ข่าวเศรษฐกิจ

โฉมหน้าทีมเศรษฐกิจของครม.ชุดใหม่ เอกชนหวังรัฐอัดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ

4 ก.ย. 67
โฉมหน้าทีมเศรษฐกิจของครม.ชุดใหม่ เอกชนหวังรัฐอัดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ

ภาคเศรษฐกิจจับตาการทำงานของรัฐบาลใหม่ที่นำโดย นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ภายหลังจากเศรษฐกิจไทยเติบโตชะลอตัวลงในช่วง10 ปีที่ผ่านมา บวกกับความท้าทายทางเศรษฐกิจที่กำลังส่งผลต่อคนไทยทั้งประเทศ ทั้งภาคประชาชน นักลงทุน นักธุรกิจ การปรับเปลี่ยนทางการเมืองครั้งนี้จึงถูกคาดหวังว่า จะสามารถช่วยฟื้นฟูสถานการณ์เศรษฐกิจไทยให้แข็งแกร่งขึ้นกว่าเดิมได้ 

โฉมหน้าทีมเศรษฐกิจของครม.ชุดใหม่ เอกชนหวังรัฐอัดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ

สำหรับรายชื่อครม.อุ๊งอิ๊งค์ 1 มีจำนวน 35 คนประกอบไปด้วย

1.นายภูมิธรรรม เวชยชัย เป็นรองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
2.นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นรองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
3.นายอนุทิน ชาญวีรกูล เป็นรองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
4.นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นรองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
5.นายพิชัย ชุณหวชิร เป็นรองนายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
6.นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เป็นรองนายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัล
7.นายชูศักดิ์ ศิรินิล เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
8.นางสาวจิราพร สินธุไพร เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
9.พลเอก ณัฐพล นาคพาณิชย์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม
10.นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
11.นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
12.นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
13.นายสรวงศ์ เทียนทอง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
14.นายวราวุธ ศิลปอาชา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
15.นางสาวศุภมาส อิศรภักดี เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
16.นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
17.นายอิทธิ ศิริลัทธยากร เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
18.นายอัครา พรหมเผ่า เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
19.นางมนพร เจริญศรี เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
20.นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
21.นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
22.นายพิชัย นริพทะพันธุ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
23.นายนภินทร ศรีสรรพางค์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์
24.นายสุชาติ ชมกลิ่น เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์
25.นายทรงศักดิ์ ทองศรี เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
26.นางสาวซาบีดา ไทยเศรษฐ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
27.นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
28.พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
29.นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
30.นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม
31.พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
32.นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
33.นายสมศักดิ์ เทพสุทิน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
34นายเดชอิศม์ ขาวทอง เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข
35.นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

ทีมเศรษฐกิจ ความหวังดิจิทัลวอลเล็ต ต้องเป็นจริง! 

หน้าตา ครม.เศรษฐกิจ ของนายกฯแพทองธาร อาจไม่ต่างจากอดีตครม.ของนายกฯเศรษฐา มากนัก โดยในฝั่งของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการะทรวงการคลัง ยังถูกนำทัพโดย คุณพิชัย ชุณหวชิร รวมถึงกระทรวงเศรษฐกิจที่สำคัญทั้งกระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม ล้วนแล้วแต่เคยผ่านประสบการณ์ในการบริหารเศรษฐกิจมาแล้วทั้งสิ้น ดังนั้น โจทย์สำคัญน่าจะอยู่ที่การออกนโยบายและการนำไปปฏิบัติใช้ให้เกิดผลตรงต่อเศรษฐกิจไทยในเวลานี้ 

แน่นอนว่า ภารกิจเร่งด่วนของรัฐบาลใหม่โดยเฉพาะทีมเศรษฐกิจ คือ การเดินหน้านโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ที่จะต้องเร่งดำเนินการให้ทันการใช้งบประมาณประจำปี  2567 ภายใน 30 กันยายนนี้ ซึ่งเหลืออีกไม่ถึง 1 เดือน ทำให้มีการประเมินว่า รัฐบาลอุ๊งอิ๊งค์ 1 ต้องใช้วิธีให้เป็นเงินสดผ่านแอปพลิเคชั่นเป๋าตัง รายละ 10,000 บาท และเจาะกลุ่มที่มีข้อมูลพร้อมนั่นคือ ผู้ลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และ ผู้พิการ รวม  14 ล้านคน  ส่วนกลุ่มที่ลงทะเบียนผ่านแอปฯทางรัฐ ก็ต้องรอรัฐบาลใหม่มาเคลียร์ให้ชัดเจนด้วยว่า จะดำเนินการอย่างไรต่อไป รวมทั้งงบประมาณที่จะนำมาใช้ในโครงการทั้งหมดจะเพียงพอและทันตามห้วงเวลาที่วางไว้หรือไม่  

img_0865

กกร.เตรียมเสนอสมุดปกขาวต่อครม.ชุดใหม่เดือนหน้า

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยถึงกรณีที่มีครม.ชุดใหม่ว่า มีความยินดีที่รัฐบาลสามารถจัดตั้งคณะรัฐมนตรีได้อย่างรวดเร็ว พร้อมเดินหน้าแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศได้ ซึ่งสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและสมาคมธนาคารไทย ได้มีโอกาสเข้าพบท่านนายกรัฐมนตรีเพื่อนำเสนอแนวทางในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ 

ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ซึ่งมีโรงงานปิดตัวเพิ่มขึ้นในช่วง 7 เดือนแรกกว่า 757 แห่งมีหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง เศรษฐกิจนอกระบบมีขนาดใหญ่ ที่ประชุม กกร. จึงได้เร่งจัดทำสมุดปกขาว นำเสนอความคิดเห็นและข้อเสนอต่อรัฐบาลเพื่อพิจารณาเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า 

ทั้งนี้ หนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง เศรษฐกิจนอกระบบมีขนาดใหญ่ ที่ประชุม กกร. จึงได้เร่งจัดทำสมุดปกขาว นำเสนอความคิดเห็น และ ข้อเสนอต่อรัฐบาลเพื่อพิจารณาเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนหน้า ซึ่งปัจจุบันมีความคืบหน้าไปแล้ว 90%

คุณผยง ยังกล่าวอีกว่า " ในฐานะ กกร.พร้อมสนับสนุนรัฐบาล ถือเป็นสัญญาณที่ดีที่ทางภาครัฐสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้อย่างรวดเร็ว สะท้อนไปยังตลาดทุน ตลาดหุ้น ซึ่งทำให้เกิดความเชื่อมั่น โดยสิ่งที่อยากเห็น คือ การส่งผ่านเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็ว โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางให้เร็วที่สุด สร้างความกระชุ่มกระชวยต่อฐานล่าง ร้านค้าชุมชน ผู้ประกอบการ เพื่อเพิ่มกำลังซื้อ ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ"

ประธานหอการค้ามองรัฐบาลมีเอกภาพ

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า พรรคร่วมรัฐบาลมีความเป็นเอกภาพ และ มีเสียงในสภาเป็นสิ่งที่เพียงพอแล้ว แต่ยังต้องติดตามว่าใครจะเป็นหัวหน้าทีมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ เนื่องจากเศรษฐกิจเป็นเครื่องยนต์ที่สำคัญ 

โดยต้องทำงานร่วมกับกับภาคเอกชนอย่างใกล้ชิด โดยทางกกร. พร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับภาครัฐบาล เนื่องจากกกร. ทำงานเป็นเอกภาพเช่นเดียวกัน ซึ่งทางกกร. พร้อมนำเสนอสมุดปกขาวให้กับรัฐบาลอย่างเร็วที่สุด

