จากสินทรัพย์สุดร้อนแรง ที่นักลงทุนรุ่นใหม่ นักลงทุนรุ่นใหญ่ หรือแม้แต่แม่ค้าร้านตลาดยังรู้จัก ‘คริปโทเคอร์เรนซี’ ในวันที่รุ่งเรื่องเฟื่องฟูที่สุด เคยมีมาร์เก็ตแคปสูงเฉียด 3 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งหากเทียบกับตลาดหุ้นทั่วโลกแล้ว จะมีขนาดใหญ่อันดับ 8 ของโลก ใหญ่กว่าตลาดหุ้น LSE ของลอนดอนเสียอีก ก่อนที่ปัจจุบันจะลดฮวบลงมาเหลือไม่ถึง 8 แสนล้าน มูลค่าที่หายไปเทียบเท่ากับมาร์เก็ตแคปของ ‘อาณาจักร Apple’ ซึ่งมีมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์
ในวงการคริปโทเคอร์เรนซี มักมีคำเตือนของกูรูที่บอกว่า จะเดินสายนี้ต้องเตรียมใจรับความเสี่ยง เงินหายวับหลัก 100% ให้ได้ แต่คงไม่มีใครทันได้เตรียมใจกับ ‘หายนะในโลกคริปโท’ ที่เกิดขึ้นแบบไม่ให้ได้พักหายใจตลอดทั้งปี 2022 Spotlight ขออาสาพาย้อนชมเหตุการณ์สะเทือนวงการในปีที่ผ่านมา พร้อมกับ 5 ข้อคิดที่อาจทำให้ผู้ที่ยังมีศรัทธาในวงการการเงินแห่งโลกอนาคต เตรียมพร้อมรับมือกับความเป็นไปของโลกคริปโทได้อย่างเข้าใจมากขึ้น
–ลมเปลี่ยนทิศ เศรษฐกิจหมดแรงกระตุ้น
ย้อนกลับไปในช่วงต้นปี 2022 ทั้งโลกกำลังค่อยๆ ฟื้นจากแผลที่โควิด-19 ทิ้งไว้ ภาค Real Sector เริ่มกลับมาเดินเครื่องอีกครั้ง ธนาคารกลางสหรัฐหรือ Fed เริ่มส่งสัญญาณหยุดการอัดฉีดสภาพคล่องและขึ้นดอกเบี้ย ทำให้เงินทุนที่หมุนเวียนอยู่ในภาค Financial Sector และในโลกคริปโทเริ่มไหลออก นักลงทุนสถาบันเริ่มลดน้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง ทำให้ผลกระทบเริ่มลามไปยังสภาพคล่องในบริษัทที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับคริปโททั้งหลาย ประกอบกับสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งผลกดดันภาคพลังงาน เริ่มทำให้ต้นทุนในการขุด Bitcoin พุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง
ราคา Bitcoin ในช่วงปลายปี 2021 ถึงต้นปี 2022 ร่วงหล่นจากจุดสูงสุดในเดือนพฤศจิกายน ที่เคยทะลุ 65,000 ดอลลาร์/BTC มาเคลื่อนไหวในกรอบ 37,000 - 48,000 ดอลลาร์/BTC
หลังจากตลาดคริปโทเริ่มระส่ำระส่าย หายนะครั้งแรกบังเกิด ‘LUNA - TerraUSD’ คู่เหรียญ Stable Coin ทิพย์ เบอร์ท็อปกระดาน จาก Terraform Labs ของ Do Kwon ที่มีผลิตภัณฑ์การลงทุนสุดน่าดึงดูดใจ ให้ผลตอบแทนสูงสุดถึง 20% ซึ่งเมื่อระบบนิเวศของ LUNA - TerraUSD ถูกโจมตีจากการเทขายล็อตใหญ่ ผลตอบแทนดังกล่าวกลับกลายเป็นตัวเร่งที่ทำให้ Terra USD หลุด Peg ลากมูลค่าเหรียญ LUNA ดิ่งพสุธา ร่วงกว่า 99.99% ในระยะเวลาเพียงเดือนเดียว
