อัตราเงินเฟ้อของประเทศไทยเดือน ก.ค.ล่าสุดที่ประกาศออกมาในวันนี้ ชะลอตัวลงหากเทียบกับ ก.ค.ปี 2565 ถือว่าสูงขึ้นเพียงร้อยละ 0.38 ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐาน เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก สูงขึ้นร้อยละ 0.86 ชะลอตัวต่อเนื่องติดต่อกันตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา
กระทรวงพาณิชย์ระบุว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ จัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่อัตราเงินเฟ้อต่ำ และต่ำที่สุดในอาเซียนจาก 7 ประเทศที่ประกาศตัวเลข เช่น สปป.ลาว ฟิลิปปินส์สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และ เวียดนาม
โดยสาเหตุสำคัญมาจากการชะลอตัวของราคาสินค้าในหมวดอาหารโดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มเนื้อสุกรและเครื่องประกอบอาหาร ที่ราคาปรับลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 และน้ำมันเชื้อเพลิงราคาปรับลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 เมื่อเทียบกับช่วงเดือนเดียวกันของปีก่อน และกระทรวงพาณิชย์คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2566 นี้จะอยู่ระหว่างร้อยละ 1.0 – 2.0 ซึ่งอยู่ในกรอบเป้าหมายที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กำหนด (ร้อยละ 1.0 – 3.0)
สำหรับประชาชนอาจจะมีคำถามว่า เงินเฟ้อชะลอตัวหรือเงินเฟ้อลดลงทำไมเราถึงไม่ได้รู้สึกว่าค่าครองชีพลดลง ?
ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ และหัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร อธิบายให้ฟังว่า ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อที่เราเห็นกันอยู่นี้ คือ อัตราการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าในแต่ละช่วงเวลา
“เงินเฟ้อลดลง ไม่ได้แปลว่าราคาสินค้าถูกลง แต่หมายความว่า ราคาสินค้าไม่ได้แพงขึ้นต่อเนื่อง ดังนั้น เราเคยเจอของแพงอยู่อย่างไร มันก็ยังคงแพงอยู่อย่างนั้น เพียงแค่มันไม่ได้แพงขึ้นไปเรื่อยๆเท่านั้นเอง”
ในหลายประเทศ เงินเฟ้อที่น่ากลัวคือ ราคาสินค้ายังแพงขึ้นไม่หยุด จนสุดท้ายต้องมีการปรับขึ้นค่าแรงหรือค่าจ้างเพื่อให้ประชาชนอยู่ได้กับรายจ่ายที่สูงขึ้น ดังนั้นสำหรับประเทศไทย จึงน่าจับตามองอัตราเงินเฟ้อกันต่อไปว่า จะมีโอกาสกลับมาเร่งตัวขึ้นในอนาคตได้หรือไม่
สำหรับเฉลี่ยค่าใช้จ่ายครัวเรือนไทยเดือน ก.ค.อยู่ที่ 18,130 บาท/เดือน 23.21% เป็นค่าโดยสารสาธารณะ ซึ่งเป็นสัดส่วนมากที่สุดของบรรดาค่าใช้จ่ายทั้งหมด ดังนั้นหากใครมีรายได้ต่ำกว่านี้ ก็ถือว่า อยู่ในเกณฑ์ที่รายได้ไม่พอรายจ่ายอยู่ดี
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า แนวโน้มเงินเฟ้อช่วงที่เหลือของปีนี้ ต้องจับตาปัจจัยสำคัญได้แก่ ปัญหาภัยแล้ง ความผันผวนของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก และปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะสงครามรัสเซีย-ยูเครน
หากสมมติฐาน 3 ตัวนี้ ไม่เปลี่ยนแปลงกระทรวงพาณิชย์ของไทยก็จะคงคาดการณ์เงินเฟ้อทั้งปีไว้ที่ 1-2% แต่ถ้าสมมติฐานทั้ง 3 ตัวนี้ มีแนวโน้มจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่จะมีผลกระทบต่อ CPI ไม่ว่าจะเพิ่มขึ้น หรือลดลง ก็จะทบทวนเงินเฟ้อของปีนี้ใหม่อีกครั้งในเดือน กันายนนี้. จากปัจจุบันที่สำหรับการคาดการณ์ เงินเฟ้อไทยปี 2566 อยู่ในช่วง 1-2% โดยสมมติฐานที่ใช้คาดการณ์เงินเฟ้อ ประกอบด้วย อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ 2.7-3.7%, ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปี 71-81 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยทั้งปี ที่ระดับ 33.50-35.50 บาท/ดอลลาร์
ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อของประเทศไทย มีการคำนวณมาจากราคาสินค้า 430 รายการ ครอบคลุมสินค้าและบริการ 7 หมวดที่จำเป็นต่อการครองชีพ
7 หมวดสินค้าและบริการที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อ
1) หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์
2) หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า
3) หมวดเคหสถาน
4) หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล
5) หมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร
6) หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาฯ
7) หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอลล์
ซึ่งแต่ละหมวดนั้นก็มีน้ำหนักในการคำนวณอัตราเงินเฟ้อไม่เท่ากัน หมวดใหญ่ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม มีสัดส่วน 58.53% ส่วนหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 41.47%
โดยในเดือน ก.ค. หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอลล์ มีเนื้อสุกร เนื้อโค และสัตว์น้ำ ผักและผลไม้ (มะนาว ต้นหอม ถั่วฝักยาว เงาะ ทุเรียน ลองกอง) และเครื่องประกอบอาหาร (น้ำมันพืช ซอสหอยนางรม กะทิสำเร็จรูป)ราคาลดลง ขณะที่ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว ไข่ไก่ น้ำอัดลม และอาหารโทรสั่ง (Delivery) ราคาปรับสูงขึ้นเล็กน้อย
สำหรับหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ราคาสูงขึ้นเล็กน้อย เช่น ค่าเช่าบ้าน สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด และค่าของใช้ส่วนบุคคล และค่าโดยสารเครื่องบิน สำหรับสินค้าที่ราคาลดลง อาทิ น้ำมันดีเซล เสื้อบุรุษและสตรี เครื่องใช้ไฟฟ้า ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม แชมพู เป็นต้น