สภาอุตฯ หวังรัฐบาลช่วยเหลือสภาพคล่อง SME

นายทวี ปิยะพัฒนา รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เผยว่า ครม. ชุดนี้มีความเข้าใจถึงปัญหาที่ทางภาคอุตสาหกรรมประสบ โดยเฉพาะค่าไฟที่ต้องจ่ายให้กับกกพ. ประมาณ 3-4 หมื่นล้านบาท ซึ่งเมื่อวานนี้ทางรัฐบาลกำลังพิจารณาที่จะคืนเงินดังกล่าวให้กับภาคอุตสาหกรรม โดยเงินดังกล่าวจะมาช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับภาคอุตสาหกรรมต่อไป

SCB เชื่อรัฐมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ อยากเห็นแผนระยะกลาง-ยาว

คุณกฤษณ์ จันทโนทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ เผยว่า แนวนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ว่า ขณะนี้รัฐบาลยังไม่มีการแถลงนโยบายเศรษฐกิจอย่างเป็นทางการ แต่เชื่อว่าจะต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นออกมาเพื่อช่วยเหลือกลุ่มที่ได้รับความเดือดร้อน 

สิ่งสำคัญ คือ หลังจากกระตุ้นแล้ว มาตรการระยะกลางและยาวเพื่อต่อยอดให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดคุ้มค่ากับเงินที่ใช้ไป และเสริมสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคตซึ่งควรจะเป็นมาตรการเฉพาะจุด ไม่ใช่ในวงกว้างมากๆ

"เราไม่อยากให้มาตรการกระตุ้นเป็นแค่จุดพลุวูบเดียวก็หายไป แต่ต้องมี 2 มี 3 ต่อไปด้วยว่าจะต่อยอดไปอย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสถด ช่วยลดความไม่สมดุลที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืน ไม่อย่างนั้นก็เป็นแค่จุดพลุแป๊บเดียวก็จบไป"

สำหรับในส่วนของธนาคารพาณิชย์นั้น ในสภาวะที่เศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนทั้งจากปัจจัยในประเทศและนอกประเทศ ธนาคารจึงยังคงมีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ รวมถึงการดูแลคุณภาพหนี้เป็นหลัก มากกว่าการขยายสินเชื่อโดยคาดว่าสินเชื่อปีนี้จะเติบโตแบบ Low Single Digits 

อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์แบบนี้ธนาคารพาณิชย์ต่างก็มีความเข้มงวดในการปล่อยกู้กันทั้งนั้น ผนวกกับการดูแลหนี้อย่างเหมาะสมทั้งการติดตามและการขายหนี้ออกไป รวมไปถึงพยายามปรับโครงสร้างหนี้ตั้งแต่เนิ่นๆ 

โดยบางส่วนก็ถือเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากเพราะเป็นส่วนที่เข้ามาตั้งแต่ช่วงโควิดฯและยังไม่ฟื้นตัว แต่อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าด้วยการพิจารณาสินเชื่ออย่างระมัดระวัง การตั้งสำรอง-การดูแลตัวเองอย่างเหมาะสมทำให้ธนาคารพาณิชย์โดยรวมยังแข็งแกร่ง

5 โจทย์แก้ปัญหาเศรษฐกิจเฉพาะหน้า “Quick Win Policy”

ด้านดร.ธนิต  โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (ECONTHAI) มองความท้าทายของรัฐบาลใหม่คือการแก้ปัญหาเศรษฐกิจไทยที่ทรงกับทรุดท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ไม่เอื้อและปัญหาความขัดแย้งในภูมิภาค เศรษฐกิจในประเทศที่เป็นโจทย์ยากและต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแบบ “Quick Win” คือเศรษฐกิจระดับชาวบ้านที่ติดกับดักหนี้ครัวเรือน ขณะที่ธุรกิจโดยเฉพาะรายเล็ก-รายน้อยและ SMEs ขาดสภาพคล่องและภาระหนี้ที่พุ่งสูง

ดังนั้นจึงเสนอ 5 โจทย์แก้ปัญหาเศรษฐกิจเฉพาะหน้าหรือ “Quick Win Policy” ที่รัฐบาลควรเร่งดำเนินการ ได้แก่

