ข่าวเศรษฐกิจ

แบงก์ชาติยืดชำระขั้นต่ำบัตรเครดิต คงไว้ 8% จนถึงสิ้นปี 68 จบหนี้ 7 ปี

3 ส.ค. 67
แบงก์ชาติยืดชำระขั้นต่ำบัตรเครดิต คงไว้ 8% จนถึงสิ้นปี 68  จบหนี้ 7 ปี

ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยที่ยังอยู่ในระดับสูงมีจำนวนมากกว่า 90% ของ GDP ไทยนั้น ไม่ใช่แค่เพียงกลุ่มเปราะบางที่มีรายได้น้อย หนี้สูงเท่านั้น กลุ่มผู้มีรายได้ระดับกลาง ผู้ที่เข้าถึงสินเชื่อของสถาบันการเงินไทย ก็ยังมีความน่าเป็นห่วงเช่นกัน ในสถานการณ์เศรษฐกิจไทยที่ดูยังไม่ฟื้นเท่าไหร่นัก สำนักวิจัยเศรษฐกิจต่างๆ ได้ออกมาคาดการณ์ถึง GDP ไทยในปีนี้ที่ระดับกว่า 2% ไม่ถึง 3% นั้น นับเป็นความเสี่ยงที่ประชาชนทั่วไปจะได้รับผลกระทบอย่างหนักขึ้น

ล่าสุด ณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีการประชุมซึ่งมีความเห็นว่า ปัจจุบันยังคงมีลูกหนี้กลุ่มเปราะบางที่ต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติม เนื่องจากรายได้ที่ยังฟื้นตัวกลับมาไม่เต็มที่ จึงเห็นควรปรับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ในปัจจุบัน ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ยิ่งขึ้น 

โดยนายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยว่า ตามที่ ธปท. ได้ออกมาตรการทางการเงินเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ในการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนมาอย่างต่อเนื่อง ที่ประชุม จึงเห็นควรปรับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ในปัจจุบัน ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ยิ่งขึ้น 

มีรายละเอียด ดังนี้  

  1. การผ่อนชำระขั้นต่ำ (minimum payment) ของบัตรเครดิต

    1.1   ผ่อนปรนอัตราการผ่อนชำระขั้นต่ำของบัตรเครดิต โดยกำหนดให้ยังคงอยู่ที่ 8% ออกไปอีก 1 ปี จนถึงสิ้นปี 2568 จากเดิมที่กำหนดให้อัตราดังกล่าวกลับสู่เกณฑ์ปกติที่ 10% ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 เพื่อช่วยลดภาระการจ่ายชำระหนี้และรักษาสภาพคล่องให้ครัวเรือนโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ทั้งนี้ ธปท. จะติดตามและประเมินผลของมาตรการอย่างใกล้ชิดเพื่อพิจารณาอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำที่เหมาะสมต่อไป

    1.2   ลูกหนี้ที่ผ่อนชำระหนี้ขั้นต่ำมากกว่าหรือเท่ากับ 8% จะได้รับเครดิตเงินคืนเทียบเท่าดอกเบี้ย 0.5% ของยอดค้างชำระ สำหรับครึ่งปีแรก และ 0.25% สำหรับครึ่งปีหลัง ของปี 2568 โดยได้รับคืนทุก 3 เดือน เพื่อจูงใจให้ลูกหนี้ปิดจบหนี้เร็วขึ้นและมีภาระดอกเบี้ยทั้งสัญญาลดลง

    1.3   ลูกหนี้ที่เดิมจ่ายขั้นต่ำที่ 5% แต่ไม่สามารถจ่ายได้ถึง 8% สามารถใช้สิทธิปรับโครงสร้างหนี้ก่อนเป็นหนี้เสีย โดยเปลี่ยนประเภทหนี้ของบัตรเครดิตไปเป็นสินเชื่อระยะยาว (term loan) เพื่อจ่ายชำระเป็นงวด โดยลูกหนี้จะยังมีโอกาสได้สภาพคล่องจากวงเงินบัตรเครดิตส่วนที่เหลือ ทั้งนี้ ธปท. กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตต้องเสนอเงื่อนไขที่เป็นประโยชน์แก่ลูกหนี้เพิ่มเติมด้วย เช่น ลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่ง ธปท. จะดำเนินการเพื่อให้มีผลบังคับใช้ภายในเดือนกันยายน 2567

  1. การรวมหนี้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อรายย่อย (Debt Consolidation)

