ข่าวเศรษฐกิจ

ตัดสิทธิ์คนรวยรับเงินดิจิทัล สรุปเกณฑ์ใหม่ใครได้-ใครไม่ได้ เช็คที่นี่

25 ต.ค. 66
ตัดสิทธิ์คนรวยรับเงินดิจิทัล  สรุปเกณฑ์ใหม่ใครได้-ใครไม่ได้ เช็คที่นี่

ผลการประชุมครั้งที่ 2 ของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงิน 1 หมื่นบาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ที่มี​​นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เป็นประธาน มีความเห็นเสนอให้ปรับเงื่อนไขการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 2 ส่วนหลัก คือ เกณฑ์ผู้ได้รับสิทธิ์ และ เงื่อนไขการใช้จ่าย โดยข้อเสนอในการประชุมครั้งนี้ จะส่งต่อให้ที่คณะกรรมการชุดใหญ่ ซึ่งมี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ได้ประชุมตัดสินใจในสัปดาห์หน้า  

3 ทางเลือก เสนอคณะกรรมการชุดใหญ่ตัดสินใจ ดังนี้ 

  1. ให้สิทธิเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ผู้มีรายได้น้อย จำนวนราว 15-16 ล้านคน โดยใช้ฐานข้อมูลจากถือผู้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ทางเลือกนี้จะใช้งบประมาณราว 1.5 แสนล้านบาท

  2. ตัดสิทธิ์กลุ่มผู้มีเงินเดือนเกิน 25,000 บาท และ/หรือ ผู้มีบัญชีเงินฝากเกิน 1 แสนบาทออก จะทำให้เหลือผู้ได้รับสิทธิ 43 ล้านคน และใช้งบประมาณราว 4.3 แสนล้านบาท

  3. ตัดกลุ่มผู้มีเงินเดือนเกิน 50,000 บาท และ/หรือ มีบัญชีเงินฝากเกิน 5 แสนบาทออก จะเหลือผู้ได้สิทธิ 49 ล้านคน ใช้งบประมาณราว 4.9 แสนล้านบาท

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ยอมรับว่าในที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯวันนี้ยังมีความเห็นที่แตกต่างกัน และยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้จึงต้องนำเสนอให้คณะกรรมการชุดใหญ่ ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ตัดสินใจในสัปดาห์หน้า

โดยประเด็นที่มีความเห็นต่างแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งตั้งใจที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ จึงต้องการให้คนจำนวนมากเข้าร่วมโครงการได้ อีกส่วนหนึ่งมีข้อเสนอให้ตัดสิทธิ์คนรวยออก ซึ่งทำให้คณะทำงานต้องนิยามความหมาย และวัดระดับของคำว่า “คนรวย" ให้ชัดเจน 

อย่างไรก็ตามหากนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาทนี้รัฐบาลไม่ปรับเงื่อนไข จะทำคนไทยที่มีอายุ 16  ปี ขึ้นไปได้รับสิทธิ์ทุกคน ซึ่งประเมินจำนวนผู้ได้รับสิทธิ์ทั่วประเทศมากกว่า 56 ล้านคน และต้องใช้เงินในการทำโครงการนี้สูงถึง  560,000 ล้านบาท นี่จุดเป็นจุดใหญ่สำคัญที่ทำให้บรรดานักเศรษฐศาสตร์ นักวิชาการ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และอีกหลายสถาบัน ออกมาเรียกร้องให้รัฐฯทบทวนนโยบาย เนื่องจากกังวลผลกระทบต่อวินัยการเงิน การคลังของประเทศไทยในระยะยาว 

คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงิน 1 หมื่นบาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต

เสนอยกเลิกเกณฑ์ต้องใช้จ่ายในรัศมี 4 กิโลเมตร 

นอกจากข้อเสนอการปรับเงื่อนไขผู้ได้รับสิทธิ์แล้ว ที่ประชุมคณะอนุการฯ ยังเสนอปรับเงื่อนไขการใช้จ่ายด้วย จากเดิมกำหนดให้ใช้จ่ายในรัศมี 4  กิโลเมตร ตามทะเบียนบ้าน เสนอใหม่เป็นสามารถใช้ภายในอำเภอได้ จะทำให้พื้นที่ใหญ่ขึ้น และเห็นว่าเป็นพื้นที่ไม่ใหญ่เกินไป มีร้านค้าเพียงพอ โดยสามารถใช้จ่ายในประเภทสินค้าอุปโภคบริโภคเป็นหลัก

สำหรับประเด็นการยืนยันตัวตน เป็นไปตามสิทธิ คือ ครอบคลุมทั้งบุคคลธรรมดา นิติบุคคล กองทุนหมู่บ้าน และวิสาหกิจชุมชน ขณะที่ระบบการขึ้นเงินสามารถทำได้กับร้านค้าระบบภาษี 3 ประเภท ทั้งร้านค้าในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม เงินได้นิติบุคคล และบุคคธรรมดา

รมช.คลัง ยอมรับว่า การเริ่มใช้นโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท  อาจต้องล่าช้าออกไปในระดับหนึ่ง จากเดิมกำหนดไว้เป็นวันที่ 1 ก.พ.2567 อย่างไรก็ตามมองว่า ทำให้มีเวลาเตรียมตัวมากขึ้นทั้งเรื่องระบบความปลอดภัยและ กระบวนการทดสอบระบบ โดยจะให้ธนาคารกรุงไทย ที่มีประสบการณ์เป็นผู้ดำเนินการ ทำให้เป็นแอปพลิเคชั่นใหม่ไม่ใช่แอปเป๋าตัง และยืนยันว่าไม่ได้ใช้งบประมาณมาพัฒนาระบบสูงถึง 1.2 หมื่นล้านบาทแน่นอน

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง

คาดใช้เงินงบประมาณ มาทำโครงการเงินดิจิทัล 

สำหรับแหล่งที่มาของเงินที่จะนำมาใช้ในโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาทนี้ มีหลายแนวทาง รมช.คลัง ยืนยันว่า จะใช้งบประมาณเป็นหลัก โดยจะใช้ปีละราว 1 แสนล้านบาท และ ตั้งงบฯ ผูกพันข้ามปี เช่น หากใช้งบประมาณทั้งหมด 4 แสนล้านบาท ก็จะตั้งงบฯ ผูกพันไป 4 ปี ซึ่งต้องมีการกำหนดเงื่อนไขในการ Cash Out หรือขึ้นเงินจากระบบอีกที  ซึ่งหากคณะกรรมการชุดใหญ่เลือกการใช้งบประมาณ ซึ่งต้องใช้งบฯ ปี 2567 จะทำให้โครงการนี้ล่าช้าออกไป เพราะกว่างบประมาณจะบังคับใช้คือราวเดือน เม.ย.-พ.ค. 2567 จะไม่ทันช่วงสงกรานต์อย่างที่ตั้งใจก่อนหน้านี้ 

นอกจากนี้ในข้อเสนอของที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ ยังมี Option การหาแหล่งเงินอื่นๆอีก ทั้งเงินกู้ กลไกมาตรการกึ่งการคลัง อย่างไรก็ตามการใช้กลไกตามมาตรา 28 ที่จะใช้เงินธนาคารออมสิน มีข้อติดขัดทางกฎหมาย ดังนั้นจะไม่ใช้แนวทางใช้เงินของธนาคารออมสิน

 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT