การส่งออกของไทยหดตัว 4.5% ในเดือนมกราคม ปี 2566 ท่ามกลางการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจากภาวะเงินเฟ้อ ความผันผวนของค่าเงินบาท และผลกระทบจากสงครามรัสเซียยูเครนที่ทำให้ยอดส่งออกไปรัสเซียหดตัวสูงสุดถึง 54.9% ถ้าเทียบจากปีก่อนหน้า ในขณะที่การส่งออกไปตลาดตะวันออกกลางเพิ่มขึ้นหลังมีการฟื้นความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและซาอุดีอาระเบีย
จากข้อมูลของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า การส่งออกของไทยในเดือนมกราคม 2566 มีมูลค่า 20,249.5 ล้านเหรียญสหรัฐ (700,127 ล้านบาท) หดตัว 4.5% และ 3% หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัยออก ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 24,899.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 5.5% ทำให้ประเทศไทยขาดดุลการค้า 4,649.6 ล้านเหรียญสหรัฐ
การส่งออกหดตัวหมดทั้งสินค้าการเกษตรและอุตสาหกรรม
ในเดือนมกราคม มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัว 2.7% หดตัวเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน ในขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม หดตัว 5.4% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 เช่นเดียวกัน สินค้าที่มีการหดตัวมีดังนี้
- ภาคการเกษตร
- ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง หดตัว 7.6% (หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน) ในตลาดจีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย สหรัฐฯ และเกาหลีใต้ แต่ขยายตัวในตลาดสิงคโปร์ อินเดีย ออสเตรเลีย เนเธอร์แลนด์ และแอฟริกาใต้
- ยางพารา หดตัว 37.6% (หดตัวต่อเนื่อง 6 เดือน) หดตัวในตลาดจีน มาเลเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสหรัฐฯ แต่ขยายตัวในตลาดอินเดีย และปากีสถาน
- อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป หดตัว 4.8% ในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ลิเบีย แคนาดา และอียิปต์ แต่ขยายตัวในตลาดออสเตรเลีย ซาอุดีอาระเบีย แอฟริกาใต้ ชิลี และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
- น้ำตาลทราย หดตัว 2.3% (หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน) ในตลาดอินโดนีเซีย จีน ฮ่องกง เมียนมา และเวียดนาม แต่ขยายตัวในตลาดเกาหลีใต้ กัมพูชา ลาว ญี่ปุ่น และไต้หวัน
- ไก่แปรรูป หดตัว 2.2% (ต่อเนื่อง 2 เดือน) ในตลาดญี่ปุ่น สิงคโปร์ แคนาดา ฮ่องกง และเยอรมนี แต่ขยายตัวในตลาดสหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ เกาหลีใต้ ไอร์แลนด์ และฟิลิปปินส์
- อาหารสัตว์เลี้ยง หดตัว 11.0% (หดตัวต่อเนื่อง 3 เดือน) ในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น มาเลเซีย อิตาลี และออสเตรเลีย แต่ขยายตัวในตลาดฟิลิปปินส์ เวียดนาม กัมพูชา เยอรมนี และเมียนมา
- ภาคอุตสาหกรรม
- เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ หดตัว 21.2% (หดตัวต่อเนื่อง 4 เดือน)ในตลาดสหรัฐฯ จีน เนเธอร์แลนด์ ฮ่องกง และญี่ปุ่น แต่ขยายตัวในตลาดสิงคโปร์ มาเลเซีย เม็กซิโก อินเดีย และไต้หวัน
- ผลิตภัณฑ์ยาง หดตัว 8.2% (หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน) ในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย แต่ขยายตัวในตลาดจีน มาเลเซีย เกาหลีใต้ เนเธอร์แลนด์ และซาอุดีอาระเบีย
- อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) หดตัว 3.8% (หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน) ในตลาดฮ่องกง เยอรมนี อินเดีย สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย แต่ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ อิตาลี เบลเยียม สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และญี่ปุ่น
- เม็ดพลาสติก หดตัว 30.0% (หดตัวต่อเนื่อง 7 เดือน) ในตลาดจีน ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย เวียดนาม และมาเลเซีย แต่ขยายตัวในตลาดอินเดีย จิบูติ อิตาลี และเยอรมนี
