“แม้อุปสงค์ทองคำในภาคธนาคารกลางจะคิดเป็นสัดส่วนเพียง 10% ของอุปสงค์ทองคำทั้งหมด อย่างไรก็ดี แรงซื้อทองคำจากภาคธนาคารกลางถือว่ามีบทบาทสำคัญเพราะจะสะท้อนถึงความเชื่อมั่นต่อการลงทุนทองคำในสายตาของธนาคารกลางทั่วโลกได้เป็นอย่างดี”
อันที่จริงแล้วเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ (Foreign Exchange Reserves) ซึ่งหมายความถึงสินทรัพย์ต่างประเทศที่ถือครองหรืออยู่ภายใต้การควบคุมโดยธนาคารกลางของแต่ละประเทศ ทั้งนี้ เงินทุนสำรองระหว่างประเทศประกอบไปด้วยเงินตราต่างประเทศต่างๆ เช่น ดอลลาร์สหรัฐ ยูโร ปอนด์ เยน และหยวน นอกจากนี้ยังมีพันธบัตรรัฐบาล สิทธิพิเศษถอนเงิน (Special Drawing Rights: SDR) และสินทรัพย์ส่งสมทบกองทุนการเงินระหว่างประเทศอีกด้วย และแน่นอนว่าทองคำถือหนึ่งในสินทรัพย์ที่อยู่ในเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเช่นกัน
หากถามว่าสัดส่วนของทองคำในเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของธนาคารกลางทั่วโลกอยู่ที่เท่าใด ก็ต้องบอกว่าคิดเป็นสัดส่วนที่ไม่น้อยเลยทีเดียว ที่สำคัญ คือ สัดส่วนของทองคำในเงินทุนสำรองระหว่างประเทศทั่วโลกมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น สวนทางกับสัดส่วนของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลง
จากข้อมูลของ World Gold Council พบว่า โครงสร้างของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศทั่วโลก ณ สิ้นสุดไตรมาส 3 ของปี 2019 ประกอบไปด้วย สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐในสัดส่วน 54% ของเงินทุนสำรองทั้งหมดทั่วโลก ตามมาด้วยสกุลเงินยูโร 17% ทองคำ 13% และเงินหยวนของจีน 2% ขณะที่ข้อมูลล่าสุด ณ สิ้นสุดไตรมาส 3 ของปี 2021
พบว่าโครงสร้างของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศทั่วโลกเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย โดยสัดส่วนของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ลดลงสู่ระดับ 51% ส่วนสกุลเงินยูโรที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 18% ด้านทองคำมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเช่นกันสู่ระดับ 15% ขณะที่สัดส่วนของเงินหยวนของจีนยังคงที่ที่ 2% แม้แนวโน้มดังกล่าวจะเปลี่ยนไปอย่างเชื่องช้า แต่สัดส่วนของทองคำในเงินทุนสำรองระหว่างประเทศค่อยๆ เพิ่มขึ้นจากระดับ 10% ในปี 2017 สู่ระดับ 13% ในปี 2019 และ 15% ในปี 2021 ตามลำดับ บ่งชี้ความสำคัญของทองคำในพอร์ตเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นได้เป็นอย่างดี
“สิ่งที่น่าสนใจมากกว่านั้น คือ ผลสำรวจ Central Bank Gold Reserves Survey 2022 ของ World Gold Council ซึ่งจัดทำขึ้นระหว่างวันที่ 23 กุมภาพันธ์-29 เมษายน 2022 ซึ่งสอบถามธนาคารกลางจำนวน 57 แห่งทั่วโลก พบว่า ธนาคารกลาง 25% คาดว่าจะเพิ่มการถือครองทองคำของประเทศตนเองในอีก 12 เดือนข้างหน้า ซึ่งถือว่าเพิ่มขึ้นจาก 21% ในผลสำรวจในปี 2021 และเป็นอีกปีที่ ‘ไม่มี’ ธนาคารกลางใดเลยวางแผนที่จะลดทองคำสำรองในอีก 12 เดือนข้างหน้า”
เมื่อถูกถามถึงแนวโน้มของสัดส่วนของทองคำในเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของธนาคารกลางทั่วโลกในอีก 12 เดือนข้างหน้า พบว่า 61% ของธนาคารกลางคาดว่าการถือครองทองคำของธนาคารกลางทั่วโลกมีแนวโน้ม “เพิ่มขึ้น” ซึ่งเพิ่มขึ้นจากระดับ 52% ในการสำรวจของปี 2021
ขณะที่ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของธนาคารกลางในการบริหารเงินสำรอง ได้แก่ สภาพแวดล้อมที่อัตราดอกเบี้ยติดลบ ตามมาด้วย “ความกังวลเรื่องเงินเฟ้อ” และ “ความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์” ซึ่งสะท้อนถึงความซับซ้อนที่เพิ่มขึ้นจากสภาพแวดล้อมของอัตราเงินเฟ้อที่สูง และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่เกิดจากการรุกรานยูเครนของรัสเซีย
จากการสำรวจ CBGR ในปีนี้ บ่งชี้ว่า ธนาคารกลางยังคงให้ความสนใจในทองคำอย่างต่อเนื่อง ทำให้คาดว่าธนาคารกลางอุปสงค์ทองคำของธนาคารกลางมีแนวโน้มที่จะยังคงแข็งแกร่งต่อไป และมีแนวโน้มที่ปีนี้จะเป็นอีกปีที่ธนาคารกลางยังคงเป็นผู้ซื้อสุทธิ ซึ่งจะเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยสร้างเสถียรภาพให้กับทองคำในระยะยาวได้
ที่มา : World Gold Council
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท YLG Bullion And Future จำกัด