เมื่อยอดปฎิเสธสินเชื่อพุ่งสูงถึง 40-60% กระทบต่อยอดขายของภาคอสังหาริมทรัพย์ นักธุรกิจอสังหาฯ จึงได้ออกมาเรียกร้องให้ธปท.ผ่อนเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (Loan-to-Value: LTV) เพื่อเอื้อให้คนกู้บ้านได้ง่ายขึ้นนั้น
วันนี้ SPOTLIGHT จะพามาดูเหตุผลของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ต่อเรื่องนี้ที่เผยแพร่ในรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (ฉบับย่อ) ครั้งที่ 1/2567 ว่า คณะกรรมการ กนง.มีความคิดเห็นต่อเรื่องนี้อย่างไร?
คณะกรรมการกนง.ประเมินว่า เกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (Loan-to-Value: LTV) ของ ไทยในปัจจุบันมีความเหมาะสม
โดยเห็นว่า ข้อเสนอให้พิจารณาผ่อนคลายเกณฑ์ LTV จากองค์กรด้าน อสังหาริมทรัพย์ผ่านกระทรวงการคลัง อาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินและไม่คุ้มกับ ประโยชน์ที่ได้จากการกระตุ้นการซื้อขายในระยะสั้น
ด้วยเหตุผล 3 ประการ ดังนี้
- เกณฑ์ LTV ในปัจจุบันไม่ได้เป็น อุปสรรคต่อการซื้อที่อยู่อาศัยของประชาชนส่วนใหญ่ โดยจากข้อมูล พบว่า เกือบ 90% ของผู้ซื้อที่อยู่ อาศัยไม่ได้ติดเกณฑ์ LTV และสามารถได้รับวงเงินกู้ที่ร้อยละ 100 อยู่แล้ว นอกจากนี้ เกณฑ์ LTV ปัจจุบัน ของไทยที่ 90-100% สำหรับสัญญาแรกมีความผ่อนปรนเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ อาทิ เกณฑ์ LTV ของเกาหลีใต้ สิงคโปร์ และนิวซีแลนด์อยู่ที่ 50-70% 75% และ 80% ตามลำดับ
- ภาวะตลาดที่อยู่อาศัยในปัจจุบันยังสามารถเติบโตได้ โดยยอดขายยังเพิ่มขึ้นสะท้อนจากจำนวนการโอน กรรมสิทธิ์ในขณะที่อุปทานฟื้นตัวสะท้อนจากจำนวนที่อยู่อาศัยเปิดใหม่ อีกทั้ง ดัชนีความเชื่อมั่นของ ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ยังสะท้อนมุมมองการขยายตัวต่อเนื่องในระยะข้างหน้า
- การผ่อน ปรนเกณฑ์ LTV เพิ่มเติม อาจกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงิน ผ่านการเก็งกำไรในภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่ทำให้ราคาที่อยู่อาศัยบางกลุ่มปรับสูงขึ้น ผู้กู้บางรายอาจก่อหนี้เกินตัว อีกทั้งกระบวนการลดหนี้ (deleveraging) ที่เริ่มมีความคืบหน้าไปบ้างอาจถูกกระทบ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะสร้างความเปราะบาง ให้กับระบบการเงินในระยะยาว
ด้วยเหตุผลทั้ง 3 ประการนี้ ก็ชัดเจนแล้วว่า ธปท.คงไม่มีการผ่อนเกณฑ์ดังกล่าว งานนี้คงต้องมาดูผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์จะมีการปรับกลยุทธ์การตลาดอย่างไรให้สามารถเพิ่มยอดขายในปีนี้ได้ ท่ามกลางหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูงเฉกเช่นปัจจุบัน