ข่าวเศรษฐกิจ

สภาอุตฯ กังวลจัดตั้งรัฐบาลลากยาวถึงสิ้นปี มีความรุนแรงจีดีพีหด1.0-2.0%

14 มิ.ย. 66
สภาอุตฯ กังวลจัดตั้งรัฐบาลลากยาวถึงสิ้นปี มีความรุนแรงจีดีพีหด1.0-2.0%

สถานการณ์การเมืองไทยยังไม่นิ่ง ที่ดูจะมีความพยายามให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้หมดสิทธิการเป็นส.ส. รวมถึงการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ขณะที่ประชาชนก็มีท่าทีไม่พอใจหากนายพิธา ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี

ภาคอุตสาหกรรมเองก็มีความกังวลเช่นเดียวกัน เพราะเมื่อจัดตั้งรัฐบาลยังไม่ได้ หรือล่าช้าไปจากกำหนดเดิมที่เดือนส.ค.นี้ และลากยาวไปถึงสิ้นปีนี้ เศรษฐกิจไทยโดยรวมได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน

“ สภาอุตฯ คาดจีดีพีไทยปีนี้ไว้ 3.0-3.5% แต่ถ้าการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าไปถึงสิ้นปี รวมถึงมีความรุนแรง มีการเดินขบวนอะไรต่างๆ ก็จะกระทบต่อจีดีพีจะลดลงไป 1.0-2.0% เหลือ 2.0-2.5% ถือว่ากระทบต่อจีดีพีค่อนข้างรุนแรง” นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

การเลือกตั้งของไทยปีนี้ ถือเป็นการตื่นตัวของคนไทยที่มาลงคะแนน ทำให้การเลือกตั้ง การจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ของไทยเป็นที่จับตาของทั้งคนไทย และนักลงทุนทั่วโลกที่ต้องการเห็นหน้าตาและทิศทางของรัฐบาลไทยชุดใหม่จะเป็นอย่างไร มีนโยบายเศรษฐกิจ นโยบายต่างๆ เป็นไปในทิศทางใด 

โดยภายหลังจากที่ผ่านวันเลือกตั้ง ผลเลือกตั้งออกมาแล้ว สิ่งที่นักลงทุนสะท้อนผ่านตลาดหุ้นไทยออกมา คือ นักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นออกมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ 15 พ.ค.2566- 13 มิ.ย.2566 นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทย สุทธิ 29,986.85 ล้านบาท สะท้อนถึง ความกังวลในนโยบายของพรรคก้าวไกล ที่ได้คะแนนเสียงสูงสุด ไม่ว่าจะเป็นการรื้อโครงสร้างธุรกิจที่ผูกขาด ค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาท เป็นต้น

เพราะฉะนั้น หากการจัดตั้งรัฐบาลมีความล่าช้าออกไปก็จะส่งผลถึงการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 ทำให้การประมูลงานภาครัฐต่างๆ ทั้งโครงสร้างพื้นฐาน โครงการสาธารณูปโภคต่างๆ ก็จะล่าช้าไปด้วย การจ้างงานก็ไม่เกิด นี่คือ ความกังวลของประธาน ส.อ.ท.

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรม ในเดือนพ.ค.2566 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 อยู่ที่ระดับ 92.5 ปรับตัวลดลงจาก 95.0 ในเดือนเม.ย.2566 จากการสำรวจผู้ประกอบการจำนวน 1,327 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมของ ส.อ.ท. 

โดยมีปัจจัยลบ คือ ยอดการส่งออกที่ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง จากเดือนต.ค.2565 ยาวนานมา 7 เดือน ยอดการส่งออกมีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีความผันผวนไม่แน่นอน 

ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนมีความผันผวน และผู้ประกอบการต้องเผชิญกับต้นทุนการผลิตที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะค่าพลังงงาน ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ก็อยู่ในทิศทางขาขึ้น ส่งผบลให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น ปัญหาหนี้ครัวเรือนยังมีสูง ทำให้ผู้บริโภคมีความระมัดระวังในการใช้จ่าย รวมถึง มีความกังวลกับการเมืองหลังเลือกตั้ง และยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้โดยเร็ว

สำหรับปัจจัยบวก คือ การขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว ทำให้ความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนส่งผลดีต่อภาคการส่งออก แต่เศรษฐกิจจีนก็ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่เท่าไหร่ ซึ่งต้องยอมรับว่า ขณะนี้ความต้องการสินค้าในตลาดโลกปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยว่าดัชนีอุตสาหกรรมใน 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 104.3 ปรับตัวลดลง จาก 105.0 ในเดือนเมษายน 

สาเหตุจากผู้ประกอบการมีความกังวลเกี่ยวกับนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำของรัฐบาลใหม่ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนประกอบการของผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะ SMEs รวมทั้งทำให้การลงทุนจากต่างประเทศลดลง 

ขณะที่ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศและปัญหาภัยแล้งส่งผลต่อวัตถุดิบในอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร นอกจากนี้ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และความผันผวนของเศรษฐกิจการเงินโลก ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทย

สภาอุตฯ ได้มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ 3 ข้อ ดังนี้

  1. ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ปรับเพิ่มขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งส่งผลให้ผู้ประกอบการมีภาระหนี้เพิ่มขึ้นและความสามารถในการชำระหนี้ลดลง อาทิ สนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพิ่มเสริมสภาพคล่อง การปรับโครงสร้างหนี้ การปรับเงื่อนไขการค้ำประกันสินเชื่อให้มีความยืดหยุ่นขึ้น
  2. สนับสนุนให้ผู้ประกอบการใช้สิทธิประโยชน์สำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) ฉบับต่างๆ เพิ่มขึ้น เพื่อสร้างแต้มต่อให้กับสินค้าไทยและช่วยเพิ่มมูลค่าการส่งออก
  3. เร่งให้มีการจัดตั้งคณะรัฐบาลใหม่ เพื่อไม่ให้เกิดสุญญากาศทางการเมือง และสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT