จากข่าวการเข้าซื้อ ‘เครดิตสวิส’ ธนาคารที่ใหญ่เป็นอันดับสองของสวิตเซอร์แลนด์ โดยธนาคารที่ใหญ่อันดับหนึ่งอย่าง UBS รวมถึงข่าวโดมิโนแบงก์ล้มในสหรัฐฯ ทำเอาโลกการเงินระส่ำระสายไปในวงกว้าง แต่ไม่ทันที่สถานการณ์จะคลี่คลาย ก็คลับคล้ายคลับคลาว่า ‘ผู้โชคร้ายรายต่อไป’ จะเป็นธนาคารที่ใหญ่ที่สุดของเยอรมนี อย่าง ดอยซ์แบงก์ (Deutsche Bank)
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ และประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผยว่า ขณะนี้วิกฤตสถาบันการเงินในยุโรป ได้กลับมาสร้างความกังวลใจให้เกิดขึ้นอีกรอบ หลังจาก ดอยซ์แบงก์ หรือ Deutsche Bank แบงก์ยักษ์ใหญ่อันดับ 22 ของโลก และอันดับหนึ่งของเยอรมัน ที่มีสินทรัพย์ 1.5 ล้านล้านดอลลาร์ ราคาหุ้นร่วงลงมาอย่างน่าตกใจ
เห็นได้จากราคาของหุ้น Deutsche Bank เมื่อวันที่ 24 มี.ค. ที่ได้ลงมา -14.5% ก่อนที่จะปรับตัวขึ้นมาเป็น -8.5% ความเคลื่อนไหวที่เช่นนี้ ส่งผลให้ราคาหุ้นของแบงก์ใหญ่อื่น ๆ ในยุโรปตกลงด้วย เช่น
ดร.กอบศักดิ์ ยอมรับว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะช่วงนี้เป็นช่วงอ่อนไหว หลังจากมีข่าวออกมาก่อนหน้านี้ว่า Deutsche Bank ต้องการที่จะซื้อหุ้นกู้ (Tier 2 Subordinated Debt) กลับก่อนกำหนด 5 ปี (ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ว่าสามารถทำได้)
ซึ่งปกติแล้ว ข่าวแบบนี้จะสะท้อนว่าแบงก์อยู่ในฐานะดี สามารถลดหนี้ได้ แต่ได้กลับกลายเป็นจุดเริ่มของความผันผวนรอบใหม่ และทำให้ทุกสายตา หันไปจับจ้อง Deutsche Bank
ทั้งนี้จากค่าประกันความเสี่ยงตราสารหนี้ (Credit Default Swap: CDS) ของหุ้นกู้ของ Deutsche Bank ปรับเพิ่มสูงขึ้น นำมา ซึ่งการเทขายหุ้น ทั้ง ๆ ที่ช่วงที่เกิดปัญหาในสวิส เงินฝากจำนวนหนึ่งได้ไหลไปที่ Deutsche Bank และ Deutsche Bank เพิ่งประกาศกำไรสูงสุดในรอบ 15 ปี ที่ประมาณ 5,500 ล้านดอลาร์ เพิ่มขึ้นจากประมาณ 2,000 ล้านดอลลาร์ในปีก่อน
ดร. กอบศักดิ์ ระบุว่า การที่เกิดเหตุเช่นนี้ได้ ก็คงเพราะช่วงนี้เป็นช่วงอ่อนไหว เมื่อได้ยินข่าวอะไรที่แปลกออกไป ปัญหาก็สามารถตามมาได้ แม้กระทั่งแบงก์ที่มีฐานะที่ดีพอสมควร เช่น Deutsche Bank ก็สามารถลำบากได้ สะท้อนถึงความอ่อนไหวที่สะสมตัวจาก 1 ปีของ Perfect Storm จาก 1 ปีของการปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วของธนาคารกลางต่างๆ ที่สร้างแรงกดดันในกับระบบการเงินโลกอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน
“จากนี้คงต้องมาดูกันต่อว่า อะไรจะเกิดขึ้นต่อไป ใครจะเป็นเป้ารายต่อไป แต่ที่แน่ ๆ ความปั่นป่วนอย่างนี้ คงไม่ใช่ครั้งสุดท้ายในวิกฤต Perfect Storm” ดร.กอบศักดิ์ กล่าวเสริม
ด้านนาย Olaf Scholz นายกรัฐมนตรีเยอรมนี กล่าวว่า ดอยซ์แบงก์ได้ผ่านการปรับโครงสร้างแล้ว และมีการปรับรูปแบบธุรกิจให้ทันสมัย รวมทั้งเป็นธนาคารที่สามารถทำกำไรอย่างมาก นักลงทุนจึงไม่ควรกังวลใจเกี่ยวกับอนาคตของทางธนาคาร
ไม่เพียงเท่านั้น นักวิเคราะห์หลายรายก็ได้ออกมาสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนด้วย โดยระบุว่า ดอยซ์แบงก์จะไม่กลายเป็นโดมิโนตัวต่อไปจากเครดิต สวิส โดยธนาคารมีกำไรถึง 5 พันล้านยูโร (5.4 พันล้านดอลลาร์) ในปี 2565 ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 159% เมื่อเทียบกับปี 2564 และสามารถทำกำไรถึง 10 ไตรมาสติดต่อกัน
ดอยซ์แบงก์ถูกจัดอันดับอยู่ในกลุ่ม Systemically Important Financial Institution (SIFI) ซึ่งเป็นสถาบันการเงินที่มีความสำคัญเชิงระบบ หรืออยู่ในกลุ่ม "Too big to fail" ซึ่งเป็นสถาบันการเงินที่ใหญ่เกินกว่าจะล้ม โดยภาครัฐจะออกมาตรการช่วยเหลือเพื่อป้องกันมิให้วิกฤตธนาคารในกลุ่มดังกล่าวลุกลามไปทั่วระบบการเงิน
นักลงทุนยังคงต้องจับตาสถานการณ์โลกการเงินอย่างใกล้ชิดต่อไป เพราะไม่เพียงแต่ปัจจัยพื้นฐานของธนาคารเท่านั้นที่น่ากังวล แต่ความเชื่อมั่นของนักลงทุน ที่มักจะเคลื่อนไหวไวกว่าสถานการณ์จริง ก็ต้องจับตาดูเช่นกัน