ข่าวเศรษฐกิจ

ยอดปฏิเสธสินเชื่อรถใหม่พุ่ง ส่วนยอดขายรถกระบะร่วง 40%

22 ก.พ. 67
ยอดปฏิเสธสินเชื่อรถใหม่พุ่ง ส่วนยอดขายรถกระบะร่วง 40%

กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเปิดเผยข้อมูลอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศไทย ประจำเดือนมกราคม 2567 ทั้งการผลิตและยอดขายในประเทศและส่งออก พบ สถานการณ์หนี้เสียในกลุ่มรถยนต์ที่สูงมากส่งผลให้ยอดการปฏิเสธสินเชื่อรถสูงขึ้นถึง 50% เช่นเดียวกับยอดขายรถโดยเฉพาะรถกระบะที่ร่วงลงอย่างแรง  

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า จำนวนรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตได้ในไทยเดือนมกราคม 2567 มีทั้งสิ้น 142,102 คัน ลดลงจากปีก่อน12.46 % สาเหตุเพราะผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศลดลง 33.62 % โดยหากแบ่งประเภทรถพบว่า การผลิตรถกระบะเพื่อจำหน่ายในประเทศ 19,267 คัน ลดลง 50.89 % ตามยอดขายที่ลดลง 

รองลงมาคือการผลิตรถยนต์นั่งเพื่อจำหน่ายในประเทศ 24,920 คัน  ลดลง 14.68% จากรถยนต์ไฟฟ้านำเข้าที่มียอดจดทะเบียน เดือนมกราคม 2567 จำนวน 13,314 คัน ในขณะที่การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยมีเพียง 652 คัน แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2566 อยู่ที่  11.96%  ส่วนรถจักรยานยนต์เดือนมกราคม 2567 ผลิตได้ทั้งสิ้น 224,589 คัน ลดลงจากปีกอน 5.56 %

การผลิตเพื่อส่งออก เดือนมกราคม 2567 ผลิตได้ 95,110 คัน เท่ากับ 66.93 % ของยอดการผลิตทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2566  3.91% เป็นรถยนต์นั่ง 27,589 คัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 0.63% รถกระบะขนาด 1 ตัน ผลิตได้ 67,521 คัน เพิ่มขึ้น 5.31 %

ทั้งนี้ ส.อ.ท.ยังคงเป้าหมายการผลิตรถยนต์ปี 67 รวมอยู่ที่ 1.9 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 3.17% แยกเป็นผลิตเพื่อการส่งออกที่ 1.15ล้านคัน และการผลิตเพื่อการจำหน่ายในประเทศ 750,000 คัน เพราะคาดหวังจากงบประมาณปี 67 ที่จะออกมาและคิดว่ารถบรรทุกจะกลับมาขายดีในช่วงนี้ 

ยอดขายรถภายในประเทศเดือนมกราคม 2567 ร่วงแรง 

ยอดขายรถยนต์ภายในประเทศของเดือนมกราคม 2567 มีจำนวนทั้งสิ้น 54,814 คัน ลดลงจากเดือนมกราคม 2566 16.42%  เพราะรถกระบะมียอดขายแค่ 14,864 คัน ลดลงถึงร้อยละ 43.47 จากการเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงินเพราะหนี้ครัวเรือนสูงมาก ข้อมูลพบว่ายอดปฏิเสธสินเชื่อรถยนต์มีมากถึง 50% 

ส่วนรถ PPV มียอดขายลดลงร้อยละ 43.86 เพราะยังไม่มีรุ่นใหม่ออกมา ประกอบกับมีรถ SUV แบบ Hybrid ออกใหม่ในราคาจับต้องได้มาเอาส่วนแบ่งตลาดไป และรถบรรทุกขายลดลงร้อยละ 32.01 จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ล่าช้าออกไปหลายเดือน ทำให้การลงทุน การใช้จ่าย และการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลล่าช้าไปด้วย เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวในระดับต่ำตั้งแต่ไตรมาสสี่ปี 2566 แยกเป็น

  • รถยนต์นั่งและรถยนต์นั่งตรวจการณ์ มีจำนวน 34,364 คัน เท่ากับร้อยละ 62.69 ของยอดขายทั้งหมด  เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันในปีที่แล้วร้อยละ 11.59
  • รถยนต์นั่งและรถยนต์นั่งตรวจการณ์สันดาปภายใน (ICE) 14,373 คัน เท่ากับร้อยละ 22 ของยอดขายทั้งหมด ลดลงจากเดือนเดียวกันปีที่แล้วที่ร้อยละ 32.81
  • รถยนต์นั่งและรถยนต์นั่งตรวจการณ์ไฟฟ้า (BEV) 9,763 คัน เท่ากับร้อยละ 81 ของยอดขายทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีที่แล้วที่ร้อยละ 205.48
  • รถยนต์นั่งและรถยนต์นั่งตรวจการณ์ไฟฟ้าผสมแบบเสียบปลั๊ก (PHEV) 98 คัน เท่ากับร้อยละ 18 ของยอดขายทั้งหมด ลดลงจากเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 67.66
  • รถยนต์นั่งและรถยนต์นั่งตรวจการณ์ไฟฟ้าผสม (HEV) 10,130 คัน เท่ากับร้อยละ48 ของยอดขายทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 71.52
  • รถกระบะมีจำนวน 14,864 คัน ลดลงจากเดือนเดียวกันในปีที่แล้วร้อยละ 43.47 รถ PPV มีจำนวน 3,074 คัน ลดลงจากเดือนเดียวกันในปีที่แล้วร้อยละ 43.86
  • รถบรรทุก 5 – 10 ตัน มีจำนวน 1,079 คัน ลดลงจากเดือนเดียวกันในปีที่แล้วร้อยละ 32.01 และรถประเภทอื่นๆ มีจำนวน 1,433 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันในปีที่แล้ว 0.56

ส่วนรถจักรยานยนต์ มียอดขาย 154,003 คัน ลดลงจากเดือนธันวาคม 2566 ร้อยละ 16.34 และลดลงจากเดือนมกราคม 2566 ร้อยละ 3.30

รถไฟฟ้า BEV ป้ายแดงเพิ่มขึ้น 238.71% 

ส่วนยานยนต์ไฟฟ้าป้ายแดงประเภท BEV เดือนมกราคม จดทะเบียนใหม่ 15,943 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคมปีที่แล้วร้อยละ 238.71 ยานยนต์ไฟฟ้าป้ายแดงประเภท HEV จดทะเบียนใหม่มีจำนวน 14,143 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคมปีที่แล้วร้อยละ 83.99 และยานยนต์ไฟฟ้าป้ายแดงประเภท PHEV จดทะเบียนใหม่มีจำนวน 940 คัน ลดลงจากเดือนธันวาคมปีที่แล้วร้อยละ 2.19 ส่งผลให้ ณ วันที่ 31 มกราคม 2567 มียานยนต์ไฟฟ้าจดทะเบียนสะสมประเภท BEV มีจำนวนทั้งสิ้น 147,743 คัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 301.75

การส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปลดลง

เดือนมกราคม 2567 ส่งออกได้ 86,716 คัน ลดลงจากเดือนธันวาคม 2566 ร้อยละ 3.97 และลดลงจากเดือนมกราคม 2566 ร้อยละ 0.08 เพราะส่งออกได้เพียงร้อยละ 91.17 ของยอดผลิตเพื่อส่งออก เพราะเรือมีพื้นที่ไม่เพียงพอจึงส่งออกลดลงในตลาดเอเชีย แอฟริกาและอเมริกาเหนือ 

แยกเป็นรถยนต์สันดาปภายใน ICE 81,763 คัน เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ร้อยละ 4.85 ส่งออกรถยนต์ HEV 4,953 คัน เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ร้อยละ 478.62 มูลค่าการส่งออก 60,567.43 ล้านบาท ลดลงจากเดือนมกราคม 2566 ร้อยละ 14.99  

รถจักรยานยนต์เดือนมกราคม 2567 มีจำนวนส่งออก 82,853 คัน (รวม CBU + CKD) ลดลงจากเดือนธันวาคม 2566 ร้อยละ 8.20 และลดลงจากเดือนมกราคม 2566 ร้อยละ 5.39 โดยมีมูลค่า 5,757.22 ล้านบาท ลดลงจากเดือนมกราคม 2566 ร้อยละ 9.11

รวมมูลค่าการส่งออกรถจักรยานยนต์ เดือนมกราคม 2567 ชิ้นส่วนและอะไหล่รถจักรยานยนต์ 6,124.83 ล้านบาท ลดลงจากเดือนมกราคม 2566 ร้อยละ 9.53 ส่วนมูลค่าการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป เครื่องยนต์ ชิ้นส่วนอื่น ๆ อะไหล่รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ชิ้นส่วน และอะไหล่รถจักรยานยนต์ มีทั้งสิ้น 85,758.71 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ร้อยละ 12.15

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์
รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) 

 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT