แม้สมรภูมิรถ EV จะมีการแข่งขันดุเดือดจากทั้งผู้เล่นในฝั่งสหรัฐ ยุโรป และเอเชีย เพราะทั้งภาคเอกชนและภาครัฐต่างต้องการมุ่งสู่ ‘Net-Zero’ แถมผู้ใช้รถก็เริ่มให้การยอมรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้า 100% มากขึ้น และราคาก็เริ่มสมเหตุสมผลขึ้นเรื่อยๆ
แต่ก็ใช่ว่าอุตสาหกรรมรถ EV จะไม่มีอุปสรรค เพราะผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน และโควิด-19 ซึ่งสะท้อนมาในรูปแบบของปัญหาด้านการขนส่ง และปัญหาการขาดแคลนชิป ส่งผลกระทบเชิงลบต่อเจ้าตลาด EV จากฝั่งสหรัฐอย่าง Tesla แต่ในขณะเดียวกัน ก็เป็นไปตามหมากที่ Toyota ค่ายรถยักษ์ใหญ่จากแดนอาทิตย์อุทัยได้คาดการณ์ไว้
หุ้น Tesla ร่วงแรงสุดในรอบ 4 เดือน หลังบริษัทเผยยอดการส่งมอบรถต่ำกว่าเป้านับหมื่นคัน จากปัญญหาด้านการขนส่ง และการที่บริษัทหยุดการผลิตเพื่อปรับปรุงโรงงานในเซี่ยงไฮ้
Tesla เผยว่า ยอดการส่งมอบรถยนต์ไฟฟ้าในไตรมาส 3 ปี 2565 อยู่ที่ 343,830 คัน ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 364,660 คัน โดยยอดการผลิตรถยนต์รุ่น Model S แล Model X ซึ่งมีราคาสูงนั้น รวมกันอยู่ที่ 19,935 คัน และยอดการผลิตรถยนต์รุ่น Model 3 และ Model Y ซึ่งเป็นรุ่นที่ได้รับความนิยม รวมกันอยู่ที่ 345,988 คันในไตรมาสที่ 3
ซึ่งข่าวการส่งมอบรถพลาดเป้า ส่งผลให้ราคาของหุ้น Tesla ร่วงลง 8.6% ในวันจันทร์ที่ผ่านมา นับเป็นการกระแทกที่แรงที่สุดนับตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และยังเป็นหุ้นยอดแย่บนกระของ S&P 500 ที่ทำผลงานยอดแย่ที่สุดอีกด้วย
อีลอน มัสก์ CEO ของ Tesla พยายามที่จะกระจายการผลิตไปยังภูมิภาคสำคัญๆ เพื่อลดปัญหาคอขวดด้านการขนส่งที่เกิดขึ้น โดยในช่วงที่ผ่านมา ปัญหาค่าขนส่งแพง และการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ และอุปกรณ์สำคัญอื่นๆ เป็นสองปัญหาหลักที่ส่งผลกระทบอุตสาหกรรมยานยนต์อยู่ในปัจจุบัน
“ในขณะที่ปริมาณการผลิตของเราเติบโตอย่างต่อเนื่อง การจะสามารถเพิ่มกำลังการขนส่งให้ทัน และคุมต้นทุนการจัดส่งในภาวะที่ค่าขนส่งพุ่งสูงแบบนี้ นับเป็นเรื่องที่ท้าทายมากขึ้นเรื่อยๆ” Tesla กล่าวในแถลงการณ์ โดยระบุเพิ่มเติมว่า ในไตรมาส 3 บริษัทได้เริ่มกระจายกำลังการผลิตสู่หลากหลายภูมิภาคมากขึ้นแล้ว เพื่อเพิ่มปริมาณรถที่จะสามารถส่งมอบได้ในท้ายไตรมาส
แม้ในช่วงที่ผ่านมา หลายคนจะมองว่าผู้นำด้านยานยนต์สัญชาติญี่ปุ่นอย่าง ‘โตโยต้า’ เคลื่อนตัวช้า และไม่กล้าทุ่มกำลังการผลิตให้กับรถ EV เหมือนอย่างที่หลากหลายค่ายยุโรปทำกัน แต่ซีอีโอของโตโยต้า มอเตอร์ ‘อากิโอะ โทโยดะ’ มองว่า นี่เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง แล้ว และจะทำให้โตโยต้า กลับกลายเป็นผู้ชนะในระยะยาว
โดยนายอากิโอะกล่าว่า “เหมือนอย่างเช่นรถยนต์ไร้คนขับซึ่งเราควรจะได้ขับกันแล้วตอนนี้ รถ EV ยังคงต้องใช้เวลานานกว่านี้ถึงจะกลายเป็นรถกระแสหลัก อย่างที่สื่อต้องการให้พวกเราเชื่อ” โดยมองว่าในอีก 5 ถึง 10 ปี จะเกิดการขาดแคลนลิเธียม และนิกเกิลเกรดที่ใช้ทำแบตเตอรี่อย่างมหาศาล ก่อให้เกิดปัญหาซัพพลายเชนขัดข้อง
โตโยต้า ยังคงมุ่งสู่การเป็นผู้นำด้านพลังงานสะอาด โดยตั้งเป้าที่จะปล่อยรถยนต์พลังงานสะอาด จำนวน 15 รุ่น ทั้งแบบไฮบริด (HEV), ปลั๊กอินไฮบริด (PHEV), รถยนต์เซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน และรถอีวี 100% ภายในปี 2025 และตั้งเป้าหมายที่จะเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ภายในปี 2050 พร้อมทุ่มงบลงทุน สองเท่า หรือราว 70,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 9 ปีจากนี้
ส่วนในบ้านเรานั้น กระแสรถ EV มาตรการส่งเสริมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ และราคาน้ำมันดิบที่อยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง ยังคงส่งผลดีต่อยอดขายรถ EV ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี หรือ ttb analytics ประเมินยอดขายรถยนต์นั่งไฟฟ้า (Electric Vehicles : xEV) ของไทยปี 2565 แตะ 6.36 หมื่นคัน โดยเป็นรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) ถึง 1 หมื่นคัน หรือขยายตัว 539.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์
อย่างไรก็ดี ยังคงต้องจับตาเรื่องการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) และชิ้นส่วนที่สำคัญในอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งคาดว่าจะยังคงลากยาวต่อไป จากปัญหาความขัดข้องของซัพพลายเชนหลังความขัดแย้งระหว่างรัสเซียยูเครนส่อเค้ายืดเยื้อ และการคงมาตรการ Zero COVID ของจีน ซึ่งอาจกระทบต่อยอดการผลิตรถยนต์ในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทยด้วย ทำให้การส่งมอบอาจล่าช้าออกไปอีกอย่างน้อย 6-12 เดือน
ที่มา : Bloomberg, CNBC, ttb analytics