- เคมีภัณฑ์ หดตัว 17.6% (หดตัวต่อเนื่อง 9 เดือน) ในตลาดจีน อินเดีย ญี่ปุ่น เวียดนาม และอินโดนีเซีย แต่ขยายตัว ในตลาดมาเลเซีย ลาว เกาหลีใต้ อียิปต์ และโอมาน
หดตัวในตลาดจีน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น แต่ขยายตัวได้ดีในตะวันออกกลาง และแอฟริกา
การส่งออกไปยังตลาดสำคัญในภาพรวมยังคงหดตัวต่อเนื่อง สอดคล้องกับภาวะการชะลอตัวของภาคการผลิตโลก โดยจากข้อมูลของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า ตลาดหลักที่มีการหดตัวมีดังนี้
- ตลาดรัสเซียและกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช หรือ CIS หดตัว 46.4% (หดตัวต่อเนื่อง 11 เดือน) สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง และเม็ดพลาสติก เป็นต้น
- ตลาดจีน หดตัว 11.4% (หดตัวต่อเนื่อง 8 เดือน) สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก และรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น
- ตลาดกัมพูชา-ลาว-เมียนมาร์-เวียดนาม หรือ CLMV หดตัว 11.1% (หดตัวต่อเนื่อง 3 เดือน) สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ และเครื่องดื่ม เป็นต้น
- ตลาดญี่ปุ่น หดตัว 9.2% (หดตัวต่อเนื่อง 5 เดือน) สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เคมีภัณฑ์ ไก่แปรรูป และทองแดง เป็นต้น
- ตลาดทวีปออสเตรเลีย หดตัว 7.2% (หดตัวต่อเนื่อง 3 เดือน) สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ เม็ดพลาสติก และตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ เป็นต้น
- ตลาดสหรัฐฯ หดตัว 4.7% (หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน) สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง และเครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น
- ตลาดเอเชียใต้ หดตัว 4.3% (หดตัวต่อเนื่อง 6 เดือน) สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้การส่งออกของไทยหดตัวน้อยลงจากเดือนก่อนหน้า การส่งออกของไทยก็ยังอยู่ในระดับที่ดีกว่าหลายประเทศในเอเชีย โดยตลาดส่งออกของไทยหลายตลาดกลับมาขยายตัว ได้แก่ สหภาพยุโรป ลาตินอเมริกา อินเดีย แอฟริกา และอาเซียน (5) ในแต่ละตลาดมีการขยายตัว ดังนี้
- ตลาดตะวันออกกลาง ขยายตัว 23.7% (ขยายตัวต่อเนื่อง 12 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และข้าว เป็นต้น
- ตลาดทวีปแอฟริกา ขยายตัว 14.7% (กลับมาขยายตัวในรอบ 6 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ข้าว และไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ เป็นต้น
- ตลาดสหราชอาณาจักร ขยายตัว 6.1% (ขยายตัวต่อเนื่อง 8 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ไก่แปรรูป และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เป็นต้น
- ตลาดอาเซียน (5) ขยายตัว 2.3% (กลับมาขยายตัวในรอบ 4 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ และข้าว เป็นต้น
- ตลาดสหภาพยุโรป (27) กลับมาขยายตัว 2.2% สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และหม้อแปลงไฟฟ้า เป็นต้น
- ตลาดลาตินอเมริกา กลับมาขยายตัว 1.5% สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ และเครื่องโทรสาร โทรศัพท์ และส่วนประกอบ เป็นต้น
ทำไมการส่งออกจึงหดตัวในรัสเซีย แต่ขยายตัวในตะวันออกกลาง?
การส่งออกของไทยไปยังรัสเซียตกลงอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 11 เดือนติดต่อกันตั้งแต่เกิดสงครามรัสเซียยูเครนขึ้น การส่งออกของไทยไปรัสเซียตกลงรวม 43.3% ในปี 2565 โดยสินค้าที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือรถยนต์ อุปกรณ์และชิ้นส่วน ซึ่งคิดเป็นถึง 30% ของสินค้าไทยที่ส่งออกไปรัสเซีย
อย่างไรก็ตาม หลังจากเกิดสงครามรัสเซียยูเครน ค่าขนส่งสินค้าไปรัสเซียทั้งทางน้ำและอากาศก็เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า นอกจากนี้ผู้นำเข้าสินค้าในรัสเซียยังประสบปัญหาไม่สามารถโอนเงินค่าสินค้าให้กับผู้ส่งออกไทยได้เพราะธนาคารรัสเซียถูกแบนไม่ให้ใช้ระบบ Swift ซึ่งเป็นระบบแลกเปลี่ยนทางการเงินที่ใหญ่ที่สุดของโลก ทำให้ต้องพยายามออกไปเปิดบัญชีกับธนาคารต่างชาติเพื่อให้ชำระค่าสินค้าได้
ในขณะเดียวกัน การส่งออกสินค้าไทยไปประเทศกลุ่มตะวันออกกลางกลับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเพราะได้รับอานิสงค์จาก ‘การฟื้นความสัมพันธ์ทางการทูตในรอบกว่า 32 ปีระหว่างไทยและซาอุดีอาระเบีย’ เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2565
โดยจากข้อมูลของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ มูลค่าการส่งออกของไทยไปซาอุดีอาระเบียสูงถึง 2,048.28 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2465 เพิ่มขึ้น 23.98% จากปี 2564 และเพิ่มขึ้นถึง 68.75% ในเดือนมกราคมเมื่อเทียบจากปีก่อนหน้า
การส่งเสริมการส่งออกของกระทรวงพาณิชย์ และแนวโน้มการส่งออกระยะถัดไป
ในช่วงปีที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินการเชิงรุกและลึกเพื่อผลักดันและอำนวยความสะดวกการส่งออก โดยการดำเนินงานที่สำคัญในรอบเดือนที่ผ่านมา ได้แก่
- การปราบปรามการลักลอบนำเข้าน้ำมันปาล์มทางบก โดยยังสามารถนำเข้าได้ทางเรือ และส่งไปต่างประเทศได้เฉพาะบางด่านเท่านั้น เพื่อลดปัญหาราคาสินค้าปาล์มน้ำมันภายในประเทศตกต่ำจากการลักลอบนำเข้าอย่างผิดกฎหมาย ทำให้การลักลอบนำเข้าลดลง และราคาปาล์มดีขึ้น
- การรื้อฟื้นการเจรจาการค้าเสรี ไทย-สหภาพยุโรป โดยมีเป้าหมายการลดภาษีระหว่างกันเหลือร้อยละ 0 ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายเห็นพ้องให้เร่งดำเนินการอนุมัติกระบวนการและขั้นตอนการเจรจาให้เร็วที่สุด หลังจากที่การเจรจาหยุดชะงักไปตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งจะทำให้ไทยส่งออกสินค้าไปยังสหภาพยุโรป 27 ประเทศ ได้มากขึ้น และมีแต้มต่อมากขึ้นขึ้นเมื่อเทียบกับคู่แข่งอื่น
- การสนับสนุนสินค้าท้องถิ่นสู่ตลาดโลก มุ่งเน้นการสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจฐานราก กำหนดเป้าหมายผลักดันสินค้าท้องถิ่น ภายใต้แนวทาง Local + (โลคัล พลัส) จำนวน 3 กลุ่มสินค้า ได้แก่ กลุ่ม BCG กลุ่มสินค้าอัตลักษณ์ และกลุ่มสินค้านวัตกรรม โดยจะเข้าไปช่วยเหลือในการให้ความรู้ด้านการผลิต การพัฒนาสินค้า และผลักดันออกสู่ตลาด ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อเพิ่มช่องทางการตลาดให้กับผู้ผลิตสินค้า และสร้างรายได้เข้าประเทศ
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังมีแผนงานในอนาคตสำหรับการส่งเสริมการส่งออกในปี 2566 จะเดินหน้าจัดกิจกรรมกว่า 450 กิจกรรม โดยมุ่งขยายตลาดเดิม เจาะ 4 ตลาดศักยภาพ ได้แก่ 1. ตะวันออกกลาง 2. เอเชียใต้ 3. CLMV และ 4. จีน โดยจะจัดกิจกรรมในหลายรูปแบบ ทั้งการจัดงานแสดงสินค้า การจัดคณะผู้แทนการค้า จัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย ผลักดันค้าขายออนไลน์
นอกจากนี้ยังมีแผนเจาะตลาดศักยภาพใหม่ในเอเชียกลาง 5 ประเทศ ได้แก่ คาซัคสถาน อุซเบกิซสถาน เติร์กเมนิสถาน ทาจิกิสถาน และคีร์กีซสถาน ซึ่งมีระดับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจประมาณร้อยละ 3 - 7 ทำให้ตลาดเหล่านี้อาจกลายเป็นตลาดส่งออกสำคัญที่ช่วยลดการกระจุกตัวของตลาดส่งออกไทยได้มากขึ้นในปี 2566
แนวโน้มการส่งออกในระยะถัดไป กระทรวงพาณิชย์ ประเมินว่า การส่งออกของไทยยังคงได้รับแรงกดดันจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญที่ลดการบริโภคจากต้นทุนค่าครองชีพที่สูง แม้ว่าภาวะเงินเฟ้อจะเริ่มชะลอลงแต่ก็ยังอยู่ในระดับสูง นอกจากนี้บรรยากาศการค้าโลกที่ยังตึงเครียด จากการกีดกันทางการค้า รวมถึงปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่มีความยืดเยื้อและมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น
ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า, ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์