ปลายเดือนกรกฎาคมหนึ่งในอีเวนท์ใหญ่ที่ทุกคนรอคอยได้เกิดขึ้นแล้ว นั่นก็คือ ‘การแข่งขันกีฬาโอลิมปิก’ ที่คราวนี้เมืองปารีส ฝรั่งเศส เป็นเจ้าภาพ และกำลังจะมีพิธีเปิดในวันที่ 26 กรกฎาคมที่จะถึงนี้ โดยคาดว่าจะมีนักกีฬาถึง 10,714 คน จาก 206 ประเทศเข้าร่วม
การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเป็นที่รู้กันดีว่าเป็นงานแข่งขันกีฬาที่หลายๆ ประเทศอยากจัด เพราะเป็นอีเวนท์ที่ดึงดูดคนให้เข้าไปท่องเที่ยวและชมการแข่งขันในประเทศ ซึ่งเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมหาศาล และเปิดโอกาสให้ประเทศนั้นๆ แสดงและเผยแพร่วัฒนธรรมให้คนทั่วโลกชมผ่านการถ่ายทอดสด ซึ่งเป็นการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์อีกทางหนึ่ง
แต่ทั้งที่เหมือนจะมีแต่ภาพสวยหรูแบบนี้ การเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกนั้นก็อาจไม่ได้มีแต่ด้านดี และอาจส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจของเจ้าภาพได้เช่นกัน เพราะเป็นงานที่ต้องใช้ค่าใช้จ่ายสูงลิ่ว และตั้งแต่มีการจัดการแข่งขันโอลิมปิกสมัยใหม่มา มีเพียงเจ้าภาพเดียวเท่านั้นที่ได้กำไรจากการจัดงานนี้
ในวันนี้ SPOTLIGHT จึงอยากชวนทุกคนมาดูกันว่าต้นทุนจัดโอลิมปิกนั้นมีอะไรบ้าง? และการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันโอลิมปิกนั้นคุ้มค่าจริงหรือไม่?
เสียเงินเป็นร้อยล้าน งานอาจไม่ได้จัด
ตามกฎของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (International Olympic Committee หรือ IOC) เส้นทางในการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกเริ่มขึ้นจากการยื่นประมูลขอเป็นเจ้าภาพกับ IOC ซึ่งจะเกิดขึ้นประมาณ 7-11 ปีก่อนมีการจัดการแข่งขันจริง
โดยหากประเทศไหนมีความสนใจที่จะเป็นเจ้าภาพ คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งชาติ (National Olympic Committee) ของประเทศนั้น จะต้องจัดทำรายงานแผนการ งบประมาณ และความพร้อมของเมืองที่จะเป็นสถานที่จัดให้แก่ IOC เป็นผู้คัดเลือก
ดังนั้น ต้นทุนแรกของการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก จึงเริ่มต้นจากการจัดทำแผนการจัดการแข่งขันเพื่อส่งประมูลเป็นเจ้าภาพกับ IOC ซึ่งถึงแม้จะไม่มีมูลค่ามากเท่ากับการเตรียมตัวจัดงานจริง ก็สร้างค่าใช้จ่ายให้กับเจ้าภาพเป็นจำนวนมาก เพราะนอกจากเงินประมูลแล้ว การทำรายงานประเมินความพร้อมเพื่อเสนอ IOC ต้องมีการส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ และจ้างที่ปรึกษาด้านต่างๆ เพื่อทำการประเมิน
จากสถิติที่ผ่านมา การจัดทำรายงานและแผนการจัดงานโอลิมปิกจะมีค่าใช้จ่ายสูงถึงประมาณ 50-100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1,800 - 3,600 ล้านบาท แต่ในบางครั้งอาจสูงมากกว่านั้น และที่สำคัญ คือ หากยื่นประมูลแล้วไม่ได้เป็นเจ้าภาพ ประเทศที่ยื่นประมูลก็จะเสียค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ไปเปล่าๆ ด้วย
โดยตัวอย่างประเทศที่ต้องเสียเงินจำนวนมากไปกับขั้นตอนนี้ ก็คือ ‘ญี่ปุ่น’ ที่ลงทุนเงินถึง 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อขอเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกปี 2016 แต่ก็ไม่ได้รับคัดเลือก หรือ ‘แคนาดา’ ที่ตัดสินใจถอนตัวจากการประมูลเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกปี 2024 ไป เพราะมีเงินไม่พอแม้แต่จะดำเนินการประมูลสิทธิเป็นเจ้าภาพ ซึ่งในเวลานั้นต้องใช้เงินถึง 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
เจ้าภาพโอลิมปิกมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง?