    ธปท. ส่งเสริมให้สถาบันการเงิน (สง.) และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ด้วยการรวมหนี้บ้านและสินเชื่อรายย่อยได้มากขึ้น โดยผ่อนปรนเงื่อนไขอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยต่อมูลค่าหลักประกัน (loan-to-value ratio) ในทุกลำดับสัญญาสำหรับกรณีรวมหนี้ ให้สามารถเกินกว่าเพดานที่กำหนด โดยผู้ให้บริการที่เป็นผู้รวมหนี้ต้องดูแลให้ภาระของลูกหนี้ภายหลังการรวมหนี้บรรเทาลงกว่าก่อนรวมหนี้ เช่น อัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าเดิม และค่างวดที่ต้องชำระต่ำกว่าค่างวดรวมที่เคยจ่าย โดยมาตรการดังกล่าวจะสิ้นสุดในปี 2568

  1. การให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีปัญหาหนี้เรื้อรัง (Persistent Debt) ภายใต้หลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending)

    ธปท. ขยายระยะเวลาการปิดจบหนี้จากภายใน 5 ปี เป็น 7 ปี (อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 15% ต่อปีเท่าเดิม) เพื่อให้ค่างวดที่ลูกหนี้ต้องชำระปรับลดลง และลูกหนี้จะยังมีโอกาสได้สภาพคล่องจากวงเงินสินเชื่อส่วนที่เหลือ รวมถึงกำหนดให้ผู้ให้บริการต้องให้ข้อมูลเพื่อกระตุกพฤติกรรม (nudge) ลูกหนี้เพิ่มเติม เช่น สื่อสารข้อดีข้อเสียของการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ แสดงตารางข้อมูลระยะเวลา การผ่อนชำระพร้อมภาระดอกเบี้ย โดยมาตรการจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป   

สำหรับลูกหนี้ในกลุ่มเปราะบางที่ยังมีภาระหนี้สูงและมีปัญหาสภาพคล่อง ธปท. ยังมีมาตรการที่กำหนดให้ผู้ให้บริการทางการเงินเข้าช่วยเหลือเพื่อช่วยลดภาระลูกหนี้ให้มีสภาพคล่องเพียงพอต่อการดำรงชีพ เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ก่อนเป็นหนี้เสียอย่างน้อย 1 ครั้งและหลังเป็นหนี้เสียอย่างน้อย 1 ครั้ง ภายใต้หลักเกณฑ์ Responsible Lending รวมถึงการปรึกษาปัญหาหนี้กับหมอหนี้ และโครงการคลินิกแก้หนี้ โดย ธปท. จะติดตามประสิทธิผลและผลข้างเคียงของมาตรการอย่างใกล้ชิด และจะพิจารณาปรับมาตรการ
ให้เหมาะสมกับสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม การที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกมาตรการใหม่เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีปัญหาหนี้สิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ มาตรการเหล่านี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อลดภาระหนี้สินของประชาชน และช่วยให้ทุกคนสามารถบริหารจัดการทางการเงินได้ดียิ่งขึ้น

โดยประโยชน์ที่ลูกหนี้จะได้รับ มีดังนี้

  • ลดภาระค่าใช้จ่าย: การผ่อนปรนการชำระหนี้และการได้รับเงินคืน จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายรายเดือนและทำให้การบริหารจัดการทางการเงินง่ายขึ้น
  • โอกาสในการแก้ไขปัญหาหนี้: มาตรการเหล่านี้เปิดโอกาสให้ผู้ที่มีปัญหาหนี้สินสามารถแก้ไขปัญหาได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีหนี้หลายประเภท
  • ความมั่นคงทางการเงิน: การลดภาระหนี้จะช่วยเพิ่มความมั่นคงทางการเงินให้กับผู้กู้ และทำให้สามารถวางแผนอนาคตได้อย่างมั่นใจมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม มาตรการเหล่านี้มุ่งเน้นไปที่ผู้กู้ที่มีปัญหาหนี้สิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีรายได้น้อยและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์เศรษฐกิจ สำหรับมาตรการบางอย่างมีระยะเวลาจำกัด ดังนั้น ผู้ที่สนใจควรศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม และการเข้าร่วมโครงการอาจมีเงื่อนไขบางประการ ผู้สนใจควรสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมจากสถาบันการเงินที่ตนเองเป็นลูกค้า

สรุปแล้ว : มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของ ธปท. เป็นสัญญาณที่ดีที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับปัญหาหนี้สินของประชาชน และต้องการช่วยเหลือให้ทุกคนสามารถก้าวผ่านวิกฤตนี้ไปได้ หากคุณกำลังประสบปัญหาหนี้สิน ควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับมาตรการเหล่านี้ และปรึกษาสถาบันการเงินเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมกับตนเอง

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT