รถโดยสารสาธารณะในประเทศไทยส่วนใหญ่จะอยู่ในสภาพที่เก่า ปล่อยมลพิษค่อนข้างเยอะ ซึ่งที่ผ่านมาหน่วยงานที่รับผิดชอบพยายามปรับปรุงตัวรถให้ใหม่ขึ้น ทั้งสภาพการรถใช้งานและเครื่องยนต์ที่ใช้ ล่าสุดบขส. เตรียมจัดหารถโดยสารสาธารณะแบบไฟฟ้ามาให้ประชาชนได้ใช้งานแน่นอนในปี 2567 นี้
ดร.สัญลักข์ ปัญวัฒนลิขิต กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เปิดเผยว่า บขส.ยังคงเดินหน้าจัดหารถโดยสารพลังงานไฟฟ้าเพื่อนำมาบริการประชาชนให้เป็นไปตามที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้มอบนโยบายให้ บขส. ขับเคลื่อนการจัดหารถโดยสารพลังงานไฟฟ้า ซึ่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและเป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตลอดจนลดค่าฝุ่น PM 2.5
โดยล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) บขส. มีมติเห็นชอบการจัดหารถโดยสารพลังงานไฟฟ้า (EV) รถโดยสารขนาดใหญ่ มาตรฐาน 1 (ข) ขนาดไม่ต่ำกว่า 36 ที่นั่ง จำนวน 21 คัน เส้นทางเดินรถ 7 เส้นทาง ประกอบด้วย
- เส้นทางกรุงเทพฯ - คลองลาน
- กรุงเทพฯ - กำแพงเพชร
- กรุงเทพฯ - สากเหล็ก พิษณุโลก
- กรุงเทพฯ - พิษณุโลก
- กรุงเทพฯ - บุรีรัมย์ ,
- กรุงเทพฯ (เอกมัย) - แหลมงอบ
- กรุงเทพฯ (จตุจักร) - ตราด
โดยแผนงานทั้งหมดภายใต้กรอบวงเงินงบประมาณ 228.269 ล้านบาท และนอกจากนี้ยังเห็นชอบการจัดหารถโดยสารพลังงานไฟฟ้า ขนาดเล็ก มาตรฐาน 2 (ค) ขนาดไม่ต่ำกว่า 27 ที่นั่ง จำนวน 54 คัน เส้นทางเดินรถ 5 เส้นทาง ประกอบด้วย
- หมอชิต – สระบุรี
- รังสิต - ม.บูรพา
- รังสิต – แหลมฉบัง
- รังสิต – นิคมอุตสาหกรรมบ่อวิน
- รังสิต - มาบตาพุด – ระยอง
โครงการจัดหารถทั้งหมด อยู่ภายใต้กรอบวงเงินงบประมาณ 368.732 ล้านบาท โดยระหว่างนี้ บขส. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดคุณลักษณะ คณะกรรมการกำหนดร่างขอบเขตงาน และคณะกรรมการกำหนดราคากลางเรียบร้อยแล้ว จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง คาดว่าได้ผู้ชนะการประกวดราคาประมาณเดือนกรกฎาคมนี้ และจะส่งมอบรถโดยสารได้ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งจะเป็นการพัฒนาการให้บริการแก่ประชาชน ตลอดจนคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไปตามนโยบายกระทรวงคมนาคม
สำหรับรถโดยสารสาธารณะพลังงานไฟฟ้ายังคงเป็นสิ่งที่ภาครัฐเร่งเดินหน้าจัดหารถมาเพื่อให้บริการประชาชน รับเทรนด์ใหม่ของโลก และในยุคที่ราคาพลังงานอื่นๆ ราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รถโดยสารพลังงานไฟฟ้าจึงมีความสำคัญมากขึ้น