นักวิเคราะห์ชี้ หุ้นไทยมีแนวโน้มเป็นบวกหากมีการจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จเพราะนักลงทุนรู้สึกมั่นคง เริ่มเห็นแนวทางที่แน่นอนในการดำเนินเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ ยกเว้นมีการพลิกขั้วที่เสี่ยงทำให้มีการเมืองนอกสภา และการชุมนุม คาด SET Index ขึ้นไปที่ 1,630 จุดสิ้นปีนี้ ลดลงจากการคาดการณ์เดิมที่ 1,707 จุด
ในวันที่ 3 กรกฎาคม นาย สมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) และ นาย ณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์การลงทุน บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด ได้ร่วมแถลงผลการสำรวจความเห็นของนักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุนต่อมุมมองในด้านการลงทุนและคาดการณ์ทิศทางดัชนีราคาหุ้นไทย (SET Index) และตอบคำถามด้านทิศทางการลงทุนสำหรับไตรมาสที่ 3 ของปี 2566
โดยการสำรวจครั้งนี้มีผู้ตอบแบบสำรวจทั้งหมด 25 บริษัท แบ่งเป็นบริษัทหลักทรัพย์จำนวน 19 บริษัท บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจำนวน 2 บริษัท บริษัทหลักทรัพย์ที่ปรึกษาการลงทุน 2 บริษัท และบริษัทโกลด์ฟิวเจอร์ส 2 บริษัท
คาดหุ้นเคลื่อนแบบ Sideways และเพิ่มขึ้นหลังจากมีการจัดตั้งรัฐบาล
จากผลสำรวจความเห็น นักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุน 36% มองว่าดัชนีราคาหุ้นไทยในช่วงไตรมาสที่ 3 จะเคลื่อนตัวแบบ Sideways หรือไม่เปลี่ยนแปลงไปมากจากไตรมาส 2 ปี 2566 ในขณะที่ผู้ตอบแบบสอบถาม 32% มองว่าตลาดจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางบวกและลบที่เท่ากัน
นักวิเคราะห์มองว่า ‘ปัจจัยบวกเดียว’ ที่จะส่งให้หุ้นไทยเติบโตมากที่สุดก็คือ ‘เศรษฐกิจในประเทศ’ เพราะมองว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะในภาคส่วนการท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นจากการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่วน ‘ปัจจัยลบ’ นักวิเคราะห์มองว่าปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของตลาดทุนไทยมากที่สุดก็คือ
- ปัจจัยด้านเศรษฐกิจต่างประเทศทั้ง อเมริกา ยุโรป เอเชีย (80%)
- ทิศทางอัตราดอกเบี้ยสหรัฐอเมริกา (68%)
- การเมืองในต่างประเทศ (64%)
- การลดหรือยุติมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ของประเทศสำคัญทั่วโลก (60%)
- ถัดไปคือ Fund Flows ไหลออก (59%)
- ปัจจัยการเมืองในประเทศ (55%)
โดยนักวิเคราะห์มองว่า ปัจจัยที่ควรจับตามองที่มีผลต่อการขับเคลื่อนตลาดในไตรมาส 3 มากที่สุดก็คือ การจัดตั้งรัฐบาล/การเมืองในประเทศ ทิศทางดอกเบี้ยของ FED และภาวะเศรษฐกิจโลก
นาย ณัฐพล กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยน่าจะมีการปรับตัวขึ้น หลังมีการจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ ไม่ว่าจะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคไหนจะได้เป็นหัวหน้ารัฐบาล เพราะนักลงทุนและนักวิเคราะห์ต้องการเสถียรภาพทางการเมือง และความมั่นคงในการดำเนินนโยบาย แต่หากมีการพลิกขั้ว คือเปลี่ยนจากขั้วก้าวไกล-เพื่อไทย เป็นฝั่ง ภูมิใจไทย-รวมไทยสร้างชาติ-พลังประชารัฐ อาจจะส่งผลเสียต่อตลาดทุนเพราะจะเกิดความไม่มั่นคง ความเสี่ยงมีการเมืองนอกสภา มีการต่อต้านจากประชาชน และอาจมีการชุมนุม
อย่างไรก็ตาม หากมีการตั้งรัฐบาลสำเร็จ นักวิเคราะห์มองว่าค่าเฉลี่ยดัชนีหุ้นไทยสิ้นไตรมาสที่ 3 จะอยู่ที่ 1,568 จุด ขึ้นไปแตะจุดสูงสุดในช่วง ก.ค. - ธ.ค. 66 เฉลี่ยที่ระดับ 1,643 จุด และแตะจุดต่ำสุดของปี 2566 ในช่วงก.ค. - ธ.ค. 66 เฉลี่ยที่ระดับ 1,454 จุด และคาดเป้าหมายดัชนี ณ วันสิ้นปี 2566 เฉลี่ยอยู่ที่ 1,630 จุด ซึ่งลดลง 77 จุดจากระดับคาดการณ์ไว้ครั้งก่อน อยู่ที่ 1,707 จุด