เนื่องจาก LUNA เคยเป็นเหรียญ Top 10 ของกระดานที่เคยมี Market Cap ระดับ 4 หมื่นล้านดอลลาร์ (1.4 ล้านล้านบาท - ใหญ่กว่า Market Cap ของบริษัท ปตท. บ้านเรา) จึงเป็นที่ทั้งนักลงทุนรายย่อย และสถาบันเข้าลงทุน เหตุการณการล่มสลายในครั้งนี้ สร้างความเสียหายให้วงการคริปโทกว่า 3 แสนล้านดอลลาร์ (10 ล้านล้านบาท) และเป็นชนวนเหตุให้บริษัทด้านคริปโทยักษ์ใหญ่ อาทิ 3AC, BlockFi, Voyager, Celsius ต้องมีอันเป็นไปตามไปด้วย
แวดวงคริปโทตกอยู่ในความหวาดกลัว หลังหายนะ LUNA ราคา Bitcoin ก็ร่วงลงต่อเนื่องจนหลุด 30,000 ดอลลาร์/BTC ในเดือนมิถุนายน ก่อนจะถูกซ้ำเติมจากการเทขายของบรรดาเหมืองขุดจากปัญหาต้นทุนพุ่ง ฉุดราคาดิ่งหลุดแนวรับ 20,000 เหรียญ และเคลื่อนไหวที่ระดับ 17,000 ดอลลาร์/BTC ส่งท้ายครึ่งปีแรกของปี 2022
และเมื่อโดมิโนตัวแรกล้มลง ตัวอื่นก็ล้มตาม ลามมาจนถึงประเทศไทย…
นอกจากนักลงทุนรายย่อยชาวไทย ที่เสียหายจากการลงทุนใน LUNA รวมเฉียด 1 พันล้านบาทแล้ว ความเสียหายจาก LUNA ยังส่งผ่านมายังอดีตกระดานเทรดเบอร์ต้นของไทยอย่าง ‘Zipmex’ กระดานเทรดระดับภูมิภาคที่มีบริษัทแม่อยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งมีผลิตภัณฑ์การลงทุนที่ชื่อว่า ZipUp+ และ ZipLock ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ Staking เหรียญคริปโทเคอร์เรนซีที่ให้โบนัสกับผู้ฝากเหรียญ คล้ายกับการฝากออมทรัพย์ และฝากประจำ ซึ่ง Zipmex Thailand จะนำสินทรัพย์ของลูกค้าชาวไทย ไปลงทุนใน Zipmex Asia ที่สิงคโปร์ซึ่งเป็นบริษัทแม่ และบริษัทแม่นี้จะนำไปลงทุนในบริษัทคริปโทระดับโลก หนึ่งในนั้นคือบริษัท Babel Finance และ Celsius
เป็นสองบริษัทนี้เอง ที่ทำให้ Zipmex เจ๊งลงทุน โดยบริษัทได้รับความเสียหานจากการลงทุนใน Babel Finance 48 ล้านดอลลาร์ (1,659 ล้านบาท) และ Celsius 5 ล้านดอลลาร์ (173 ล้านบาท)
สาเหตุที่เรื่องแดงขึ้นมา เกิดจากการที่ Zipmex ประกาศระงับการให้บริการ Z-wallet เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2022 ทำให้ลูกค้าไม่สามารถเข้าถึงเหรียญที่อยู่ในโครงการ ZipLock และ ZipUp+ ได้ สร้างความเสียหายให้ลูกค้า ราว 70,000 ราย มูลค่าความเสียหายรวมเกือบ 2,000 ล้านบาท ทำให้บริษัทแม่ได้ยื่นเรื่องต่อศาลสูงสิงคโปร์เมื่อวันที่ 22 ก.ค. เพื่อขอการพักชำระหนี้ (Moratorium) รวมเป็นเวลาสูงสุด 6 เดือน
ส่วนบริษัท Zipmex ประเทศไทย ปัจจุบันกำลังอยู่ในขั้นตอนการเจราจาการลงทุนกับนักลงทุนรายใหม่ ที่คาดว่าจะเป็น V Ventures บริษัทในเครือของ บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (Thoresen Thai Agencies) หรือ TTA ซึ่งมี ‘กึ้ง-เฉลิมชัย มหากิจศิริ’ นักธุรกิจชื่อดัง เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
ความเสียหายที่เกิดจากอดีตกระดานเทรดเบอร์ต้นของไทยรายนี้ สร้างรอยแผลร้าวลึกให้กับวงการคริปโทเคอร์เรนซีของไทย แต่ ‘หน้าหนาวคริปโท’ ก็ยังไม่จบลงง่ายๆ เมื่อกระดานเทรดเบอร์ 1 ของไทย เจอเหตุ ‘หักเขายูคอร์น’
ปลายปี 2021 เกิดข่าวใหญ่สะเทือนทั้งวงการคริปโทเคอร์เรนซี และวงการสตาร์ทอัพระดับภูมิภาค เมื่อ SCBS หนึ่งในบริษัทลูกของ ‘ยานแม่ SCBX’ ได้ประกาศเตรียมเข้าซื้อหุ้น 51% ของ Bitkub Capital Group Holdings Co., Ltd. มูลค่า 17,850 ล้านบาท ดันบิทคับสู่ว่าที่สตาร์ทอัพระดับ ‘ยูนิคอร์น’ หรือบริษัทสตาร์ทอัพที่มีมูลค่าทะลุ 1,000 ล้านดอลลาร์ รายแรกๆ ของประเทศไทย
แต่เมื่อเวลาดำเนินไป ภาพตลาดคริปโทที่เคยสวยงามในปลายปี 2021 ก็พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ เกิดวิกฤต LUNA พาราคาคริปโทดิ่งต่อเนื่อง ตามไทม์ไลน์เดิมจากประกาศของ SCBX ดีลดังกล่าวจะต้องเสร็จสิ้นภายในไตรมาสแรกของปี 2022 แต่เมื่อถึงกำหนดปิดดีล SCBX กลับประกาศเลื่อนเวลาอย่างไม่มีกำหนด โดยอ้างว่าขั้นตอน Due Diligence ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ และได้เลื่อนเวลาปิดดีลไปอย่างไม่มีกำหนด ก่อนจะ ‘เท’ อย่างเป็นทางการในวันที่ 25 ส.ค. 2022 โดยให้เหตุผลว่า Bitkub มีประเด็นคงค้างกับก.ล.ต. หลายกรณี
ก่อนที่ทาง SCBX เองจะเปิดให้บริการ ‘Innovest X’ ซูเปอร์แอปเทรดสินทรัพย์หลายประเภท รวมถึงคริปโทเคอร์เรนซี ด้วย ในเดือนต.ค. 2022 ซึ่งเป็นเวลาไม่นานหลังจากที่มีข่าวว่า SCBX ซุ่มขอไลเซ่นส์เทรดสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อเปิดกระดานของตัวเอง
แม้ดีลกับยานแม่ SCBX จะมีอันต้องเลิกรากันไป แต่ ‘ท็อป จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา’ ผู้ร่วมก่อตั้ง และซีอีโอของ Bitkub Group ก็ยังเชื่อมั่นในศักยภาพของ Bitkub ว่าจะสามารถเป็น ‘National Champion’ พาเศรษฐกิจไทยก้าวไปสู่อนาคตได้ และได้เผยกับสื่อจีนว่า มีเป้าหมายจะ นำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง โดยคาดว่าอาจมีขึ้นอย่างเร็วที่สุดภายในปี 2024 เมื่อตลาดคริปโทเคอร์เรนซีกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว แต่ย้ำว่าขณะนี้ยังอยู่เพียงแค่ในช่วงเริ่มต้นเท่านั้น
ตลอดครึ่งหลังของปี 2022 วงการคริปโทเข้าสู่โหมดหน้าหนาว ‘Crypto Winter’ ในระหว่างที่นักลงทุนกำลังพักฟื้นจากความเสียหายที่เกิดขึ้นจากโดมิโนของ LUNA นั้น ก็เกิดเหตุไม่คาดฝันส่งท้ายปลายปี เป็นระเบิดอีกลูกจากชายที่เคยได้ชื่อว่า เป็นเทพบุตรขี่ม้าขาวผู้กอบกู้วงการ
หนึ่งเหตุการณ์ส่งท้ายปี ‘กลียุคแห่งคริปโทเคอร์เรนซี’ คือ การล้มละลายของอดีตกระดานเทรดเบอร์ 2 ของโลกอย่าง ‘FTX’ ของอดีตซีอีโอ Sam Bankman-Fried (SBF) ชายผู้เป็น KOL รายใหญ่ของวงการคริปโท มหาเศรษฐีที่เคยมีสินทรัพย์ 2.6 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 9 แสนล้านบาท) FTX เป็นแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล ที่SBF ก่อตั้งขึ้นในปี 2019 หลังจากที่เขาประสบความสำเร็จจากการจัดตั้งบริษัท Alameda Research และสร้างฐานะจากการทำกำไรจากส่วนต่างของราคา Bitcoin ในตลาดสหรัฐ และตลาดเอเชียในวัยเพียง 25 ปี ซึ่ง FTX นั้นได้ก้าวขึ้นสู่การเป็น 1 ใน 3 กระดานเทรดคริปโทที่ใหญ่ที่สุดในโลก และได้รับการลงทุนจากนักลงทุนสถาบัน และกลุ่มนักธุรกิจมากมาย อาทิ Temasek Holdings, Sequoia Capital, Paradigm, SoftBank, BlackRock ฯลฯ จนทำให้บริษัทมีมูลค่าราว 3.2 หมื่นล้านดอลลาร์ (1.1 ล้านล้านบาท) ก่อนเรื่องจะค่อยๆ แดงออกมา
ในช่วงต้นเดือนพ.ย. ที่ผ่านมา เว็บไซต์ CoinDesk ได้ออกมาเผยว่า สินทรัพย์ส่วนใหญ่ใน Alameda Research นั้นคือ FTT (เหรียญที่ออกโดย FTX) ซึ่ง SBF ใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน (Collateral) โดยเป็น unlocked FTT 3,660 ล้านดอลลาร์ และ FTT 2,160 ล้านดอลลาร์ เว็บไซต์ Siamblockchain ระบุว่า เป็นไปได้ว่า FTT นั้นอาจไม่มีมูลค่าสนับสนุนอยู่จริง ๆ เป็นการสร้างเพียงตัวเลขขึ้นมาเท่านั้น ซึ่งจะทำให้ SBF สามารถที่จะขายหรือให้กู้ยืมเหรียญ Stablecoin ได้แบบไม่จำกัด หาก Alameda กู้ยืมเหรียญมาจาก FTX ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องจ่ายคืน (หรือพูดอีกอย่างก็คือไม่จำเป็นต้องจ่ายคืนตัวเขาเอง) ซึ่งทำให้มองได้ว่า มูลค่าทรัพย์สินของ Alameda โดยพื้นฐานแล้วไม่มีอะไรจริงเลย
จากการเปิดเผยดังกล่าว ทำให้ Binance กระดานเทรดอันดับ 1 ของ CZ เทขายเหรียญ FTT ทั้งหมด นำไปสู่ความโกลาหลในตลาด กระชากราคาเหรียญ FTT จากราว 20 ดอลลาร์/FTT สู่ระดับต่ำกว่า 2 ดอลลาร์/FTT ภายใน 1 สัปดาห์ ทำให้ FTX เกิดวิกฤตการณ์ด้านสภาพคล่อง ซึ่งแม้ Binance มีแผนว่าจะเข้าช่วยเหลือบริษัทในวันที่ 8 พ.ย. แต่ก็ต้องยุติแผนดังกล่าวในระยะเวลาเพียง 1 วัน ทำให้บริษัทตัดสินใจยื่นล้มละลายในวันที่ 11 พ.ย. เหตุการณ์นี้เผยให้เห็นถึงความยุ่งเหยิงของโครงสร้างบริษัทที่ประกอบด้วยบริษัทลูกมากถึง 134 แห่ง เจ้าหนี้กว่าแสนราย มีทรัพย์สินระหว่าง 1-5 หมื่นล้านดอลลาร์ และมีหนี้สินระหว่าง 1-5 หมื่นล้านดอลลาร์ ถือเป็นการล้มละลายในระดับน้องๆ ของเคสล้มละลายในอดีต เช่น Enron ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 6 หมื่นล้านดอลลาร์ และ Lehman ซึ่งอยู่ที่กว่า 6 แสนล้านดอลลาร์
หลังจากนั้นประมาณ 1 เดือน SBF อดีตมหาเศรษฐีเทพบุตรผู้กอบกู้วงการ ก็กลับกลายเป็นผู้ร้ายที่ต้องถูกส่งตัวข้ามแดน มาขึ้นศาลที่สหรัฐ หลังทางการบาฮามาสเข้าควบคุมตัว SBF ที่บาฮามาส ตามคำขอของสำนักอัยการนิวยอร์กใต้ที่ได้ยื่นฟ้องคดีอาชญากรรมทางการเงินรวม 8 ข้อหา ปัจจุบัน SBF ได้รับการประกันตัวด้วยวงเงิน 250 ล้านดอลลาร์ (ราว 9 พันล้านบาท) ระหว่างรอนัดฟังคำตัดสินในชั้นศาล ในช่วงต้นเดือนมกราคม ปี 2023 นี้ ต่างจากกรณีของ Do Kwon ผู้สร้าง LUNA ซึ่งยังคงลอยนวลอยู่ที่ Siberia ณ ขณะนี้
การล่มสลายของ FTX สร้างความระส่ำระส่ายให้กับ Genesis แพลตฟอร์มกู้ยืมคริปโทเคอร์เรนซีรายใหญ่เสี่ยงต่อการล้มละลายจากการแห่ถอนเงินจำนวนมากจนผิดปกติและการขาดสภาพคล่อง อีกทั้งยังทำให้บริษัทที่ FTX เคยเข้าไปช่วยกอบกู้อย่าง BlockFi ได้ยื่นล้มละลายไปเมื่อวันที่ 28 พ.ย. หลังได้รับผลกระทบจากทั้ง Three Arrows Capital (3AC) ที่เจ๊งจาก LUNA ไปในระลอกแรก และ FTX ที่เพิ่งยื่นล้มละลายไป ความโกลาหลเหล่านี้กดดันราคา Bitcoin ให้ร่วงหลุด 16,000 ดอลลาร์/BTC ในบางจังหวะ ขยับขึ้นไปแตะ 18,000 ดอลลาร์/BTC ได้ในจังหวะสั้นๆ ก่อนจะกลับลงมาเคลื่อนไหวที่ระดับราคา 16,000 ดอลลาร์/BTC มาจนถึงปัจจุบัน
เว็บไซต์ CoinDesk ได้เผยแพร่บทความสรุปรวม 5 บทเรียนจากปี 2022 ที่จะเปลี่ยนโลกคริปโทไปตลอดกาล ซึ่งเป็นบทเรียนชั้นดีที่สกัดจากสารพัดเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปีก่อน และเป็นคู่มือในการเตรียมตัวสำหรับการอยู่กับโลกคริปโทเคอร์เรนซีในปีนี้ และปีต่อๆ ไป
ที่มา : Trading Hours, Forbes, Coin Desk, Blockdit, SCB, Twitter