1.โครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตที่เปลี่ยนเป็นจ่ายเงินสดผ่านแอปพลิเคชั่นและปรับลดวงเงินเหลือ 1.45 แสนล้านบาท ให้เฉพาะกลุ่มคนเปราะบางจำนวน 14.5 ล้านคน ถึงเวลานี้รัฐบาลเดินหน้าจนถอยไม่ได้เพราะประชาชนไม่มีทางเลือกโดยเฉพาะผู้ที่ประสบปัญหาน้ำท่วม แต่สิ่งที่ต้องระมัดระวังคือประชาชนเสพติดกับนโยบาย และแนวโน้มคนเปราะบางที่เพิ่มขึ้น  

2.เร่งแก้หนี้ปรับโครงสร้างหนี้ทั้งภาคครัวเรือนและหนี้ธุรกิจโดยเฉพาะ SMEs ให้สามารถกลับมาเดินหน้าได้ อาจตั้งกองทุนเฉพาะกิจเพื่อมาอุ้มหนี้หรือผลักดันให้ธนาคารพาณิชย์ลดวงเงินส่งเข้ากองทุน FIDF เหลือลดลงครึ่งหนึ่ง (จากที่ต้องส่งร้อยละ 0.46 – 0.47)  เป็นกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ปัจจุบันมีหนี้คงค้างประมาณ 5.908 แสนล้านบาท ระยะเวลาที่ลด 5 ปีโดยนำเงินไปลดหนี้และชะลอการยึดทรัพย์เพื่อให้ธุรกิจที่พอมีศักยภาพสามารถเดินหน้าหรือปล่อยสินเชื่อเพิ่มเติม

3.แพ็คเกจช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการ SMEs และรายเล็ก-รายน้อยรวมถึงประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมซึ่งกลายเป็นวิกฤตครั้งใหญ่ เบื้องต้นความเสียหายเฉียดหมื่นล้านบาทกระทบทั้งภาคเกษตรกรรม บริการและอุตสาหกรรมมีผลต่อการประกอบอาชีพและกระทบต่อกำลังซื้อของประเทศในสภาวะซึ่งเศรษฐกิจเปราะบางอยู่ก่อนแล้วให้ทรุดหนักกว่าเดิม

4.ชะลอการปรับค่าจ้าง 400 บาท ในวันที่ 1 เดือนตุลาคม จากการที่ รมว.กระทรวงแรงงานหลังจากตั้งรัฐบาลชุดใหม่ประกาศจะเดินหน้านโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศตามกำหนดการเดิมตั้งแต่รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน แต่อาจจะมีการพิจารณาปรับบางกลุ่มอาชีพหรือตามขนาดสถานประกอบการ ในสภาวะเศรษฐกิจที่เปราะบางจากกำลังซื้อในประเทศที่ชะลอและการส่งออกที่ขยายตัวยังไม่ได้อยู่ในระดับสูง อีกทั้งภาวะน้ำท่วมครั้งใหญ่ทำให้ภาคธุรกิจมีความอ่อนแอควรจะมีการชะลอการปรับค่าจ้างไปก่อน เนื่องจากจะยิ่งเป็นการซ้ำเติมให้สถานประกอบการแข่งขันได้ยากโดยเฉพาะด้านส่งออกและสินค้าจีนราคาถูกจะเข้ามาแย่งตลาดในประเทศ

5.ปกป้องธุรกิจและอาชีพคนไทยจากการทุ่มตลาดสินค้าจีนที่ Over Supply จากภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัวอัตราการว่างงานคนหนุ่ม-สาวสูงถึงร้อยละ 17 รวมถึงการกีดกันนำเข้าจากสหรัฐฯ และยุโรป ทำให้สินค้าล้นตลาดทะลักเข้ามาในไทยทั้งออฟไลน์และออนไลน์ควรมีมาตรการตอบโต้ทุ่มตลาดและมาตรการปกป้องนำเข้าสินค้าราคาถูก (Anti-Dumping & Safeguard Measures)

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT