ข่าวเศรษฐกิจ

พิธา และพรรคก้าวไกลสร้างความเชื่อมั่นธุรกิจ หารือร่วมสภาอุตสาหกรรม

23 พ.ค. 66
พิธา และพรรคก้าวไกลสร้างความเชื่อมั่นธุรกิจ หารือร่วมสภาอุตสาหกรรม
ไฮไลท์ Highlight
 "ประเทศไทยในอนาคตต้องเติบโตด้วยการเพิ่มผลิตภาพแรงงานและเพิ่มการใช้เทคโนโลยี ให้ผลิตสิ่งที่มีมูลค่าสูง ไม่ใช่เติบโตด้วยการกดค่าแรงให้ต่ำและกดความสามารถในการแข่งขันให้ต่ำ" นายพิธา กล่าว   

ภายหลังลงนาม MOU ในการจัดตั้งรัฐบาลโดยพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำ ในวันนี้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วยทีมเศรษฐกิจของพรรคทั้งน.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล, นายวีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร รวมทั้งนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ตัวแทนทีมเศรษฐกิจจากพรรคไทยสร้างไทย อดีตประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้เข้าหารือกับ นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)ปัจจุบัน และผู้บริหาร ส.อ.ท. เพื่อรับฟังข้อเสนอ ปัญหาและอุปสรรค จากภาคอุตสาหกรรม

การเข้ามาหารือของพรรคก้าวไกลกับภาคธุรกิจเพื่อสร้างเชื่อมั่นให้กับเอกชนในการที่ประเทศไทยกำลังจะมีรัฐบาลใหม่ ซึ่งได้มีการพูดคุยหารือแลกเปลี่ยนมุมมองกันในหลายประเด็น ทั้งแนวทางการผลักดันภาคอุตสาหกรรมไทย แนวทางนโยบายสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคธุรกิจในหลายมิติ  

พิธา หารือ สภาอุตสหากรรมแห่งประเทศไทย

ว่าที่นายกฯแนะ อุตสาหกรรมไทยจะแข็งแกร่งหากมี 3 F 

นายพิธา บอกด้วยว่า เคยมีโอกาสทำงานร่วมกับส.อ.ท.ครั้งแรกตั้งแต่ 20 ปีที่แล้ว ในวันนั้นประเทศไทยคุยกันเรื่องการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ผ่านยุทธศาสตร์การรวมกลุ่มทางอุตสาหกรรมคลัสเตอร์พลัส แต่เวลาผ่านไปเห็นได้ว่าหลายเรื่องไม่ได้มีการสานต่อ

พรรคก้าวไกลจึงต้องการเข้ามาผลักดันภาคอุตสาหกรรมให้ตอบโจทย์ใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ การนำเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่าง blockchain มาใช้ การสร้างยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมใหม่ โดยเฉพาะการเปลี่ยนจาก Made in Thailand ไปเป็น Made with Thailand ประเทศไทยไม่ใช่แค่รับจ้างผลิต แต่ต้องทำให้อุตสาหกรรมไทยเข้าไปอยู่ใน Value Chain ของอุตสาหกรรมโลก นายพิธา ยังพูดถึง อุตสาหกรรมไทยในอนาคตว่าจำเป็นต้องมี 3F  คือ 

1.Firm Foundation หรือพื้นฐานที่แข็งแรง  แรงงานที่มีทักษะสูง เทคโนโลยี และโครงสร้างพื้นฐานที่ดี

2.Fair หรือความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ เพราะ 40 ปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมไทยเติบโตจากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ สิ่งที่ตามมาคือความเหลื่อมล้ำ ดังนั้น การพาประเทศไทยไปสู่ประเทศรายได้สูงจำเป็นที่จะต้องคิดเรื่องนี้ 

3.Fast Growing Industry การเติบโตในภาคอุตสาหกรรมที่รวดเร็ว ทำให้ต้องผลักดันการวิจัยและพัฒนา (R&D) และส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่ๆ เช่น รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ถึงแม้จะไม่มีทรัพยากรอย่างโคบอลต์และนิกเกิลที่จำเป็นในการผลิตแบตเตอรี่ แต่ประเทศไทยจำเป็นต้องหาช่องว่างในอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่ยังมีคู่แข่งน้อย เช่น การผลิตชิป ซิลิคอนคาร์ไบด์ นี่เป็นสิ่งที่ต้องร่วมมือกันทำงานทั้งภาครัฐและเอกชน

 "ประเทศไทยในอนาคตต้องเติบโตด้วยการเพิ่มผลิตภาพแรงงานและเพิ่มการใช้เทคโนโลยี ให้ผลิตสิ่งที่มีมูลค่าสูง ไม่ใช่เติบโตด้วยการกดค่าแรงให้ต่ำและกดความสามารถในการแข่งขันให้ต่ำ" นายพิธา กล่าว 

