ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจจบลงไปแล้ว และผลก็ออกมาตามคาด น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ยังได้ไปต่อในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ด้วยคะแนนไว้วางใจ 319 เสียง ไม่ไว้วางใจ 162 เสียง งดออกเสียง 7 เสียง
แต่คำถามที่สำคัญกว่านั้นคือ ประเทศไทยกำลังเดินไปในทิศทางที่ดีขึ้นหรือเปล่า โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ?
หนึ่งในนโยบายหลักของรัฐบาลคือ โครงการดิจิทัลวอลเล็ต ที่ถูกตั้งคำถามหนัก รัฐบาลบอกว่ารับฟังและปรับปรุงนโยบายให้เหมาะสมมาโดยตลอดแม้รูปแบบจะเปลี่ยนไปบ้าง แต่เป้าหมายยังเหมือนเดิม นั่นคือกระตุ้นเศรษฐกิจ และทำให้สังคมไทยเข้าสู่สังคมดิจิทัล ภายในวาระของรัฐบาลชุดนี้ได้เห็นเป็นรูปธรรมแน่นอน
อย่างไรก็ตาม ฝ่ายค้านมองว่าโครงการนี้อาจไม่ได้ช่วยเศรษฐกิจจริงจัง แค่เป็นมาตรการกระตุ้นระยะสั้น และไม่ได้แก้ปัญหาโครงสร้างที่แท้จริง
น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน อภิปรายไม่ไว้วางใจการทำงานของรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เธอมองว่า รัฐบาลนี้ไม่ได้บริหารประเทศด้วยความสามารถ แต่ได้อำนาจมาเพราะโชคช่วย เศรษฐกิจที่แย่ในยุคอดีตนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ว่าแย่แล้ว แต่ในยุคนี้กลับยิ่งเลวร้ายกว่า ความผิดพลาดที่ร้ายแรงที่สุดคือทำให้ประชาชนเริ่มหวนคิดถึงยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งก่อนหน้านี้ถูกมองว่าเป็นช่วงเวลาที่ย่ำแย่ที่สุดทางเศรษฐกิจ
ศิริกัญญาชี้ให้เห็นว่า ปัญหาเศรษฐกิจส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน เกษตรกรรายได้ลดลง ของก็แพงขึ้น แต่รัฐบาลกลับไม่มีแนวทางแก้ไขที่ชัดเจน ปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้น ค่าน้ำมัน ค่าไฟ และต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่รัฐบาลกลับไม่ได้เตรียมมาตรการอะไรไว้รองรับ
ขณะที่ปัญหาของภาคแรงงาน โรงงานและธุรกิจขนาดเล็ก (SMEs) ทยอยปิดตัวลง แถมรัฐบาลยังไม่มีท่าทีจริงจังในการแก้ปัญหาสินค้าจีนที่เข้ามาตีตลาดในประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อธุรกิจไทยโดยตรง นอกจากประชาชนทั่วไปแล้ว นักลงทุนก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ตลาดหุ้นไทยดิ่งลงอย่างหนัก บรรยากาศการลงทุนซบเซา บริษัทใหญ่ๆ กำไรลดลง ขณะที่บางบริษัทที่มีสายสัมพันธ์ทางการเมืองกลับยังทำกำไรได้ดี
ท้ายที่สุด คุณศิริกัญญาสรุปว่า รัฐบาลนี้หมดเวลาพิสูจน์ตัวเองแล้ว ประชาชนให้โอกาสมาพอสมควร แต่ยังไม่มีอะไรเป็นรูปธรรม นโยบายก็วนเวียนกับแนวทางเก่าๆ ซึ่งเธอเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยกำลังเข้าสู่ขาลงอย่างแท้จริง
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ชี้แจงกรณี น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน อภิปรายไม่ไว้วางใจเรื่องภาพรวมเศรษฐกิจว่า อยากให้ประชาชนและประเทศมีความหวัง แม้จะยากลำบาก ซึ่งตนเห็นด้วยว่าเศรษฐกิจไม่ดีจริง ไม่ดีมาอย่างยาวนาน แต่เป็นเพราะโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ไม่สามารถแก้ได้ในปีเดียว
คุณพิชัยยอมรับว่า เศรษฐกิจไทยที่ผ่านมาเติบโตเฉลี่ยในระดับ 1.9% มาเป็นเวลานาน แต่ล่าสุด จากที่เติบโต 2.5% มาเป็น 3.0% ซึ่งก็เพิ่มขึ้นได้ถึง20% จากปีก่อน แม้ว่า GDPของไทยอาจโตไม่เท่าประเทศอื่นปี 68 นี้ตั้งเป้าหมายว่า ต้องไม่ต่ำกว่า 3% ซึ่งเป็นความหวังที่ต้องสู้ให้ได้ และเมื่อดูผลการศึกษาของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เศรษฐกิจไทยจะค่อย ๆ เติบโตอย่างช้า ๆ เป็นลำดับขั้น
ส่วนเรื่องการแก้หนี้ ที่เวทีอภิปรายครั้งนี้คุณพิชัย ให้รายละเอียดถึงแนวทางการซื้อหนี้ประชาชน ที่อดีตนายกฯทักษิณ เคยพูดไว้เมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อนว่า จากหนี้ทั้งหมด 16.3 ล้านล้านบาท เราคงไม่ซื้อทั้งระบบ แต่จะเลือกซื้อเฉพาะส่วนที่เป็นหนี้เสียแล้ว และเลือกลูกหนี้ที่ไม่มีความสามารถในการชำระคืน หรือไม่มีหลักทรัพย์ ธนาคารไม่สามารถตามหนี้ได้ ซึ่งหนี้ตรงส่วนนี้มีปัญหาประมาณกว่า 5 ล้านคน แต่ที่เป็นยอดหนี้น้อยมีอยู่ 3 ล้านกว่าคน หรือกว่า 65 % เราจะทำการซื้อหนี้มาแก้ไขให้ และจะหาทางทำให้หลุดจากเครดิตบูโรโดยมีเงื่อนไข ซึ่งหลังจากนั้นก็สามารถไปติดต่อธนาคารเพื่อขอสินเชื่อได้ ถือเป็นการให้โอกาส การแก้ปัญหาหนี้จะไปที่ตัวเล็ก ๆ ก่อน
รองนายกฯ พิชัย ระุบว่า สินค้าเกษตรของทุกประเทศ เป็นยุทธปัจจัย ถือเป็นความมั่นคงของประเทศ จึงต้องจัดระบบของราคาและการปลูก เพื่อเพิ่มมูลค่าในการส่งออก และเลือกส่งออกสินค้าเกษตรเฉพาะสิ่งที่ต้นทุนดีกว่าในประเทศ และได้ยกตัวอย่าง ข้าว ที่ไทยส่งอออกมากอันดับต้นๆของโลก แต่กลับแทบไม่มีกำไรเลย จึงจำเป็นต้องส่งเสริมให้ปลูกพืชที่สามารถเพิ่มมูลค่าได้
ในภาคอุตสาหกรรม รัฐบาลยังคงรักษาอุตสาหกรรมดั้งเดิม เช่น ยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่ โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งได้รับการลงทุนผ่าน BOI กว่า 1.1 ล้านล้านบาทในปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน รัฐบาลส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ เช่น รถไฟรางคู่และโครงการแลนบริดจ์
สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รัฐบาลผลักดันโครงการดิจิทัลวอลเล็ตเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง โดยเน้นให้เงินเข้าสู่ระบบโดยไม่กระทบเสถียรภาพการเงิน นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาหนี้ภาคประชาชน โดยเน้นปรับโครงสร้างหนี้ของผู้ที่ได้รับผลกระทบรุนแรง และช่วยให้สามารถกลับเข้าสู่ระบบสินเชื่อได้
แม้ว่านายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร จะได้รับความไว้วางใจให้ทำงานต่อไป แต่ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจยังเป็นคำถามใหญ่ที่รัฐบาลต้องไม่ใช่แค่พูด แต่ต้องทำให้เห็นจริง ๆเรามีความหวังกับเศรษฐกิจไทยมากขึ้นหรือยัง? หรือควรเรียกร้องให้มีการปรับแนวทางให้ดีกว่านี้ ก่อนที่ความหวังด้านเศรษฐกิจของคนไทยจะหมดไป?