธุรกิจเอกชนที่แห่ถอนธุรกิจออกจากรัสเซียแล้ว หลายๆ ประเทศยังให้ทั้งอาวุธและเงินสนับสนุนอย่างเปิดเผยแก่ยูเครน

ในขณะเดียวกัน บางประเทศที่มีความสัมพันธ์ทางการค้ากับรัสเซียก็ต้องพยายามวางตัวเป็นกลางเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตัวเองไว้ โดยเฉพาะจีนที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดทั้งกับรัสเซีย และเป็นคู่ค้าที่สำคัญของชาติตะวันตก โดยถึงแม้จีนจะไม่เคยออกตัวสนับสนุนการกระทำของรัสเซีย จีนก็ไม่เคยออกมาประนามรัสเซียเช่นเดียวกัน อีกทั้งยังมีการพบปะของเจ้าหน้าที่ระดับสูงหลายครั้งในช่วงที่มีสงคราม จนกลายเป็นว่าทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์ทางการค้าที่แน่นแฟ้นขึ้น

จากข้อมูลของ SCMP มูลค่าการค้าระหว่างรัสเซียและจีนเพิ่มขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์ในปีที่ผ่านมา โดยมีมูลค่าสูงถึง 1.9 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 29.3% จากปีก่อนหน้า นอกจากนี้ยังมีการซ้อมรบร่วมกันหลายครั้ง ทำให้ชาติตะวันตกเพ่งเล็งจีน และพยายามจับตาอยู่เสมอว่าท่าทีเป็นมิตรที่จีนมีให้รัสเซียนั้นเข้าข่ายสนับสนุนให้เกิดสงครามหรือไม่

339r9bb-highres(1)

โดยล่าสุดในวันครบรอบ 1 ปีของสงคราม ทางการจีนก็ได้ออกมาเคลื่อนไหวโดยการออกแถลงการณ์เรียกร้องให้มีการสงบศึกระหว่างสองประเทศ และได้เสนอทางออก 12 ข้อเพื่อบรรเทาความขัดแย้ง รวมไปถึงเรียกร้องให้นานาประเทศตะวันตกยกเลิกการคว่ำบาตรรัสเซีย ก่อตั้งหน่วยงานด้านมนุษยชนเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับความเดือดร้อน และเสนอตัวเป็นผู้ใกล่เกลี่ยเจรจาระหว่าง 2 ประเทศ

ในขณะที่ในวันเดียวกันในอีกซีกโลก สมัชชาสหประชาชาติ (UNGA) ก็ได้มีการประชุมเพื่อประนามการกระทำของรัสเซีย และได้ออกมติให้รัสเซียหยุดการโจมตียูเครน และถอนทัพออกจากยูเครนโดยทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข โดยในการลงมติในครั้งนี้ มีถึง 141 ประเทศออกเสียงเห็นด้วย รวมไปถึง ‘ไทย’ มี 32 ประเทศงดออกเสียง รวมไปถึงจีน และลาว และมี 7 ประเทศออกเสียงไม่เห็นด้วย รวมไปถึง รัสเซีย และซีเรีย

339w4ae-highres

ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงสภาพการเมืองระหว่างประเทศในปัจจุบัน และการออกตัวสนับสนุนยูเครนอย่างออกนอกหน้าของสหรัฐฯ ที่เห็นได้จากการเดินทางเยือนยูเครนของไบเดนในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาแล้ว จะเห็นได้ว่าความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนน่าจะไม่จบง่ายๆ 

เพราะถึงแม้ในตอนแรกสงครามนี้จะเป็นความขัดแย้งระหว่างสองประเทศเพื่อแย่งชิงดินแดนและอำนาจอธิปไตยเหนือพื้นที่ยูเครน ความขัดแย้งนี้ได้ทวีความรุนแรง และกลายเป็นความขัดแย้งระดับโลกที่มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจำนวนมากจนยากที่จะบรรลุข้อตกลงร่วมกันได้ไปแล้ว

 

ที่มา: Associated Press, Al Jazeera (1), Al Jazeera (2), SCMP, Euronews, MIT Management Sloan School, IMF

 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT