สำหรับแฟนคลับวงดนตรี ความฝันสูงสุดอย่างหนึ่งของการติดตามศิลปินนักร้องสักวง คือ การได้ชมการแสดงสดของศิลปินที่ชอบครั้งหนึ่งในชีวิต แต่สำหรับบางคนความฝันนั้นอาจเป็นสิ่งที่ไกลเกินเอื้อมถึง ทั้งเพราะจำนวนบัตรที่น้อยจน ถ้าไม่มีดวงหรืออินเทอร์เน็ตสปีดสูงๆ ก็กดไม่ทัน และเพราะราคาบัตรนั้นแพงเกินกว่ารายได้ขั้นต่ำในปัจจุบันมากเลยทีเดียว
โดยในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา ศิลปินเกาหลีมากมายหลายวง ได้ตบเท้าเข้ามาทำการแสดงในเมืองไทย ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องราคาได้ทุกครั้งไป ว่า ‘แพง’ จนบางครั้งถึงกับมีแฟนคลับเข้าเรียกร้องกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เช่น แฟนคลับของวง Stray Kids ที่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ได้ยื่นเอกสารร้องเรียน เรื่องราคาบัตรคอนเสิร์ต Stray Kids 2nd World Tour Maniac ว่า “สูงเกินไป” โดยมีราคาต่ำสุดที่ 2,500 บาท และสูงสุดถึง 8,500 บาท
แต่บัตรคอนเสิร์ตเกาหลีในไทยแพงจริงหรือไม่? SPOTLIGHT จึงอยากชวนทุกคนมาดูราคาบัตรคอนเสิร์ตเดียวกันในไทย และเกาหลี ที่เป็นประเทศต้นกำเนิดของวงเหล่านี้กันว่า เมื่อเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำในประเทศนั้นๆ แล้ว ราคาบัตรในประเทศไหนจะแรงกว่ากัน
ในบทความนี้ SPOTLIGHT เลือกเทียบราคาบัตรคอนเสิร์ต 4 คอนเสิร์ตที่จัดแสดงในไทยในช่วงครึ่งปีแรกของ 2023 จากศิลปินของ 4 ค่ายดังด้วยกัน คือ
โดยจากข้อมูลในอินโฟกราฟฟิกจะเห็นได้ว่า ราคาบัตรของเกาหลีและไทยมีความแตกต่างหลัก คือ ราคาบัตรคอนเสิร์ตในเกาหลีส่วนมากจะมีราคาเดียว ทำให้ไม่ว่าจะนั่งอยู่ที่ใดในฮอลล์คอนเสิร์ตแฟนคลับก็จะได้จ่ายเงินราคาเดียวกันทั้งหมด ในขณะที่บัตรคอนเสิร์ตในไทยจะมีหลายช่วงราคาตามระดับความใกล้ไกลจากเวทีการแสดง ทำให้เมื่อเทียบกันแล้วผู้ที่จะได้ที่นั่งชิดเวทีในไทยจะต้องจ่ายเงินมากกว่าผู้ที่ได้อยู่ในตำแหน่งเดียวกันที่เกาหลี
ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำของแต่ละประเทศ บัตรคอนเสิร์ตของไทยก็เหมือนจะยิ่งทวีความแพงเข้าไปอีก เพราะในขณะที่ค่าแรงขั้นต่ำตามกฎหมายของเกาหลีใต้สูงถึง 76,960 วอน หรือราว 4,617.6 บาทต่อวัน (ทำงาน 8 ชั่วโมง) ค่าแรงขั้นต่ำสูงที่สุดของไทยยังอยู่ที่เพียง 354 บาท
เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว พบว่า ขณะที่พนักงานล้างจานในร้านข้าวที่เกาหลีใต้ทำงานเพียง 1-4 วัน ก็สามารถได้บัตรคอนเสิร์ตชิดขอบเวทีสักใบ พนักงานรายได้ต่ำในไทยต้องทำงานเกินครึ่งเดือน หรือเกือบทั้งเดือนกว่าจะได้บัตรคอนเสิร์ตที่ได้ใกล้ชิดกับศิลปินสักใบ และเมื่อคิดว่าเงินที่ได้มาทุกเดือนนี้ต้องนำไปใช้จ่ายกับอย่างอื่นอีก แฟนคลับที่รายได้ยังน้อย หรืออยู่ในวัยเรียนอาจจะต้องเก็บเงินเป็นเดือนๆ เพื่อเตรียมตัวไปคอนเสิร์ตครั้งหนึ่งเลยทีเดียว
เมื่อเห็นแบบนี้แล้วหลายๆ คนอาจจะสงสัยว่าทำไมราคาบัตรคอนเสิร์ตในไทยมันถึงแพงได้ขนาดนั้น ทั้งที่ค่าแรงคนไทยต่ำแสนต่ำ และมีคุณภาพโปรดักชันที่ไม่เท่ากับคอนเสิร์ตในเกาหลีใต้ด้วยขนาดฮอลล์และขนาดพื้นที่การจัดงาน
สำหรับคำถามนี้ บางคนในวงการอีเวนท์คอนเสิร์ตได้ เปิดเผยว่า ส่วนหนึ่งมาจากการที่ในปัจจุบันมีสปอนเซอร์สนใจเข้ามาสนับสนุนคอนเสิร์ตน้อยลงเหลือเพียง 30% จาก 70% ในปีที่ผ่านมา และเมื่อมีสปอนเซอร์น้อยลง ผู้จัดจึงต้องมาเก็บเอากับผู้บริโภคเพื่อให้การจัดคอนเสิร์ตยังคุ้มทุนและสร้างผลกำไรได้ในระดับที่ต้องการ
นอกจากนี้ กว่าผู้จัดจะจัดคอนเสิร์ตหนึ่งขึ้นมาได้ยังต้องเสียค่าต้นทุนในหลายขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นการประมูลขอจัดคอนเสิร์ต ติตต่อขอเช่าสถานที่จัดงานที่สูงขึ้นตามภาวะเงินเฟ้อ และค่าโปรดักชันจัดสถานที่ ค่าวัสดุ ค่าแรงต่างๆ
อีกเหตุผลหนึ่ง ก็คือ ‘ตั้งราคาสูงได้’ ตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ทั้งบอยแบนด์และเกิร์ลกรุ๊ปของเกาหลีได้รับความนิยมจำนวนมาก จนมีจำนวนแฟนคลับมากกว่าจำนวนบัตรที่ขายในแต่ละรอบ และแฟนคลับมีหลายระดับอายุ และฐานะ ทำให้แทบจะรับประกันได้ว่า การจัดคอนเสิร์ตทุกครั้ง ‘อุปสงค์จะมากกว่าอุปทาน’ หรือเรียกง่ายๆ ว่า “ความต้องการซื้อบัตรคอนเสิร์ตมีมากกว่าจำนวนบัตร” นั่นเอง และเชื่อว่า ในบรรดาแฟนคลับยังไงก็จะต้องมีคนกลุ่มหนึ่งที่มีรายได้สูงพอพร้อมจ่ายค่าบัตรราคาสูง
ด้วยเหตุนี้ การคิดระดับราคาแบบนี้ เป็นสิ่งที่ผู้จัดคอนเสิร์ต ได้คำนวนมาแล้วว่าเป็นไปได้ ดังจะเห็นได้จากการที่บัตรราคาสูงที่สุด “Sold Out” ทุกครั้ง เพราะแฟนคลับที่รายได้สูงก็ยังคงยอมจ่าย เพราะอยากไปชมศิลปินที่ตัวเองชื่นชอบ
นอกจากนี้ บัตรคอนเสิร์ตยังเป็นสินค้าที่ไม่ได้รับการควบคุมราคาโดยรัฐบาล เพราะไม่ใช่สินค้าจำเป็น ทำให้ราคาเป็นสิ่งที่ผู้ซื้อผู้ขายต้องตกลงกันเอง ตามหลักเสรีภาพในการทำสัญญา (Freedom of Contract) และหากผู้บริโภคไม่พอใจระดับราคาที่ผู้จัดเสนอมา ‘สิ่งเดียวที่ทำได้ ก็คือ การเลือกไม่ซื้อและไม่สนับสนุนผู้จัดดังกล่าวเท่านั้น’ ซึ่งแฟนคลับหลายๆ คนก็อาจจะตัดใจไม่ซื้อไม่ได้อีก เพราะมองว่าคอนเสิร์ตเป็นอีเวนท์ที่เรียกได้ว่า “อีเวนท์ที่จะเกิดครั้งเดียวในชีวิต” และถ้าพลาดไปแล้วจะไม่มีโอกาสได้สัมผัสบรรยากาศนั้นอีก
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว โอกาสที่ราคาบัตรคอนเสิร์ตในไทยจะลดลงนั้นมี “โอกาสน้อยมาก” เนื่องจากผู้บริโภคไม่มีอำนาจที่จะไปต่อรองกับผู้จัดคอนเสิร์ตได้เลย ทำได้เพียง “การบอยคอตไม่ซื้อบัตรคอนเสิร์ต” เท่านั้น ซึ่งต้องใช้ความเด็ดขาดแล้ว ยังต้องอาศัยความร่วมมือจากคนกลุ่มใหญ่มาก เพราะหากมีคนตัดสินใจไม่ซื้อบัตรไม่กี่คนก็ยังมีคนอื่นอีกมากที่ยอมจ่ายอยู่ดี นอกเสียจากการเพิ่มจำนวนสปอนเซอร์เข้ามาสนับสนุนคอนเสิร์ตมากขึ้นเพื่อจูงใจให้ผู้จัดลดราคาบัตรลง
อ้างอิง: ThaiTicketMajor (1), ThaiTicketMajor (3), ThaiTicketMajor (2), AllTicket, Minimum Wage Council Republic of Korea