ในที่สุดนโยบายเรือธงอย่าง เงินดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาทก็ชัดเจนซักที เมื่อวันนี้ นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ประกาศพร้อมเดินหน้า นโยบาย Digital Wallet 10,000 บาทหวังกระตุ้นเศรษฐกิจไทยครั้งใหญ่ให้เติบโต 5%
โดยมีการสรุปเงื่อนไขทั้งคุณสมบัติของผู้ได้รับสิทธิ์ หลังจากถกเถียงกันมาระยะหนึ่ง สรุปแล้วคือ ประชาชนอายุ 16 ปีขึ้นไป มีเงินเดือนต่ำกว่า 70,000 บาท หรือมีเงินในบัญชีรวมกันทุกบัญชีน้อยกว่า 500,000 บาท คือผู้ที่ได้รับเงินดิจิทัลวอลเล็ต
SPOTLIGHT สรุปความชัดเจนของนโยบายเงินดิจิทัล วอลเล็ต กันแบบชัดๆ
เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 ณ ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงผลสรุปการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ครั้งที่ 2/2566 จากเหตุที่เวลานี้ ประเทศไทยต้องกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ เนื่องจาก 10 ปีที่ผ่านมาเติบโตเฉลี่ยเพียง 1.9% รั้งท้ายประเทศในกลุ่มอาเซียน เกิดความเหลื่อมล้ำ หนี้ครัวเรือนสูง ภาคการผลิตอ่อนแอ ปัจจัยภายนอกรุมเร้า ทำให้รัฐบาลจะเร่งดำเนินการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งระยะสั้นและระยะยาว ระยะสั้นเน้นลดค่าใช้จ่ายประชาชน และ หนึ่งในนั้นคือ นโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท โครงการนี้จะสามารถ กระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่มีความสำคัญต่อประเทศไทย จะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัว ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาสให้ประชาชน ได้
-ประชาชนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป
- มีเงินเดือนต่ำกว่า 70,000 บาท หรือมีเงินในบัญชีรวมกันทุกบัญชี น้อยกว่า 500,000 บาท
โดยคิดเป็นจำนวนประชากรผู้ได้รับสิทธิ์จำนวน 50 ล้านคน ถือว่าเป็นไปตามคำแนะนำของธนาคารแห่งประเทศไทยและสภาพัฒน์ฯ นายกฯระบุว่า ตัดสินใจเลือกเกณฑ์นี้ เพราะ คนกลุ่มรายได้ดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากกว่าอีกกลุ่มอย่างมีนัยยะสำคัญ
เพราะเวลานี้คนไทยได้ลงทะเบียนในโครงการที่ผ่านมาแล้วกว่า 40 ล้านคน อีกทั้งยังมีร้านค้าร่วมลงทะเบียนมากถึง 1.8 ล้านราย ดังนั้นการเลือกใช้ ระบบเป๋าตัง จะช่วยลดเวลา ประหยัดงบประมาณ และลดความซ้ำซ้อนในการสร้างและรักษาระบบลงไปได้
ใช้ได้กับร้านค้าที่อยู่ในอำเภอเดียวกับบัตรประชาชนเท่านั้น โดยสามารถใช้ซื้อสินค้าได้ทุกร้านค้า ไม่ได้จำกัดแต่ร้านที่อยู่ในระบบภาษี ไม่จำเป็นต้องจด VAT แต่ต้องมีการลงทะเบียนรับสิทธิ และร้านค้าที่จะขึ้นเงินได้ต้องอยู่ในระบบภาษีเท่านั้น
โครงการดิจิทัลวอลเล็ต จะเริ่มใช้ได้จริงประมาณ เดือนพฤษภาคม 2567 โดยการอัดฉีดครั้งแรกมีระยะเวลา 6 เดือนเพื่อให้เงินมีการหมุนเวียน และสามารถใช้จับจ่ายต่อได้จนถึงเดือนเมษาปี 2570
วงเงินรวมที่ใช้ในโครงการนี้คือ 6 แสนล้านบาท แบ่งเป็น รัฐบาลนำเงิน มาจาก พรบ.การกู้เงิน วงเงิน 500,000 ล้านบาท ผสมกับงบประมาณ 100,000 ล้านบาท ระบุวัตถุประสงค์ของการกู้เงิน ระยะเวลาในการกู้เงิน แผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้ วงเงินที่อนุญาตให้ใช้จ่ายเงินกู้ และหน่วยงานของรัฐ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินแผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้ในโครงการ Digital Wallet
อย่างไรก็ตามรัฐบาลจะทำการกู้เงิน ก็ต่อเมื่อ มีการนำเงินไปใช้และนำมาขึ้นเป็นเงินสด ซึ่งนี่จะเป็นการทำให้เงินในระบบทั้งหมดใหญ่ขึ้นกว่า 500,000 ล้าน ซึ่งจะหมุนเวียนและกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างมีนัยยะ ผสมกับงบประมาณ 100,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการดำเนินโครงการที่กล่าวไปทั้งหมด
“ทุกท่านไม่ต้องห่วงเรื่องของการใช้เงินคืน รัฐบาลจะมีแผนจัดสรรเงินงบประมาณมาเพื่อจ่ายคืนเงินส่วนที่เป็นเงินกู้ตลอดระยะเวลา 4 ปี”นายกฯ กล่าว
นายกรัฐมนตรี ระบุด้วยว่า นโยบาย Digital Wallet ไม่ใช่การสงเคราะห์ประชาชนผู้ยากไร้ แต่เป็นการเติมเงินลงไปในระบบเศรษฐกิจผ่านสิทธิการใช้จ่าย เพื่อให้ประชาชนมีบทบาทร่วมกับรัฐบาล (Partnership) ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ ผ่านสิทธิการใช้จ่าย 10,000 บาท
นอกจากนี้ นายกฯ ยังได้เสนอนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นและระยะยาวเพิ่มเติมจากกระเป๋าเงินดิจิทัล อีก 2 นโยบาย คือ นโยบาย e-refund เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายร้านค้าออนไลน์ และกองทุนเพิ่มขีดความสามารถ เพื่อนำมาต่อยอดอุตสาหกรรมใหม่ๆของประเทศ เช่น ยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมดิจิทัล การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ การพัฒนาบุคลากรและการศึกษา เป็นต้น