Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
บล็อกเชนคืออะไร ? ทำไม 'เงินดิจิทัล 10,000 บาท' ไม่ใช้แอปเป๋าตัง
โดย : อมรินทร์ทีวีออนไลน์

บล็อกเชนคืออะไร ? ทำไม 'เงินดิจิทัล 10,000 บาท' ไม่ใช้แอปเป๋าตัง

7 ก.ย. 66
17:12 น.
|
10K
แชร์

เงินดิจิทัล 10,000 บาท นโยบายของรัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทยได้ใช้จริงแน่ในเดือน กุมภาพันธ์ 2567 เพราะรัฐบาลต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ถึงขนาดใช้คำว่า“พายุหมุนทางเศรษฐกิจ” เพราะงบประมาณในโครงการนี้สูงถึง 560,000 ล้านบาท หากประชาชนกว่า 50 ล้านคนที่ได้รับสิทธิ์นำเงินดิจิทัลนี้ไปใช้จ่าย กระจายตัวทั่วประเทศ มีโอกาสที่ GDP ปี 2567ของไทยอาจโตได้มากกว่า 5 % นี่คือเป้าหมายของนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท 

คราวนี้ประเด็นที่ถกเถียงกันต่อมาคือ ตัวระบบที่ใช้กับ เงินดิจิทัล 10,000 บาท รัฐบาลยืนยันว่า จะไม่ใช้กับแอปเป๋าตัง (ใช้ระบบ Database) เหมือนที่เราเคยได้รับวงเงินจากนโยบายคนละครึ่ง แต่จะใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) โดยบอกข้อดีว่า บล็อกเชน โปร่งใสกว่า ปลอดภัยกว่า และยังเป็นการปูพื้นฐานเศรษฐกิจ ดิจิทัล ให้กับประเทศไทยในระยะยาวอีกด้วย   

บล็อกเชน คืออะไร ?  บล็อกเชน ดีอย่างไร? และข้อห่วงใยของนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท กับเทคโนโลยีบล็อกเชน มีอะไรบ้าง SPOTLIGHT สรุปข้อมูลมาสำคัญมาให้ดังนี้  

Blockchain คืออะไร ? 

Blockchain คือ เทคโนโลยีการจัดเก็บข้อมูล (Data Structure) ที่เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย ผ่านการเข้ารหัสทางคอมพิวเตอร์ โดยข้อมูลที่ถูกบันทึกจะส่งต่อข้อมูลไปยังทุกคนในเครือข่าย ซึ่งยากต่อการปลอมแปลงข้อมูล เพราะทุกคนจะรับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงข้อมูล ส่งผลให้ Blockchain เป็นเทคโนโลยีจัดเก็บข้อมูลที่มีความปลอดภัยสูง

หากเราเคยได้ยินว่า สกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) ทั้งหลายเค้าใช้ เทคโนโลยีบล็อกเชน เพราะสิ่งที่เชื่อมต่อระหว่างสกุลเงินดิจิทัลกับ Blockchain คือ พื้นฐานของระบบที่ต้องเข้ารหัสผ่านคอมพิวเตอร์ โดยไม่รวมข้อมูลไว้ที่ใดที่หนึ่ง แต่จะกระจายข้อมูลไปยังเครือข่ายต่างๆ โดยทุกข้อมูลจะเชื่อมโยงกันทั้งระบบ 

Blockchain จึงเข้ามามีบทบาทในการเพิ่มความปลอดภัยในการจัดเก็บข้อมูลของผู้ครอบครองสกุลเงินดิจิทัล ทั้งจำนวนเงินและจำนวนครั้งในการโอน โดยกระจายข้อมูลไปให้ทุกคนในเครือข่ายรับรู้ถึงประวัติการทำธุรกรรม ส่งผลให้สกุลเงินดิจิทัลมีความโปร่งใส และปลอดภัยต่อการถูกปลอมแปลงข้อมูล

ด้วยคุณสมบัติที่สามารถจัดเก็บและเชื่อมโยง ข้อมูลอย่างเป็นระบบ ทำให้สามารถนำมาปรับใช้เพื่อพัฒนาสินค้าและบริการ โดยมีหลายธุรกิจ นำ Blockchain มาใช้งาน เช่น  ธุรกิจการเงินสามารถนำมาต่อยอดในกระบวนการทำงาน ทั้งการเสริมความปลอดภัยในด้านการจัดเก็บข้อมูล และช่วยลดขั้นตอนในการทำธุรกรรมทางการเงิน เช่น หลายธนาคารนำเทคโนโลยี Blockchain มาช่วยในการโอนเงินข้ามประเทศ สามารถลดระยะเวลาจากหลักวัน เหลือเพียง 20 วินาทีเท่านั้น

ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ก็ใช้ Blockchain เข้ามาพัฒนาและสร้างโอกาสในการทำธุรกิจเช่น Smart Contract ที่ช่วยตรวจสอบข้อมูลและลดตัวกลางในการทำสัญญา ไปจนถึงการเปลี่ยนรูปแบบการซื้อขาย แปลงสินทรัพย์เป็น Token และซื้อขายผ่านระบบ ICO (Inital Coin Offering) ซึ่งเป็นระบบการระดมทุนแบบดิจิทัล โดยเสนอซื้อขาย Token ผ่านระบบ Blockchain

ธุรกิจการแพทย์ Blockchain เข้ามามีบทบาทสำคัญในการจัดการข้อมูล ผ่านการเชื่อมโยงเครือข่ายประวัติคนไข้ ทำให้การส่งต่อการรักษา (Refer) สะดวกมากยิ่งขึ้น หรือการสอนหุ่นยนต์กู้ภัย ที่สามารถสอนหุ่นยนต์เพียงตัวเดียว แต่สามารถใช้เทคโนโลยี Blockchain ในการกระจายความรู้ไปสู่หุ่นยนต์ตัวอื่นๆ ได้ ทำให้ลดระยะเวลาการป้อนคำสั่งให้กับหุ่นยนต์ทุกตัว

Blockchain กับ นโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท 

บริษัท คริปโตมายด์ แอดไวเซอรี่ จำกัด (Cryptomind Advisory) ผู้ประกอบธุรกิจที่ได้ ใบอนุญาตที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัล ออกบทความหัวข้อ “ตีแตกนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท พรรคเพื่อไทยทำได้จริงหรือ?”  สรุปถึงข้อดีและความเสี่ยง คือ 

ข้อดีของ Blockchain กับ นโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท

การใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนในการเก็บข้อมูล ทำให้เกิดความโปร่งใสมากขึ้น ปลอดภัยมากขึ้น การโกงยากขึ้น การเก็บข้อมูลที่เชื่อถือได้ และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือความสามารถในการเขียนโปรแกรมลงบน เงิน (Programmable Money) เช่นการกำหนดขอบเขตในการใช้เงินดิจิทัลรัศมีไม่เกิน 4 กิโลเมตร จากทะ เบียนบ้าน หรืออายุการใช้งานจำกัดที่ 6 เดือน เป็นต้น
แม้นโยบายนี้จะจบไปแต่โครงสร้างบล็อกเชนที่ได้ลงทุนสร้างขึ้นมาจะเป็นรากฐานของระบบการ ชำระเงินใหม่ที่จะรองรับอนาคต ยกตัวอย่างเช่น Retail Central Bank Digital Currency (Retail CBDC) ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำลังทำ Pilot test ในวงแคบไม่เกิน 10,000 คน ตั้งแต่ไตรมาส 4 ปีที่แล้ว ซึ่งจะ สิ้นสุดในไตรมาส 3 ปีนี้

ข้อจำกัด ของ Blockchain กับ นโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท

เหตุผลที่ 1: จำนวนธุรกรรมที่ไม่สามารถรองรับได้เพียงพอด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบัน คุณโดม เจริญยศ ผู้ก่อตั้ง Tokenine กล่าวว่า “บล็อกเชนในปัจจุบันรองรับจำนวนธุรกรรมได้อย่างมากเพียง 1,000 ธุรกรรม ต่อวินาทีเท่านั้น ในขณะที่พร้อมเพย์รองรับ 5,000 ธุรกรรมต่อวินาที และแอปฯ เป๋าตัง รองรับได้ 8,000 ธุรกรรมต่อวินาที จากที่เห็นว่าในช่วงที่มีการใช้งานสูง ระบบธนาคารในปัจจุบันยังมีปัญหา การใช้บล็อก เชนที่รับธุรกรรมได้น้อยกว่าหลายเท่าจึงมีปัญหาคอขวดอย่างแน่นอน”

เหตุผลที่ 2: บล็อกเชนของรัฐจะเป็นประเภทที่มีผู้บันทึกและตรวจสอบธุรกรรมมีจำนวนน้อย เพราะ อำนาจในการบันทึกธุรกรรมของประชาชนทั้งประเทศควรถูกดูแลโดยรัฐเท่านั้น ดังนั้นการกระจายตัวของ Back up ที่อยู่ตาม Node ต่าง ๆ จึงมีไม่มากพอที่จะเรียกว่ากระจายศูนย์(Decentralization) เท่ากับ Bitcoin ที่มีหลายหมื่น Node ทั่วโลก

เหตุผลที่ 3: ความโปร่งใสและความเป็นส่วนตัวเป็นเรื่องที่อยู่ขั้วตรงข้ามกัน หากบล็อกเชนของพรรคเพื่อ ไทยเป็นแบบ Public Blockchain ที่ทุกคนสามารถเห็นทุกธุรกรรมที่เกิดบนบล็อกเชนได้ นั่นแปลว่าแม้เลขบัญชีจะไม่ได้ระบุชื่อเจ้าของ แต่ก็สามารถสังเกตพฤติกรรมจนรู้ได้ว่าใครเป็นเจ้าของและสามารถรู้ได้ว่าใคร มีเงินอยู่ในบัญชีเท่าไร ใช้จ่ายอะไรไปบ้างเมื่อเวลากี่โมง เป็นต้น ทำให้ความเป็นส่วนตัวของทุกคนได้หมด ลงไป

ซึ่งถ้าพรรคเพื่อไทยไม่ต้องการเช่นนั้น ก็จะเป็นแบบ Private Blockchain ที่รัฐเป็นผู้รู้การเคลื่อน ไหวทุกธุรกรรมเพียงผู้เดียว ซึ่งจะกลายเป็นระบบที่ไม่ต่างอะไรกับระบบ Database ทั่วไป เพราะ Private Blockchain ที่มีจำนวน Node ดูแลโดยรัฐทั้งหมดสามารถแก้ไขธุรกรรมย้อนหลัง เทคโนโลยีนี้จึงไม่มีจุด เด่นเรื่องความโปร่งใสอย่างที่พรรคต้องการ

ซึ่งเมื่อลองวิเคราะห์ข้อดีอื่น ๆ เช่น การเขียนโปรแกรมลงบนเงิน, การตรวจสอบการโกง หรือการ เก็บข้อมูลเพื่อใช้วิเคราะห์ต่อ “ระบบ Database ที่ใช้ทั่วไปก็สามารถทำได้แล้ว และมีต้นทุนที่ต่ำกว่า มากอีกด้วย” นอกเสียจากว่าต้องการใช้ระบบโครงสร้างบล็อกเชนนี้กับนโยบายอื่นในอนาคต

ดังนั้นการใช้ บล็อกเชนในนโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท อาจจะไม่ตอบโจทย์การใช้งานจริงมากเท่าไหร่หรือ อาจจะเป็นการลงทุนสูงที่มองในระยะยาว เช่นการใช้เป็น Pilot test ในโครงการ CBDC ที่มีวงผู้ใช้งานที่ ใหญ่ขึ้นก็เป็นได้

ในสัปดาห์หน้านี้ 11 ก.ย. 2566  รัฐบาลชุดใหม่ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน จะแถลงนโยบายแล้ว เราคงจะได้เห็นความชัดเจนเกี่ยวกับการพัฒนาระบบบล็อกเชน เพื่อใช้กับนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาทนี้มากขึ้น ที่แน่ๆ รัฐบาลมั่นใจว่า มันต้องดีกว่า แอปเป๋าตัง ของเดิมอย่างแน่นอน 

ที่มา ธนาคารกสิกรไทย  , บริษัท คริปโตมายด์ แอดไวเซอรี่ จำกัด

ชมวีดีโอ 

 

แชร์
บล็อกเชนคืออะไร ? ทำไม 'เงินดิจิทัล 10,000 บาท' ไม่ใช้แอปเป๋าตัง