ข่าวเศรษฐกิจ

'เลือกตั้งใหญ่'ทำความเชื่อมั่นคนไทยพุ่ง แรงสุดในรอบกว่า 4 ปี

5 พ.ค. 66
'เลือกตั้งใหญ่'ทำความเชื่อมั่นคนไทยพุ่ง แรงสุดในรอบกว่า 4 ปี

ใกล้ถึงวันเลือกตั้งของชาวไทยเข้ามาแล้ว คนไทยมีความตื่นตัวและสนใจการเมืองเพิ่มมากขึ้น เกือบ 2 เท่าตัว ทำให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคของคนไทยพุ่งแรงสูงสุดในรอบกว่า 4 ปี ในเดือนเมษายน 2566 และเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 จากบรรยายกาศช่วงเลือกตั้ง เศรษฐกิจในประเทศ มีทิศทางฟื้นตัว จากภาคท่องเที่ยว และราคาน้ำมันดีเซลลดลง

โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (CCI) ในเดือนเมษายนปรับสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 53.5 เพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 และสูงสุดในรอบ 52 เดือน หรือกว่า 4 ปี จากการสำรวจความเชื่อมั่น พบว่า ปัจจัยทางการเมืองและการเลือกตั้ง มีความสำคัญกับผู้บริโภคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นอันดับที่ 2 จาก 9 ปัจจัยที่มีผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค

9 ปัจจัยที่มีผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภค ได้แก่  เศรษฐกิจไทย  เศรษฐกิจโลก  มาตรการของรัฐ  สังคม/ความมั่นคง  การเมือง/การเลือกตั้ง  ภัยพิบัติ/โรคระบาด ราคาสินค้าเกษตร ผลจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และอื่น ๆ 

“ การที่ทุกกลุ่มให้ความสำคัญการเมืองและการเลือกตั้งมากขึ้น เมื่อเข้าสู่ช่วงใกล้การเลือกตั้ง และยังส่งผลให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับเพิ่มขึ้นด้วย สะท้อนถึงการคาดหวังในนโยบายที่พรรคการเมืองต่าง ๆ ได้มีการหาเสียงไว้ หากจะรักษาโมเมนตัมให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ในระดับช่วงเชื่อมั่นอย่างต่อเนื่องหลังการจัดตั้งรัฐบาลแล้ว นโยบายต่างๆ ควรมีการดำเนินให้เป็นรูปธรรมอย่างรวดเร็ว” นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าว

โดยประชาชนที่ให้ความสำคัญกับการเมืองและการเลือกตั้ง เป็นประชาชนภาคเหนือเป็นปัจจัยหลักต่อความเชื่อมั่นปรับเพิ่มขึ้น 176%  ภาคกลาง ปรับเพิ่มขึ้น 163% ภาคใต้ ปรับเพิ่มขึ้น 128% กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ปรับเพิ่มขึ้น 105% และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปรับเพิ่มขึ้น 99% 

ขณะกลุ่มช่วงอายุที่มองว่าการเมืองและการเลือกตั้งเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่น เป็นกลุ่มช่วงอายุ 40-49 ปี ปรับเพิ่มขึ้น 185% มากที่สุด รองลงมา คือ กลุ่มอายุต่ำกว่า 20 ปี ปรับเพิ่มขึ้น 166% กลุ่มอายุ 50-59 ปี ปรับเพิ่มขึ้น 142% กลุ่มอายุ 30-39 ปี ปรับเพิ่มขึ้น 121% กลุ่มอายุ 20-29 ปี ปรับเพิ่มขึ้น 97% และกลุ่มอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ปรับเพิ่มขึ้น 53% ตามลำดับ 

จากการสำรวจตามอาชีพนั้น พบว่า พนักงานบริษัทมองว่าการเมืองและการเลือกตั้งเป็นปัจจัยสำคัญ ต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับเพิ่มขึ้น 171% เป็นการปรับเพิ่มขึ้นมากที่สุด รองลงมา ได้แก่ เกษตรกร ปรับเพิ่มขึ้น 145% ข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ/พนักงาของรัฐ ปรับเพิ่มขึ้น 124% ผู้ประกอบการ ปรับเพิ่มขึ้น 114% อาชีพรับจ้าง/บริการอิสระ ปรับเพิ่มขึ้น 105% และกลุ่มคนไม่ได้ทำงาน/บำนาญ ปรับเพิ่มเล็กน้อย 6% ตามลำดับ 

ขณะที่กลุ่มคนที่มีรายได้ตั้งแต่ 40,001 ถึง 50,000 บาท มองว่าการเมืองและการเลือกตั้งเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภค ปรับเพิ่มขึ้นมากที่สุด 273% รองลงมา ได้แก่ รายได้ตั้งแต่ 50,001 ถึง 100,000 บาท ปรับเพิ่มขึ้น 271% รายได้ต่ำกว่า 5,000 บาท ปรับเพิ่มขึ้น 186% รายได้ตั้งแต่ 100,001 บาท ขึ้นไป เพิ่มขึ้น 168% รายได้ตั้งแต่ 10,001 ถึง 20,000 บาท ปรับเพิ่มขึ้น 160% รายได้ตั้งแต่ 20,001 ถึง 30,000 บาท ปรับเพิ่มขึ้น 156% รายได้ตั้งแต่ 30,001 ถึง 40,000 บาท ปรับเพิ่มขึ้น 110% และรายได้ตั้งแต่ 5,001 ถึง 10,000 บาท ปรับเพิ่มขึ้น 65% ตามลำดับ

 

สำหรับประชาชนที่มีการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี มองว่า การเมืองและการเลือกตั้งเป็นปัจจัยสำคัญต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับเพิ่มขึ้นมากที่สุด 172% รองลงมา ได้แก่ อนุปริญญา ปรับเพิ่มขึ้น 158% ปริญญาตรี ปรับเพิ่มขึ้น 121% มัธยม/ปวช. ปรับเพิ่มขึ้น 83% และระดับต่ำกว่ามัธยม ปรับเพิ่มขึ้น 71% ตามลำดับ

 

การเลือกตั้งครั้งนี้ ถือเป็นครั้งใหญ่ และสำคัญครั้งหนึ่งสำหรับประชาชนคนไทยเลยทีเดียว ที่พรรคการเมือง และการเมืองไทยจะเป็นแรงสำคัญในการออกนโยบายช่วยเหลือประชาชน ทั้งค่าครองชีพ แรงงาน ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นแก่ประชาชน และผลักดันให้เศรษฐกิจไทยให้เติบโต คนมีงานทำ จำนวนตัวเลขการว่างงานลดลง

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT