ทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 2.25% ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจไทยที่หลายสำนักประเมินว่า ปี 2568 GDP ไทยน่าจะต่ำกว่า 3% โตต่ำต่อเนื่องกว่า 7 ปีแล้ว จนกระแสเรียกร้องให้ธนาคารแห่งประเทศไทยลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีกเริ่มชัดเจนไปในทางเดียวกันมากขึ้น
โดยในวันที่ 26 กุมภาพันธ์นี้ จะเป็นการประชุมนัดแรกของ คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. หลังจากปื 2567 ที่ผ่านมาลดดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 4 ปี เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา
มุมมองล่าสุดจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF สนับสนุนให้ธนาคารแห่งประเทศไทยลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไทยและช่วยลดภาระหนี้ของภาคครัวเรือนลง
ผลการหารือระหว่างคณะกรรมการบริหารของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) กับฝ่ายบริหารของไทย หรือ Article IV Consultation ปี 2024 มีมุมมอง-ข้อเสนอแนะต่อเศรษฐกิจไทยและการดำเนินนโยบายทั้งการเงิน การคลัง ของประเทศไทยดังนี้
IMF เตือนถึง ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ จากปัจจัยภายนอก เช่น ความตึงเครียดทางการค้าโลก ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ผันผวน และภาวะการเงินโลกที่ตึงตัว ขณะที่ปัจจัยภายใน เช่น หนี้ภาคเอกชนสูงและความไม่แน่นอนทางการเมือง อาจเป็นอุปสรรคต่อการเติบโต
ข้อเสนอแนะในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ
IMF มองว่า GDP ที่แท้จริงของไทยคาดว่าจะเติบโตที่ 2.7% ในปี 2567 และเพิ่มขึ้นเป็น 2.9% ในปี 2568 โดยได้รับแรงหนุนจากนโยบายการคลังที่มากขึ้นภายใต้ร่างงบประมาณปี 2568 ซึ่งรวมถึงมาตรการแจกเงินสดเพิ่มเติม ซึ่งคิดเป็น 1% ของ GDP และการลงทุนภาครัฐที่ฟื้นตัวขึ้น ภาคการท่องเที่ยวคาดว่าจะยังคงสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจต่อไป รวมถึงการบริโภคภาคเอกชนที่ได้รับแรงหนุนจากมาตรการแจกเงินสดของภาครัฐ
อัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นแต่ยังอยู่ในช่วงล่างของกรอบเป้าหมายในปี 2568 ในขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องในปี 2567 และ 2568 โดยได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ
ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียนการฟื้นตัวของไทยถือว่าช้ากว่า ซึ่งเป็นผลมาจากจุดอ่อนเชิงโครงสร้างที่มีมานาน รวมถึงอุปสรรคใหม่ทั้งจากปัจจัยภายนอกและภายในประเทศที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำ แนวโน้มเศรษฐกิจยังคงมีความไม่แน่นอนสูง และมีความเสี่ยงด้านลบในระดับที่สำคัญ
ปัจจัยภายนอก - มาจากความตึงเครียดทางการค้าโลกที่เพิ่มขึ้นหรือการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจที่รุนแรงขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของการส่งออกและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในขณะที่ความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์อาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตและทำให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น นอกจากนี้ ภาวะการเงินโลกที่ตึงตัวเป็นเวลานานอาจเพิ่มแรงกดดันต่อเศรษฐกิจไทย
ปัจจัยภายใน - หนี้ภาคเอกชนที่อยู่ในระดับสูงอาจกระทบต่อเสถียรภาพของงบดุลของสถาบันการเงินและทำให้การปล่อยสินเชื่อลดลง ส่งผลลบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่เกิดขึ้นใหม่อาจเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินนโยบายและบั่นทอนความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและผู้บริโภค
ดังนั้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังคงดำเนินต่อไป แต่เป็นไปอย่างเชื่องช้าและไม่ทั่วถึง คณะกรรมการได้ประเมินถึงแนวทางในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจไทยทั้งด้านเงิน การคลัง และการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ
IMF ระบุว่า เมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวควรให้ความสำคัญกับการสร้างพื้นที่ทางการคลังมากขึ้น เป็นการช่วยรักษาความสามารถในการดำเนินนโยบายในอนาคต โดยปรับการจัดสรรเงินช่วยเหลือบางส่วนไปสู่การลงทุนที่ช่วยเพิ่มผลิตภาพหรือการคุ้มครองทางสังคม จะช่วยให้เกิดการเติบโตที่ครอบคลุมและช่วยลดสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ได้
เริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ 2569 ควรดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างการคลังในระยะกลางที่มุ่งเน้นการเพิ่มรายได้เพื่อลดหนี้สาธารณะและสร้างกันชนทางการคลัง การดำเนินมาตรการทางการคลังควรอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ที่ชัดเจนและคำนึงถึงความเสี่ยงในการดำเนินนโยบาย ควรมีการคำนวณต้นทุนของมาตรการกึ่งการคลัง เช่น การตรึงราคาพลังงาน ให้เหมาะสม และติดตามความเสี่ยงทางการคลังอย่างใกล้ชิด การปรับปรุงข้อมูลทางการเงินของภาครัฐและรัฐวิสาหกิจเป็นสิ่งสำคัญ
เจ้าหน้าที่ IMF สนับสนุนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยในเดือนตุลาคมที่ผ่านมาและแนะนำให้ลดลงเพิ่มเติม เพื่อสนับสนุนอัตราเงินเฟ้อและช่วยให้ลูกหนี้สามารถชำระหนี้ได้ดีขึ้น โดยมองว่าไม่มีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดการก่อหนี้ใหม่มากขึ้นในภาวะสินเชื่อตึงตัว นโยบายการเงินควรมีความยืดหยุ่นและปรับเปลี่ยนตามข้อมูลเศรษฐกิจที่ได้รับ
นอกจากนี้ควรปล่อยให้ค่าเงินบาทมีความยืดหยุ่นเพื่อทำหน้าที่เป็นกันชนต่อแรงกระแทกทางเศรษฐกิจ แต่การแทรกแซงค่าเงินเป็นครั้งคราวอาจช่วยลดความผันผวนที่ไม่เป็นไปตามปัจจัยพื้นฐานในตลาดเงินตราต่างประเทศ
ไทยจำเป็นต้องเร่งปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ เพื่อเพิ่มผลิตภาพและความสามารถในการแข่งขัน โดยการส่งเสริมการแข่งขัน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านกายภาพและดิจิทัล การเพิ่มทักษะแรงงาน และการเสริมสร้างธรรมาภิบาล
นอกจากนี้การเพิ่มระบบคุ้มครองทางสังคมให้ครอบคลุมมากขึ้นจะช่วยลดความเปราะบางของครัวเรือนและแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนในระยะยาว
ที่มา : IMF