ทั้งนี้ เงินที่ต้องใช้ในการประมูลเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก ก็เทียบไม่ได้เลยกับเงินที่เมืองเจ้าภาพต้องใช้เมื่อได้สิทธิเป็นเจ้าภาพแล้ว เพราะที่ผ่านมา IOC มักจะเลือกเจ้าภาพที่มีแผนการจัดงานที่ใหญ่ที่สุด และพร้อมลงทุนลงแรงมากที่สุด เพื่องานโอลิมปิกเสมอ
ดังนั้น ในระหว่างการจัดทำแผนการจัดงานโอลิมปิก ผู้ร่วมประมูลมักจะจัดทำแผนที่มีมูลค่าสูง และในบางครั้งก็สูงเกินตัวอยู่เสมอ ทำให้เมื่อได้รับสิทธิแล้ว เจ้าภาพก็ต้องพยายาม ‘walk the talk’ และลงเงินมหาศาล เพื่อสร้าง ‘โครงสร้างพื้นฐาน’ ต่างๆ ที่จำเป็นในการจัดงานโอลิมปิก ไม่ว่าจะเป็น โรงแรมที่พักที่ต้องมีว่างอย่างน้อย 40,000 ห้องในเมือง ถนนหนทาง ทางรถไฟ และหมู่บ้านนักกีฬา
จากสถิติที่ผ่านมา เจ้าภาพจะต้องใช้เงินปรับปรุงหรือก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานใหม่สำหรับการแข่งขันโอลิมปิกประมาณ 5,000 ถึง 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1.8 แสนล้านบาท ถึง 1.8 ล้านล้านบาท
โดยตัวอย่างเจ้าภาพโอลิมปิกที่ลงทุนกับโครงสร้างพื้นฐานเป็นมูลค่ามากที่สุด คือ เมือง ‘โซชี’ ประเทศรัสเซีย ที่ลงทุนเงินถึง 4.43 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่เกี่ยวกับกีฬาสำหรับโอลิมปิกฤดูหนาวปี 2014 รวมถึง เมือง ‘ปักกิ่ง’ ประเทศจีน ที่ลงทุนเงินถึง 2.25 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสร้างถนน สนามบิน รถไฟใต้ดิน และอื่นๆ เพื่องานโอลิมปิก
ยิ่งไปกว่านั้น อีกหนึ่งไฮไลท์และต้นทุนสำคัญของงานโอลิมปิก ก็คือ การสร้าง ‘สเตเดียม’ เพื่อใช้ทั้งในพิธีเปิด และการแข่งขัน ซึ่งเมื่อดูจากขนาดและดีไซน์ที่ต้องแปลกใหม่แล้ว แน่นอนว่าต้องใช้เงินงบประมาณเป็นจำนวนมากในการออกแบบและก่อสร้าง
โดยหากให้ยกตัวอย่างสเตเดียมที่มีมูลค่าสูงที่สุด ก็คงหนีไม่พ้น ‘สเตเดียมรูปรังนก’ ของจีนที่มีมูลค่าสูงถึง 423 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ ‘โอลิมปิกสเตเดียม’ ของอังกฤษ ที่มูลค่าสูงถึง 767 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเป็นสเตเดียมโอลิมปิกที่มีราคาแพงที่สุดในโลก
ทั้งนี้ นอกจากการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเตรียมเมืองและสถานที่การแข่งขันให้พร้อมรับทัพนักกีฬาและนักท่องเที่ยวแล้ว เจ้าภาพยังต้องจ่าย ‘ค่าดำเนินงาน’ ทั้งด้านการรักษาความปลอดภัย และการจัดการงานให้ราบรื่น ซึ่งแม้ในเวลาปกติจะเป็นสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับต้นทุนในด้านอื่น ในบางสถานการณ์ก็เป็นต้นทุนมหาศาล
เช่น การแข่งขันโอลิมปิกปี 2004 ที่เจ้าภาพคือ กรุง ‘เอเธน’ ประเทศกรีซ ต้องจ่ายค่ารักษาความปลอดภัยถึง 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพราะคนกังวลเรื่องความปลอดภัยกันมากขึ้นหลังจากเกิดเหตุการณ์เครื่องบินชนตึกแฝดในนิวยอร์ก หรือ 9/11 ขณะที่เจ้าภาพการแข่งขันก่อนหน้าคือ เมืองซิดนีย์ ต้องจ่ายเพียง 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
และ เมือง ‘โตเกียว’ ประเทศญี่ปุ่น เจ้าภาพการแข่งขันโอลิมปิกปี 2022 ที่ต้องจ่ายเงินถึง 2.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อรักษาความปลอดภัย และสุขอนามัย ให้แก่นักกีฬาและผู้เข้าร่วม เพราะขณะนั้นยังมีการระบาดของโควิด-19
การเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกคุ้มจริงหรือไม่?
ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกนั้นมีค่าใช้จ่ายมากมาย และทำให้เจ้าภาพส่วนมากของโอลิมปิกต้องใช้เงินระดับพันล้านดอลลาร์สหรัฐขึ้นไปในการจัดงานโอลิมปิก โดยเฉพาะประเทศที่ไม่ได้ร่ำรวย หรือมีโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นในการจัดงานโอลิมปิกพร้อมใช้อยู่แล้ว
โดยตัวอย่างประเทศที่ใช้เงินไปกับโอลิมปิกมากที่สุดก็คือ ‘จีน’ ที่ลงทุนไปทั้งหมดถึง 4.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อจัดงานโอลิมปิกฤดูร้อนปี 2008 และ ‘อังกฤษ’ ที่ใช้เงินถึง 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในการจัดงานโอลิมปิกปี 2012 โดย 4.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นั้นเป็นเงินภาษีจากประชาชน
ถึงแม้ตัวต้นทุนจะมากมายมหาศาลขนาดนี้ ประชาชนและรัฐบาลหลายๆ ประเทศก็ยังต้องการให้ประเทศตัวเองได้รับคัดเลือกเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกอยู่ เพราะมองถึงผลประโยชน์และรายได้ที่ได้จากการจัดงานนั้น ทั้งรายได้จากการถ่ายทอดการแข่งขัน การสร้างงาน การกระตุ้นการท่องเที่ยวและใช้จ่ายในประเทศ และการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานที่จะให้ประโยชน์กับเศรษฐกิจของเมืองในระยะยาว
อย่างไรก็ตาม เป็นตรงนี้เองที่ข้อเท็จจริงขัดกับความคิดคนส่วนมาก เพราะตั้งแต่มีการจัดการแข่งขันโอลิมปิกสมัยใหม่มา มีเจ้าภาพเดียวเท่านั้นที่ได้กำไรจากการจัดงานโอลิมปิก นั้นก็คือ เมือง ‘ลอสแอนเจลิส’ สหรัฐฯ เจ้าภาพงานโอลิมปิกฤดูร้อนปี 1984
โดยการจัดงานแข่งขันโอลิมปิกที่ลอสแองเจลิสนั้น สามารถสร้างผลกำไรได้ทั้งหมด 215 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากรายได้จากการถ่ายทอดสด และต้นทุนในการจัดงานที่ต่ำกว่าเมืองอื่น เพราะ ลอสแอนเจลิสไม่ต้องลงทุนเงินมากกับการสร้างสเตเดียมหรือโครงสร้างพื้นฐาน เพราะมีค่อนข้างพร้อมอยู่แล้ว
นอกจากนี้ ลอสแองเจลิสยังเป็นเมืองเดียวที่ยื่นประมูลเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกในปีนั้น ทำให้สามารถต่อรองราคาประมูลกับ IOC ได้ เพราะเจ้าภาพอื่นที่จัดก่อนหน้านั้นขาดทุนมาตลอด จนหลายๆ ประเทศเริ่มไม่อยากเสี่ยง โดยหนึ่งในเจ้าภาพโอลิมปิกที่ขาดทุนมโหฬารที่สุด ก็คือ
- เมือง ‘มอนทรีออล’ ประเทศแคนาดา เจ้าภาพโอลิมปิกฤดูร้อนปี 1976 ที่ลงเงินไปถึง 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนมากเพื่อสร้างสเตเดียม แต่เมื่อจบงานแล้วทำให้เมืองเป็นหนี้ถึง 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่ใช้เวลาถึง 30 ปีกว่าจะจ่ายหมด