เชียร์หุ้นด้านการท่องเที่ยว-ธนาคาร นโยบายรัฐบาลใหม่อาจกระทบหุ้นบางกลุ่ม
สำหรับในการลงทุนหุ้นไทยนั้น นักวิเคราะห์แนะนำให้ ‘เพิ่ม’ น้ำหนักการลงทุน ในหมวดธุรกิจ ค้าปลีก ธนาคาร การแพทย์ และการท่องเที่ยว ในขณะที่ให้ ‘ลด’ น้ำหนักการลงทุนใน หมวดธุรกิจ Finance (non-bank) ปิโตรเคมี พลังงานและสาธารณูปโภค
โดยจากความเห็นของนักวิเคราะห์ รายชื่อหุ้นที่นักวิเคราะห์แนะนำโดยมีจำนวนสำนักวิเคราะห์แนะนำตรงกันตั้งแต่ 5 สำนักขึ้นไป มีดังนี้ (เรียงชื่อตามอักษรย่อ)
- ADVANC มองว่าการแข่งขันในอุตสาหกรรมที่ลดลง ส่งผลดีต่อธุรกิจ
- AOT โดยได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว
- BBL โดยมองว่า มีความเชี่ยวชาญสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ โดยมีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 1 ในตลาดนี้ สินเชื่อประเภทนี้แม้จะมีผลตอบแทนต่ำแต่ก็มีความเสี่ยงต่ำ นอกจากนั้น BBL มีสินเชื่อส่วนใหญ่คิดอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว และมีเงินฝากประจำสัดส่วนสูง ซึ่งได้รับประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้นมากที่สุด ทั้งยังรองรับความเสี่ยงได้มาก จากสัดส่วนสำรองต่อ NPL ที่มีอยู่ถึง 243% สูงกว่าค่าเฉลี่ยกลุ่มธนาคารที่ 171% อยู่มาก
- CPALL ปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคเพิ่ม นักท่องเที่ยวฟื้นตัว
- SCB มองว่าได้ประโยชน์จาก กนง.เปิดช่องขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งนักวิเคราะห์คาดว่าจะขึ้นอีก 0.5% ส่งผลดีต่อหุ้นแบงก์โดยรวม ทั้งราคายัง Laggard กลุ่ม
สำหรับหุ้นที่ควรหลีกเลี่ยง ได้แก่ หุ้น Delta ที่มีเกินมูลค่าปัจจัยพื้นฐานไปมาก และกลุ่มหุ้นที่อาจได้รับผลกระทบจากนโยบายรัฐบาลใหม่ ซึ่งนาย สมบัติ แนะนำว่าให้ ‘จับตาดูว่าตัวแทนจากพรรคใดจะได้ดูแลกระทรวงสายเศรษฐกิจ’ เช่น กระทรวงการคลัง เพราะแต่ละพรรคมีนโยบายทางเศรษฐกิจแตกต่างกัน เช่น
- หากตัวแทนของพรรค 'ก้าวไกล' ได้ดูแลกระทรวงที่สำคัญด้านเศรษฐกิจ หุ้นกลุ่มธุรกิจที่มีคู่แข่งน้อย หรือมีการผูกขาดก็จะมีการปรับตัวลง อย่างน้อยในระยะสั้น เพราะพรรคก้าวไกลมีนโยบายทลายกลุ่มธุรกิจผูกขาด ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจด้านพลังงาน ไฟฟ้า มือถือ หรือเหล้าสุรา
- หากตัวแทนของพรรค 'เพื่อไทย' ได้เป็นผู้นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีกระทรวงด้านเศรษฐกิจ ธุรกิจกลุ่มผูกขาดไม่น่าจะกระทบมากนัก แต่ธุรกิจกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไปน่าจะได้อานิสงส์บวก เพราะเพื่อไทยมีนโยบายอัดฉีดเงิน เพิ่มรายได้ขั้นต่ำ กระตุ้นกำลังการใช้จ่ายของประชาชน
นอกจากนี้ สมาคมนักวิเคราะห์ฯ ยังได้ให้แนวทางสำหรับการจัดพอร์ตการลงทุนสำหรับไตรมาสที่ 3 เพื่อบริหารความเสี่ยง โดยแนะนำให้มีสินทรัพย์แต่ละประเภทในพอร์ตในสัดส่วนดังนี้
- เงินสด หรือเงินฝากระยะสั้น 14.24% ของพอร์ต
- กองทุนตราสารหนี้ 22.83% ของพอร์ต
- หุ้นไทยหรือกองทุนหุ้นไทย 24.87% ของพอร์ต
- หุ้นต่างประเทศหรือกองทุนหุ้นต่างประเทศ 23.83% ของพอร์ต โดยเฉพาะกองทุนเทคโนโลยี กองทุนหุ้นจีน และเอเชีย ที่ได้รับแรงเสริมจากการเพิ่มของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
- ทองคำ 7.43% ของพอร์ต
- กองทุนอสังหา/REIT ของพอร์ต
- สินทรัพย์อื่นๆ เช่น คริปโต 0.21% ของพอร์ต