ข่าวเศรษฐกิจ

ป.ป.ช. เปิดสถิติทุจริตปี 66 พบมีข้อร้องเรียนกว่า 4,400 เรื่อง เสียหายกว่า 1.3 หมื่นล้านบาท

28 ก.ค. 66
ป.ป.ช. เปิดสถิติทุจริตปี 66 พบมีข้อร้องเรียนกว่า 4,400 เรื่อง เสียหายกว่า 1.3 หมื่นล้านบาท

คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เผยสถิติทุจริตในปีงบประมาณ 2566 (1 ต.ค. 65 - 19 ก.ค. 66) พบมีการร้องเรียนและกล่าวหาในกรณีทุจริตเข้ามาถึง 4,475 เรื่อง คิดเป็นมูลค่าความเสียหายตามวงเงินงบประมาณหรือค่าใช้จ่ายในโครงการที่มีการทุจริตถึง 13,857 ล้านบาท 

เมื่อวันที่ 26 ก.ค. นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการของ ป.ป.ช. ได้รายงานสถานการณ์ทุจริตในไทย โดยชี้ว่าในปัจจุบันสถารการณ์คอร์รัปชั่นในไทยค่อนข้างทรงตัว และมีความยากในการตามจัดการเพราะการคอร์รัปชั่นมีการพัฒนาเปลี่ยนรูปแบบจนมีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ จนยากต่อการสืบสวน และติดตามผลประโยชน์ว่าใครเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องบ้างในแต่ละกรณี 

จากเดิมที่เป็นการคอร์รัปชั่นในไทยมักจะเป็นการรับผลประโยชน์ตรงๆ เช่น การรับเงินหรือการติดสินบนเจ้าหน้าที่ รูปแบบการคอร์รัปชั่นในปัจจุบันได้พัฒนามาเป็นการทุจริตเชิงนโยบาย ซึ่งรวมไปถึงการออกนโยบายเพื่อเอื้อประโยชน์พวกพ้อง ไม่ใช่เพื่อสาธารณะ โดยจากข้อมูลของ ป.ป.ช. การทุจริตในไทยสามารถแบ่งได้เป็น 5 รูปแบบด้วยกันคือ

  1. การทุจริตทางตรง
  2. การทุจริตเชิงนโยบาย
  3. การใช้อำนาจแทรกแซงกลไกกฎหมาย
  4. การทุจริตระดับประเทศ
  5. การติดสินบนเจ้าหน้าทุจริตระหว่างประเทศ

นายนิวัติไชย ได้กล่าวเสริมอีกว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้สถานการณ์คอร์รัปชั่นในไทยยังพัฒนาไปได้ไม่รวดเร็วเท่าที่ควร คือความคิดจารีตเก่าที่ฝังรากลึกในไทยจนกลายเป็นค่านิยม ซึ่งทำให้เกิดพฤติกรรมทุจริต รวมไปถึงการไม่แยกแยะผลประโยชน์ส่วนตนออกมาจากผลประโยชน์ของชาติ ทำให้ยังติดหาผลประโยชน์จากงานราชการอยู่ เพราะคิดว่าทำได้และเป็นสิ่งที่ทำมากันจนเป็นธรรมเนียม

อย่างไรก็ตาม พัฒนาการที่สำคัญของสถานการณ์ในเมืองไทยก็คือประชาชนรวมไปถึงเจ้าหน้าที่ที่พบเห็นการทุจริตเริ่มตื่นตัว และกล้าแจ้งเบาะแสให้ ป.ป.ช. ดำเนินการมากยิ่งขึ้น ทำให้ในอนาคตสถานการณ์มีแนวโน้มดีขึ้น เพราะเจ้าหน้าที่ที่ทุจริตจะไม่กล้าทำความผิดอย่างโจ่งแจ้งอีกแล้ว

 

ราชการส่วนท้องถิ่นถูกรายงานมากสุด รับไปกว่า 1,500 เรื่อง

ป.ป.ช. ระบุว่าในปีงบประมาณ 2566  ป.ป.ช. ได้รับเรื่องร้องเรียนจากเจ้าหน้าที่และประชาชนทั้งหมด 4,475 เรื่อง แบ่งเป็น เรื่องที่ คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติรับไว้ดำเนินการเองจำนวน 2,748 เรื่อง และ เรื่องที่ ป.ป.ช. ส่งให้หน่วยงานอื่นดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ 1,727 เรื่อง

และจากทั้งหมด 4,475 เรื่อง นั้น หน่วยงานที่ถูกร้องเรียนมากที่สุดก็คือ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ที่เจอข้อร้องเรียนไปถึง 1,548 เรื่อง หรือคิดเป็น 34.59% ของเรื่องร้องเรียนทั้งหมด ตามมาด้วย กระทรวงมหาดไทยที่รับไป 507 เรื่อง (11.33%) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่รับไป 409 เรื่อง (9.14%)

โดย 2 เรื่องที่มีการร้องเรียนมากที่สุดก็คือ 1. การปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เช่น ละเลย เพิกเฉยต่อการปฏิบัติตามหน้าที่ และการอนุมัติ/ไม่อนุมัติใบอนุญาตโดยมิชอบ และ 2. การทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้าง 

นอกจากนี้ หากคาดการณ์จากเงินงบประมาณและค่าใช้จ่ายที่ใช้ในกิจกรรมหรือโครงการที่มีการทุจริตเหล่านี้การทุจริตในปีงบประมาณ 2566 จะสร้างความเสียหายให้ประเทศไปทั้งหมดถึง 13,857,540,731 บาท มาจากการปฎิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบมากที่สุด ซึ่งสร้างความเสียหายรวมถึง 10,390 ล้านบาท

 

เป้าหมายในการจัดการทุจริตไทยในปีหน้า

สำหรับการจัดการการทุจริตในอนาคต นายนิวัติไชย มองว่า ในขณะนี้ถึงแม้จะเป็นการพัฒนาอย่างช้าๆ ก็มีที่รพัฒนาเพราะมีประชาชนและเจ้าหน้าที่ที่สนใจติดตามเรื่อง มีความตระหนักในผลร้ายของการทุจริตที่ต่อประเทศชาติและสาธารณประโยชน์ จนกล้าออกมาร้องเรียนและส่งข้อมูลเบาะแสให้กับ ป.ป.ช. มากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม นายนิวัติไชย ชี้ว่าการที่จำนวนข้อกล่าวหาหรือข้อร้องเรียนการทุจริตในไทยที่มีเพิ่มมากขึ้นนั้นไม่ได้สะท้อนว่าสถานการณ์ทุจริตในไทยเลวร้ายลง เพราะบางเคสเป็นเพียงข้อกล่าวหาที่ยังไม่มีการสืบทราบว่ามีการกระทำความผิดจริง นอกจากนี้ยังเป็นเพราะ ป.ป.ช. มีช่องทางให้ประชาชนร้องเรียนอย่างสะดวกและปลอดภัยมากกว่าการที่จะมีกรณีทุจริตเกิดขึ้นเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

โดยสำหรับเป้าหมายในการจัดการการทุจริตในไทยในอนาคต ป.ป.ช. มีเป้าหมายในการพัฒนาภาพลักษณ์การคอร์รัปชั่นในไทยให้ดีขึ้น เช่นเพิ่มคะแนนในการจัดอันดับ Corruption Perceptions Index  หรือ CPI ให้ได้อย่างน้อยถึงครึ่งหรือ 50 คะแนนเต็มร้อยจากปัจจุบันที่อยู่ที่ 35 คะแนนเต็มร้อย 

อย่างไรก็ตาม นายนิวัติไชยกล่าวว่าไม่อยากให้ประเมินสถานการณ์คอรร์รัปชั่นในไทยผ่านการจัดอันดับ CPI เป็นหลัก เพราะเป็นการสอบถามความรับรู้ หรือความเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องเท่านั้น ไม่ได้สะท้อนระดับการทุจริตที่แท้จริงในไทย นอกจากนี้ ยังมีหลายปัจจัยหลายอย่างเข้าไปเกี่ยวข้องรวมไปถึง เสถียรภาพทางการเมืองที่อาจทำให้คนภายนอกมองว่าประเทศเรามีศักยภาพในการจัดการการทุจริตลดลง

โดยต่อจากนี้  ป.ป.ช. มีเป้าหมายที่จะนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยจัดการการคอร์รัปชั่นในไทย และเน้นไปที่การ “ป้องกันและป้องปราม” ไม่ใช่เกิดปัญหาแล้วค่อยมาแก้ไข ซึ่งจะเกิดขึ้นได้จากการติดเครื่องมือในการร้องเรียนให้กับประชาชน และให้การคุ้มครองตัวตนผู้ร้องเรียน รวมไปถึงเครื่องมือสื่อสารรับแจ้งเรื่องกับหน่วยงานทางราชการต่างๆ ให้การดำเนินการเป็นไปได้อย่างรวดเร็วและถูกต้องมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงติดตั้งอุปกรณ์ในการตรวจจับการทุจริตอย่างอัตโนมัติเช่น ด่านชั่งน้ำหนักบนถนนที่วัดน้ำหนักได้ทันทีหากมีรถวิ่งผ่าน ซึ่งเหล่านี้จะช่วยให้จูงใจให้เจ้าหน้าที่ทุจริตไม่กล้ากระทำความผิด เพราะรู้สึกว่าไม่สามารถลอยนวลพ้นผิดเหมือนเดิมได้อีกต่อไป

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT