ข่าวเศรษฐกิจ

หาก 'ทรัมป์' ชนะการเลือกตั้งสหรัฐฯ 2024 เศรษฐกิจสหรัฐฯ และโลก จะไปทางไหน?

15 ก.ค. 67
หาก 'ทรัมป์' ชนะการเลือกตั้งสหรัฐฯ 2024 เศรษฐกิจสหรัฐฯ และโลก จะไปทางไหน?

ในวันที่ 14 กรกฎาคมที่ผ่านมา เกิดเหตุช็อกโลกขึ้น เมื่อ ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ แคนดิเดตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ถูกลอบยิงระหว่างกล่าวคำปราศรัยหาเสียงในเมืองบัตเลอร์ รัฐเพนซิลเวเนีย โดยเขาได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยที่ใบหูขวา ขณะที่ในงานมีผู้เสียชีวิต 2 คน คือ ผู้ที่เข้าร่วมชมการปราศรัย และมือปืนที่ถูกสังหารโดยหน่วยรักษาความปลอดภัย

เหตุลอบยิงในครั้งนี้ ทำให้นักวิเคราะห์หลายฝ่ายคาดว่า เหตุการณ์นี้จะเป็นผลบวกต่อทรัมป์ และอาจทำให้ทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง เพราะทำให้ผู้สนับสนุนฝั่งรีพับลิกันตื่นตัว และทำให้ผู้ที่เป็นกลางหันมาสนับสนุนทรัมป์ที่จะมีภาพลักษณ์ ‘แข็งแกร่ง’ มากขึ้น หลังถูกลอบยิงแล้วรอดชีวิตมาได้

ในวันนี้ SPOTLIGHT จึงอยากชวนทุกคนมาดูนโยบายด้านเศรษฐกิจของทรัมป์กันว่าเป็นอย่างไร และถ้าหากทรัมป์ได้กลับมานั่งตำแหน่งประธานาธิบดีในทำเนียบขาวจริง จะส่งผลกระทบอย่างไรต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลกบ้าง

เงินเฟ้อเสี่ยงพุ่งจากการเพิ่มภาษีนำเข้า-สงครามการค้า

แม้ทั้งพรรครีพับลิกันและเดโมแครตจะมีนโยบายเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน ดังที่จะเห็นได้จากการที่ไบเดนตัดสินใจเพิ่มภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจากจีนจาก 25% เป็นมากกว่า 100% ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา นโยบายกีดกันการค้าของทรัมป์นั้นรุนแรงกว่ามาก และอาจทำให้ราคาสินค้าในสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น

ในการเลือกตั้งครั้งนี้ หนึ่งในนโยบายด้านเศรษฐกิจที่สำคัญของทรัมป์ คือ การเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าทุกชนิด 10% เพราะทรัมป์มองว่า ทุกประเทศในโลกนี้ ไม่ใช่เฉพาะจีน เป็นคู่แข่งทางการค้าของสหรัฐฯ เพราะส่งออกสินค้าราคาถูกเข้ามาให้สหรัฐฯ และทำให้สหรัฐฯ ขาดดุลการค้า โดยในปี 2023 สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าถึง 7.73 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 28 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้ นอกจากสินค้าจากทั่วโลกแล้ว ทรัมป์ยังมีแผนที่จะเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเป็นพิเศษเป็นอย่างน้อย 60% และเก็บภาษีสินค้าจีนที่ผลิตในประเทศอื่นด้วย เช่น การเก็บภาษีนำเข้า 100% กับอีวีจีนที่ผลิตในเม็กซิโก ทำให้บริษัทจีนไม่สามารถใช้กลยุทธ์ตั้งฐานผลิตที่ต่างประเทศเพื่อหลีกกำแพงภาษีได้

นักวิเคราะห์จาก Allianz Research มองว่า การเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าสินค้าทุกชนิดจะทำให้ราคาสินค้าในประเทศเพิ่มขึ้น เพราะผู้นำเข้าและผู้จำหน่ายจะผลักภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้บริโภค และโครงสร้างราคาสินค้าในสหรัฐฯ ที่อ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงในซัพพลายเชนอยู่แล้ว ดังนั้น การเพิ่มภาษีนำเข้าจะส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าอย่างแน่นอน

นอกจากนี้ การศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบของการขึ้นภาษีนำเข้าในปี 2018 ยังชี้ว่า การเพิ่มภาษีนำเข้าทุกๆ 1% จะทำให้ ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เพิ่มขึ้น 0.3-0.6% ด้วย โดย CPI นี้คือตัวเลขที่วัดการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งเป็นตัวที่ชี้ให้เห็นภาวะของเงินเฟ้อ

ดังนั้น นโยบายการเพิ่มภาษีนำเข้าของทรัมป์จะทำให้ราคาสินค้าทุกประเภทเพิ่มขึ้นอย่างน้อยในระยะสั้นแน่นอน โดยเฉพาะสินค้าที่สหรัฐฯ นำเข้าจากจีนเป็นจำนวนมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ อุปกรณ์ในการกระจายเสียงและออกอากาศภาพ คอมพิวเตอร์ และชิ้นส่วนเครื่องจักรในออฟฟิศ ในปี 2023 จีนส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ เป็นมูลค่ารวมถึง 4.27 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 15 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้ หากได้รับตำแหน่งจริง ทรัมป์อาจเลือกขึ้นภาษีสินค้าจีนในกลุ่มที่ไม่ส่งผลกับเศรษฐกิจของสหรัฐฯ แทน เช่น สินค้าสิ่งทอ เพราะปัจจุบันอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ และการทำให้สินค้าที่จำเป็นในอุตสาหกรรมนี้ราคาสูงขึ้นอย่างฉับพลันจะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ มากกว่าผลดี

นอกจากนี้ ทรัมป์ยังมีนโยบายที่จะสนับสนุนให้มีการลงทุนและผลิตสินค้าในประเทศมากยิ่งขึ้น ซึ่งแน่นอนว่ามีต้นทุนสูงกว่าการรับสินค้าที่ผลิตจากต่างประเทศ และมีสิทธิที่จะทำให้ราคาสินค้าภายในประเทศบางประเภทสูงขึ้นไปอีก

ลดภาษีเงินได้เสี่ยงทำงบประมาณขาดดุลรุนแรงขึ้น

นอกจากมาตรการเพิ่มภาษีนำเข้าแล้ว นโยบายที่ทรัมป์เห็นต่างจากไบเดนอย่างชัดเจน คือ นโยบายลดอัตราภาษีเงินได้กับประชาชนและนิติบุคคล โดยในขณะที่ไบเดนต้องการที่จะเพิ่มภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็น 28% ทรัมป์ต้องการที่จะลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 21% เป็นเพียง 15% เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

นักวิเคราะห์มองว่า การลดภาษีเงินได้สำหรับบุคคลจะทำให้ประชาชนมีกำลังซื้อมากขึ้น และการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลอาจทำให้สินค้าสหรัฐฯ เป็นที่ต้องการมากขึ้น และส่งผลดีต่อตลาดหุ้นเพราะจะทำให้บริษัทสหรัฐฯ มีผลประกอบการและผลกำไรที่สูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม การลดการเก็บภาษีเงินได้จะเสี่ยงทำให้สหรัฐฯ มีงบประมาณขาดดุลมากยิ่งขึ้น เพราะจะทำให้รัฐบาลเก็บภาษีได้ลดลง จากที่ปัจจุบันสหรัฐฯ ก็เจอปัญหางบประมาณขาดดุลและปัญหาหนี้สาธารณะรุนแรงอยู่แล้ว โดยในเดือนมิถุนายนปี 2024 สหรัฐฯ ขาดดุลงบประมาณรวมถึง 1.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 47 ล้านล้านบาท และในเดือนมีนาคมมีหนี้สาธารณะรวมถึง 34 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 124.7% ของ GDP

การขาดดุลงบประมาณเรื้อรังและมากขึ้นจะส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศ เพราะนำไปสู่ปัญหาหนี้สาธารณะ ลดความสามารถในการให้บริการประชาชนของภาครัฐ และทำให้ความน่าเชื่อถือทางการเงินของรัฐบาลและประเทศลดลง ส่งให้ต้นทุนในการกู้ยืมในอนาคตสูงขึ้น และอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนในตลาดบอนด์ 

สถานการณ์งบดุลการคลังที่ไม่สู้ดีทำให้นักวิเคราะห์ มองว่า หากสหรัฐฯ ตัดสินใจลดภาษีเงินได้จริง รัฐบาลทรัมป์ก็ต้องหาทางเพิ่มรายได้หรือประหยัดเงิน ทั้งด้วยการเก็บภาษีนำเข้ามากขึ้น และลดการใช้จ่ายในนโยบายบางอย่างที่ต้องใช้งบประมาณสูง เช่น การส่งเงินช่วยเหลือพันธมิตรในสงครามต่างประเทศ 

โดยสำหรับนโยบายการต่างประเทศ ทรัมป์เองมีจุดยืนชัดเจนว่าจะลดการเข้าไปมีส่วนร่วมในเหตุความไม่สงบในโลก ทั้งด้วยการถอนตัวจาก NATO และพยายามจบสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน แม้จะยังไม่เผยว่ามีแผนการจะสร้างความสงบระหว่างสองประเทศอย่างไร

เงินเฟ้อที่จะเพิ่มอาจทำเฟดไม่ลดดอกเบี้ย หรือลดน้อยลง

นโยบายต่างๆ ของทรัมป์ดังที่อธิบายมา มีสิทธิสูงมากที่จะทำให้ภาวะเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ทวีความรุนแรงขึ้น ดังนั้น หากทรัมป์ชนะการเลือกตั้งในครั้งนี้จริง ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด อาจตัดสินใจไม่ลดดอกเบี้ยนโยบายเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ หรือ ลดดอกเบี้ยน้อยครั้งลง และหยุดไซเคิลการลดดอกเบี้ยหากเห็นว่าทรัมป์ตั้งใจที่จะทำตามนโยบายที่ได้ประกาศไว้จริง

ดังนั้น มีความเป็นไปได้สูงว่า ดอกเบี้ยนโยบาย และเงินดอลลาร์สหรัฐจะยังคงเป็นปัจจัยที่กดดันค่าเงินในประเทศอื่นๆ ต่อไปอีกระยะ เนื่องจากเฟดจะคงดอกเบี้ยสูงยาวนานขึ้น 

ทั้งนี้ ก็มีโอกาสเช่นกันที่รัฐบาลทรัมป์จะพยายามเข้าไปแทรกแซงการทำงานของธนาคารกลาง เพราะทรัมป์มักออกตัวไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยของ เจโรม พาวเวลล์ ประธานเฟดคนปัจจุบันกำลังจะหมดวาระการทำงานในเดือนพฤษภาคมปี 2026 เพื่อควบคุมเงินเฟ้อในสมัยที่เขาดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีอยู่เสมอ

 

 

 

อ้างอิง: The Business Times, Vox, Reuters, The New York Times



advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT