เราผ่านพ้นเหตุการณ์แผ่นดินไหวใหญ่สะเทือนทั่วประเทศไทย ขนาด 7.7 แมกนิจูดที่มีศูนย์กลางอยู่บริเวณเมืองสะกาย ทางภาคกลางของเมียนมา ความรุนแรงรู้สึกได้ทั้งไทย จีน เวียดนาม
ตลอดคืนที่ผ่านมา กรมอุตุนิยมวิทยาของไทยยังได้รายงานการเกิดการอาฟเตอร์ช็อก จากแผ่นดินไหวกลุ่มรอยเลื่อนสะกาย บริเวณประเทศเมียนม่า พบจำนวน 77 ครั้ง แต่อาฟเตอร์ช็อกที่เกิดขึ้นมีความรุนแรงต่ำ หลายพื้นที่ของประเทศไทยจึงแทบไม่รู้สึกถึงแรงสั่นไหว
ส่วนชีวิตคนกรุงเทพฯที่เต็มไปด้วยตึกสูงมากมาย หลายคนยังหวาดระแวงกับเหตุการณ์ที่ไม่เคยเจอมาก่อนในชีวิต จนทำให้ต้องหาที่นอนใหม่ย้ายจากตึกสูงลงมานอนบ้านหรือภาพที่สวนสาธารณะบางแห่งในกรุงเทพฯก็มีคนมานอนกางเต้นท์
ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากแผ่นดินไหวในประเทศไทย อาจจะยังไม่มีตัวเลขที่ชัดเจนในวันนี้ เพราะนอกจากที่เราเห็นว่ามีตึก สตง.ถล่มมูลค่าการลงทุน 2,000 ล้านบาทแล้ว ยังมีผลกระทบในส่วนอื่นๆอีกที่อาจเกิดตามมา โดยเฉพาะบรรยากาศทางเศรษฐกิจที่เดิมที การบริโภคชะลอตัวลงอยู่แล้ว หนี้ครัวเรือนที่สูง ยอดขายบ้าน/คอนโด ยอดขายรถตกลงอย่างชัดเจน ทำให้นี่คือ โจทย์ใหญ่ที่ยากคูณสอง สำหรับรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) ได้โพสข้อความลงใน FB และประเมินว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวในประเทศไทยอาจส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจในหลายด้าน
เหตุการณ์นี้อาจทำให้นักท่องเที่ยว โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความระมัดระวังสูง เช่น นักท่องเที่ยวชาวจีน ตัดสินใจเลื่อนหรือยกเลิกการเดินทาง อย่างไรก็ตาม นักท่องเที่ยวบางกลุ่มอาจมองว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งเดียวและไม่เกิดซ้ำในระยะสั้น ทำให้พวกเขายังคงเดินทางมาตามแผนที่วางไว้ แต่เปลี่ยนจุดหมายจากกรุงเทพฯ และเชียงใหม่ ไปยังภาคใต้แทน ซึ่งถูกมองว่าปลอดภัยกว่า
ภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ได้แก่ โรงแรม ร้านอาหาร ค้าปลีก และการขนส่ง อย่างไรก็ตาม เมื่อความเชื่อมั่นกลับคืนมา อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวก็จะฟื้นตัวตามไปด้วย
ตลาดคอนโดมิเนียมอาจได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากผู้คนอาจกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของอาคารสูง และต้องรอการตรวจสอบความเสียหายของโครงสร้าง ซึ่งอาจใช้เวลานานขึ้น นอกจากนี้ อุปสงค์ที่ซบเซาอยู่แล้วและมาตรการสินเชื่อที่เข้มงวด อาจทำให้การตัดสินใจซื้อชะลอตัวลงอีก
แม้ว่ากระแสความกังวลจากเหตุการณ์นี้จะค่อย ๆ จางหายไป แต่รัฐบาลควรวางแผนรับมือกับความเสี่ยงจากแผ่นดินไหวในระยะยาว ควรมีการตรวจสอบอาคารสูงเป็นประจำ โดยเฉพาะอาคารเก่าที่มีอายุหลายปี อีกทั้งการส่งเสริมประกันภัยแผ่นดินไหวอาจเป็นอีกทางเลือกสำหรับผู้ที่สามารถรับภาระค่าใช้จ่ายได้
ในระยะสั้น รัฐบาลควรเร่งฟื้นฟูความเชื่อมั่นของประชาชนและนักท่องเที่ยว เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายและเศรษฐกิจ ร้านค้าและศูนย์การค้าอาจเงียบเหงาในช่วงสุดสัปดาห์นี้ แต่หากมีการตรวจสอบโครงสร้างอย่างละเอียดและสร้างความมั่นใจให้ประชาชน กิจกรรมทางธุรกิจน่าจะกลับมาเป็นปกติได้ตั้งแต่วันจันทร์เป็นต้นไป
แน่นอนว่าเหตุการณ์แผ่นดินไหวในครั้งนี้ภาคธุรกิจเองคงไม่ได้รอมาตรการฟื้นฟูจากภาครัฐฯเพียงอย่างเดียว ขณะนี้หลายองค์กรอาคาร ห้าง ร้าน การจัดงานต่างๆ เน้นย้ำเรื่องปลอดภัย เร่งตรวจสอบอาคารสถานที่และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนมั่นใจ โดยสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ TCEB ประกาศว่า แม้จะเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว แต่สถานที่จัดการประชุมและนิทรรศการที่สำคัญของกรุงเทพฯ เช่น ไบเทค อิมแพ็ค และศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ยังคงเปิดให้บริการตามปกติ รวมถึงโรงแรมและสนามบินทั่วประเทศไทยยังคงเปิดให้บริการเป็นปกติเช่นกัน
จากนี้ไปคงต้องประเมินตัวเลขของภาคธุรกิจอย่างใกล้ชิด และหวังว่าความเสียหายทางเศรษฐกิจะจะเป็นเพียงระยะสั้นเท่านั้น