Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
KKP คาด GDP ปี 66 โตเหลือ 2.8% ท่องเที่ยวฟื้นช้า ส่งออกซบเซายาว เหตุศก.จีนชะลอ
โดย : อมรินทร์ทีวีออนไลน์

KKP คาด GDP ปี 66 โตเหลือ 2.8% ท่องเที่ยวฟื้นช้า ส่งออกซบเซายาว เหตุศก.จีนชะลอ

4 ก.ย. 66
13:32 น.
|
299
แชร์

KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจเกียรตินาคินภัทร ปรับลดประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจลงจาก 3.3% เป็น 2.8% สำหรับปี 2023 และจาก 3.6% เป็น 3.3% สำหรับปี 2024 หลังพบ GDP ไตรมาส 2 ออกมาค่อนข้างต่ำ จากภาคท่องเที่ยวที่ยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร ยอดผลิตและส่งออกที่ต่ำ และหนี้ครัวเรือนที่สูง ทำให้ตัวเลข GDP ทั้งปีมีความเสี่ยงที่จะโตต่ำกว่าที่ตลาดประเมินมาก 

โดยจากรายงาน GDP ไตรมาส 2 ของไทยเติบโตเพียง 1.8% เมื่อเทียบกับปีก่อนเท่านั้น ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 3.1%  โดยตัวเลขเศรษฐกิจปัจจุบันสวนทางกับการคาดการณ์ในช่วงต้นปีว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะฟื้นตัวได้ดีในปีนี้จากนักท่องเที่ยวตามการเปิดเมืองของจีน 

 

ตัวเลข GDP การผลิตต่ำ การบริโภคเพิ่มไม่ทั่วถึง

ในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา ภาคการส่งออกสินค้าไทยยังคงมีทิศทางหดตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากตัวเลข GDP จากฝั่งภาคการผลิตที่ชะลอตัวลงมาอยู่ที่เพียง 1.8% โดยเฉพาะการผลิตในกลุ่มภาคอุตสาหกรรมที่หดตัวลง 2.1% และภาคเกษตรมีทิศทางที่ชะลอตัวลงโดยขยายตัวเพียง 0.5% ในไตรมาสนี้ ซึ่งการเติบโตที่แตกต่างกันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสินค้าคงคลังและค่าคลาดเคลื่อนทางสถิติที่มีขนาดใหญ่ขึ้นมากกว่าปกติในช่วงที่ผ่านมา

โดยถึงแม้ตัวเลข GDP ในฝั่งการใช้จ่ายจะเติบโตได้ดีกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตมาก โดยเติบโตถึง 6.7%  โดยเฉพาะการเติบโตของการบริโภคภาคเอกชนและการส่งออกภาคบริการซึ่งได้รับแรงส่งจากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว ตัวเลขการเติบโตของการบริโภคที่โตขึ้นอย่างก้าวกระโดดอาจไม่ได้หมายความว่ารายได้ของผู้บริโภคในภาพรวมฟื้นตัวได้ดี หากมองจากมุมมองของการจ้างงาน

ทั้งนี้ เป็นเพราะการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมมีสัดส่วนถึง 16% ของการจ้างงานทั้งหมด ซึ่งเป็นภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของการส่งออก ในขณะที่ภาคบริการที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวที่อาจได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวโดยตรงมีเพียง 11% ทำให้ตัวเลขการบริโภคที่เพิ่มขึ้นนี้เกิดจากการฟื้นตัวที่ไม่ทั่วถึง 

ทั้งนี้ มีข้อสังเกตเกี่ยวกับตัวเลขการบริโภคที่สำคัญ 2 ข้อ คือ

  1. เครื่องชี้การบริโภคหลายตัวมีทิศทางชะลอลง แม้การบริโภคใน GDP จะขยายตัวได้ดี แต่ตัวชี้วัดอื่น ๆ ด้านการบริโภคยังไม่ได้ฟื้นตัวได้ดีมากนัก ตัวอย่างเช่น ตัวเลขยอดค้าปลีกของบริษัทขนาดใหญ่ที่มีทิศทางชะลอตัวลง หรือภาษีที่เก็บได้จากภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่ปรับตัวลดลง
  2. ปัจจัยในระยะข้างหน้ายังคงเพิ่มแรงกดดันทางลบต่อการบริโภค โดยเฉพาะ “หนี้ครัวเรือน” ที่อยู่ในระดับสูงและการชะลอการปล่อยกู้ของธนาคารพาณิชย์ จากระดับหนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ในกลุ่มสูงมากที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในเอเชียและสูงกว่าประเทศที่มีระดับรายได้ใกล้เคียงกันอย่างมาก 

ด้วยเหตุนี้ KKP Research ประเมินว่าตัวเลขการเติบโตของบริโภคในครึ่งหลังของปีจะชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญและทำให้ตัวเลขการบริโภคทั้งปีชะลอตัวลงเหลือ 4.5% จากตัวเลขไตรมาส 2 ที่เติบโตได้ถึง 7.8% และในปี 2024 การบริโภคจะยังคงฟื้นตัวได้อย่างช้า ๆ โดยเติบโตประมาณ 3.0%

 

ศก. ไทยพึ่งต่างประเทศมาก โตช้าเพราะจีนชะลอ

นอกจากตัวเลขการบริโภคที่ฟื้นไม่ทั่วถึง และมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวยาวในอนาคตแล้ว KKP Research ยังประเมินอีกว่าโครงสร้างเศรษฐกิจไทยยังอ่อนไหวต่อผลกระทบจากปัจจัยภายนอก เพราะมีการพึ่งพาต่างประเทศค่อนข้างมาก ทั้งภาคการท่องเที่ยวที่ต้องรอนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ และการส่งออกที่ต้องพึ่งพาเศรษฐกิจของประเทศปลายทาง เพราะถ้าตลาดส่งออกสภาพเศรษฐกิจซบเซาลง อุปสงค์ก็จะลดลงไปด้วย

ดังนั้น ในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจโลกกำลังมีวัฏจักรการเติบโตที่สวนทางกัน พัฒนาไปในทิศทางที่ไม่เหมือนกัน เศรษฐกิจไทยจะต้องเผชิญความไม่แน่นอนและความผันผวนทางเศรษฐกิจมากขึ้น ซึ่งความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะกระทบเศรษฐกิจไทยใน 3 ประเด็น คือ 

  1. ภาคการท่องเที่ยวอาจฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่คาด จากนักท่องเที่ยวจีนที่เป็นความหวังในการเติบโตของเศรษฐกิจไทยยังเป็นกลุ่มที่กลับมาได้ช้ามากที่สุด ส่วนหนึ่งเกิดจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวทำให้คนจีนที่ออกมาเที่ยวกลายเป็นกลุ่มคนที่มีฐานะปานกลางขึ้นไปและอาจไม่ใช่กลุ่มคนที่มองประเทศไทยเป็นจุดหมายหลัก  
  2. ภาคส่งออกจะยังฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่คาด สาเหตุหลักมาจากการเติบโตที่ชะลอลงของจีน โครงสร้างการส่งออกสินค้าของไทยมีการพึ่งพาจีนค่อนข้างสูง   
  3. อัตราดอกเบี้ยที่ค้างสูงในสหรัฐ ฯ จะกดดันให้ภาวะการเงินโลกตึงตัว และเป็นข้อจำกัดต่อการลดดอกเบี้ยของนโยบายการเงินไทย ทำให้ไม่สามารถพยุงเศรษฐกิจในประเทศได้เต็มที่ และส่งผลให้ค่าเงินบาทยังมีความผันผวนต่อเนื่องได้

นอกจากนี้ จากข้อมูลของ KKP Research ในปัจจุบันดุลการค้าของไทยอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับตัวแย่ลงของดัชนีการค้า (Terms of trade) หรือ ราคาสินค้าส่งออกหารด้วยราคาสินค้านำเข้า 

โดยในช่วงที่ผ่านมาราคาสินค้านำเข้าของไทยปรับตัวสูงขึ้นกว่าราคาสินค้าส่งออกทำให้ไทยมีมูลค่าการนำเข้าที่สูงขึ้นมากกว่ามูลค่าการส่งออก สาเหตุหลักเกิดจากราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นทำให้ดัชนีการค้าปรับตัวแย่ลงและอยู่ในระดับต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ ในระยะข้างหน้าดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยจะยังคงอยู่ในระดับต่ำทั้งในปีนี้และปีหน้า และเป็นอีกแรงกดดันให้ค่าเงินบาทไม่สามารถกลับมาแข็งค่าได้เร็วเหมือนในอดีต

 

จับตานโยบายภาครัฐหลังตั้งรัฐบาล

แม้ว่าในที่สุดจะมีการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีแล้ว แต่ยังมีความไม่แน่นอนด้านนโยบายจากการจัดตั้งรัฐบาลผสมถึง 6 พรรค โดยการแบ่งตำแหน่งรัฐมนตรีกระจายไปตามพรรคต่าง ๆ จะทำให้การผลักดันนโยบายสำคัญ ๆ มีความท้าทาย

อย่างไรก็ตาม KKP Research ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับมองว่า 3 นโยบายที่อาจจะคาดว่าจะได้รับการถูกผลักดันทันทีในระยะเวลา 1 ปีแรกและมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง ได้แก่ 

  1. นโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท ซึ่งมีต้นทุนประมาณ 5.5 แสนล้านบาท ซึ่งถ้าทำได้จริงประเมินว่าจะทำให้ GDP ในปี 2024 เติบโตเพิ่มขึ้นประมาณ 1-1.2% จากประมาณการในปัจจุบัน
  2. นโยบายพักหนี้เกษตรกร ซึ่งอาจมีต้นทุนถึง่ 2 หมื่นล้านบาที 
  3. นโยบายลดค่าครองชีพ โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า และลดค่าน้ำมันดีเซล  เป็นที่น่าสังเกตว่านโยบายหลักเป็นนโยบายลดแลกแจกแถม มากกว่านโยบายปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดทางการคลังถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดว่ารัฐบาลจะสามารถดำเนินการได้มากน้อยเพียงใด โดยปัจจุบันมี วงเงินที่รัฐสามารถกู้เพิ่มจากเพดานการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลตาม พรบ. การบริหารหนี้สาธารณะ  หรือใช้ผ่านรัฐวิสาหกิจ ตามกรอบวงเงินภาระทางการคลังตามมาตรา 28 ของ พรบ. วินัยการเงินการคลัง ได้อีกไม่มากนัก

นอกจากนี้ แม้ว่าระดับหนี้สาธารณะที่อยู่ร้อยละ 61 ของ GDP ต่ำกว่าเพดานหนี้ที่ร้อยละ 70 ของ GDP แต่มีความจำเป็นต้องพิจารณาถึงความคุ้มค่าของการใช้เงิน และความยั่งยืนทางการคลังในระยะยาว

แชร์
KKP คาด GDP ปี 66 โตเหลือ 2.8% ท่องเที่ยวฟื้นช้า ส่งออกซบเซายาว เหตุศก.จีนชะลอ