- เมือง ‘เอเธน’ ประเทศกรีซ เจ้าภาพโอลิมปิกปี 2004 ที่ลงเงินไปถึง 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อจัดการแข่งขัน แต่ก็ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ 9/11 จนงานซบเซา ต้นทุนเพิ่ม จนขาดทุนและเป็นหนี้หนักจนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ
- เมือง ‘ปักกิ่ง’ ประเทศจีน เจ้าภาพโอลิมปิกปี 2008 ที่ลงเงินไปกว่า 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ได้รายได้กลับมาเพียง 3.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ยิ่งไปกว่านั้น หลังจากการจัดงานแล้ว ประเทศต่างๆ ยังต้องรับภาระระยะยาวในการบำรุงรักษาสเตเดียมที่สร้างไว้ด้วย โดยสเตเดียมรังนกของจีนนั้นต้องใช้เงินถึง 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีในการบำรุงรักษา
ขณะที่สเตเดียมในหลายๆ เมืองกลายเป็นสนามทิ้งร้าง เช่น สนามแข่งขันในเมืองควิเบก ประเทศแคนาดา ที่ในปี 2024 รัฐบาลต้องใช้เงินถึง 870 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อซ่อมแซมหลังคา จนมีนักวิจารณ์ออกมาเรียกร้องให้ทุบสนามทิ้งเสียเพื่อลดภาระ
โอลิมปิก ต้องมีการบริหารให้มีความคุ้มค่า และยั่งยืนมากขึ้น
จากที่เล่ามา จะเห็นได้ว่าการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกอาจไม่คุ้มค่าอย่างที่หลายๆ คนคิด เพราะแม้จะเป็นงานที่เร่งให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สร้างงานให้กับคนในพื้นที่ และโฆษณาเมืองให้เป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก จากสถิติโอลิมปิกก็เป็นงานที่ต้องใช้เงินมาก อีกทั้งยังเป็นภาระระยะยาวสำหรับเมืองหากเมืองนั้นไม่ได้มีโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมสำหรับการจัดงานอยู่แล้ว ทำให้ในอนาคตเจ้าภาพต้องคิดถึงความคุ้มค่าเป็นประโยชน์ที่เมืองจะได้เป็นสำคัญ
ดังนั้น ในปัจจุบัน จึงมีการเรียกร้องให้ IOC ปรับเกณฑ์เลือกเจ้าภาพใหม่ โดยเน้นที่ความพอประมาณและการใส่ใจสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น เช่น การเลือกเมืองที่มีมีแผนชัดเจนในการจัดการโครงสร้างพื้นฐานให้มีประโยชน์แก่เมืองในระยะยาวหลังจากงานแข่งขันโอลิมปิกผ่านไปแล้ว แทนที่จะเลือกเจ้าภาพที่เสนอแผนจัดงานยิ่งใหญ่ที่สุด แต่เป็นการใช้เงินงบประมาณเกินตัวจนทำประชาชนเดือดร้อน
โดยอย่าง เมือง ‘ปารีส’ ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูร้อนในปีนี้ เองก็เน้นการใช้โครงสร้างพื้นฐานและสเตเดียมที่มีอยู่แล้วแทนการสร้างใหม่ถึง 95% รวมถึงเกลี่ยการจัดการแข่งขันไปเมืองอื่น เช่น ลียง มาร์กเซย์ และนีซ ไม่ได้จัดแค่เพียงในปารีส เพื่อกระจายรายได้ และลดความแออัดในเมืองปารีสลง
อ้างอิง: CFR, Investopedia, Athlonsports