 

พิธา หารือ สภาอุตสหากรรมแห่งประเทศไทย

ทั้งนี้การเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันได้คือการเร่งเจรจาเขตการค้าเสรี (FTA) ไทย-สหภาพยุโรปให้สำเร็จ ซึ่งการทำ MOU จัดตั้งรัฐบาลที่เกิดขึ้นคือความสำเร็จในการเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตยอย่างสันติ หลังจากนั้นแล้วเชื่อว่าการเจรจา FTA ไทย-อียูจะเสร็จสิ้นได้โดยเร็ว แต่ในขณะเดียวกันเมื่อดูอัตราการใช้ประโยชน์จากเขตการค้าเสรี (FTA Utilization) ก็จะเห็นว่าการใช้ประโยชน์จาก FTA ยังทำได้ไม่เต็มที่ ภายใต้รัฐบาลใหม่การใช้ประโยชน์จาก FTA นี้จะต้องเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จในการทำงานต่อไป

ส่วนประเด็นความกังวลในการปรับขึ้นค่าแรงตามนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ 450 บาท นั้น นายพิธา บอกว่า การเพิ่มผลิตภาพแรงงานต้องทำไปพร้อมกับการดูแลปากท้องของแรงงาน ถ้าท้องไม่อิ่มก็ไม่สามารถคิดเรื่องการเพิ่มทักษะได้ แต่นโยบายพรรคก้าวไกลเป็นการขึ้นค่าแรงพร้อมกับมาตรการช่วยเหลือภาคเอกชน การเสริมทักษะแรงงาน และมีระบบในการปรับขึ้นค่าแรงทุกปีตามสภาพเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ เพื่อให้ผลิตภาพและรายได้ของประชาชนเป็นสิ่งที่เติบโตไปด้วยกัน

พิธา หารือ สภาอุตสหากรรมแห่งประเทศไทย

นายพิธา ยังบอกด้วยว่า การดึงดูดการลงทุนในอนาคตไม่ใช่แค่การจูงใจทางภาษี แต่เป็นเรื่องความง่ายในการทำธุรกิจ การขจัดกฎระเบียบที่ไม่จำเป็น การปราบคอร์รัปชัน การที่ไทยมีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเป็นอันดับ 5-6 ของอาเซียน แย่กว่าฟิลิปปินส์ แย่กว่าอินโดนีเซีย เป็นเรื่องที่มีความท้าทายพอสมควร ตอนนี้เรื่องของเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สาธารณสุข และความท้าทายทางสังคมอื่นๆ เป็นเรื่องเดียวกัน

โดยหลังจากนี้พรรคก้าวไกลอยากทำงานต่อกับ ส.อ.ท.คือการตั้งคณะทำงานรายคลัสเตอร์ โดยเอาโจทย์ของแต่ละอุตสาหกรรมที่มีความแตกต่างกันมาแก้ปัญหา ไม่ว่าจะเป็นด้านกฎหมาย เทคโนโลยี เงินทุน แรงงาน เพื่อทำงานร่วมกันต่อไปในอนาคต

ด้านน.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล พูดถึงประเด็นพลังงานด้วยว่า ขณะนี้มีสัญญาณที่ดีจากคณะกรรมการกำกับดูแลพลังงานที่พร้อมเปลี่ยนสูตรการจัดสรรก๊าซธรรมชาติ สามารถทำได้ทันทีที่มีรัฐบาลใหม่ จะเห็นผลในบิลค่าไฟที่ลดลงภายในเดือนมกราคม 2567

ด้านสภาอุตสหากรรมแห่งประเทศไทย มีข้อเสนอไปยังว่าที่รัฐบาลใหม่เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับภาคอุตสาหกรรมของไทย  เชื่อมั่นว่าภายใต้การทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนโดยยึดประโยชน์ของประเทศและประชาชนเป็นที่ตั้ง ดำเนินการด้วยความโปร่งใสรอบคอบ จะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นและนำพาเศรษฐกิจประเทศไปสู่อนาคตได้

5 ข้อเสนอเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน 

1.การแก้ไขปัญหาต้นทุนพลังงาน

2.การแก้ไขปัญหาแรงงาน

3.การส่งเสริมและช่วยเหลือ ผู้ประกอบการ SMEs

4.การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน 

5.การปรับปรุงกฏหมายกฏระเบียบเพื่อส่งเสริม Ease Of Doing Business 

พิธา หารือ สภาอุตสหากรรมแห่งประเทศไทย

พิธา หารือ สภาอุตสหากรรมแห่งประเทศไทย

ที่มาภาพทั้งหมดจาก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย  

ภาพเพิ่มเติมที่ Gallery 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT