บริการฝากเงินของ Apple ที่เคยสร้างเสียงฮือฮาทั่วโลกเมื่อครั้งเปิดตัวในเดือนเม.ย. ด้วยดอกเบี้ยสูงถึง 4.15% หลังผ่านไปไม่ถึง 4 เดือน ตอนนี้ยอดเงินฝากโตทะลุ 1 หมื่นล้านดอลลาร์ (3.4 แสนล้านบาท) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แม้เปิดบริการให้เฉพาะลูกค้า Apple Card ในสหรัฐฯ
นอกจากจะมีจุดเด่นด้านดอกเบี้ยที่สูงแล้ว ลูกค้า Apple ยังคืนเงินในรูปแบบของ Daily Cash ให้กับลูกค้า โดยจะคืน 1% ของยอดใช้จ่ายทุกรายการ, 2% สำหรับยอดที่ใช้จ่ายผ่าน Apple Pay และ 3% สำหรับยอดใช้จ่ายกับร้านค้าที่กำหนด โดย Apple เผยว่า ลูกค้ากว่า 97% ที่ใช้บริการนี้เลือกที่จะรับ Daily Cash โอนเข้าบัญชีที่ผูกไว้แบบอัตโนมัติ และไม่กำหนดเพดานของยอดเงินคืนที่ลูกค้าจะได้รับต่อวัน
ลูกค้าสามารถยังสามารถโอนเงินจากธนาคารที่ผูกไว้ หรือเงินจากวงเงิน Apple Cash เข้าไปยังบัญชีฝาก (Savings) เพื่อเพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนที่มากขึ้น โดยบริการนี้มีผู้บริหารจัดการบัญชีเงินฝาก คือ Goldman Sachs และได้รับการคุ้มครองโดยบรรษัทค้ำประกันเงินฝากของรัฐบาลกลางสหรัฐ (FDIC)
โดยปัจจุบันนี้ ยอดเงินฝากในบริการดังกล่าว มีมูลค่ามากกว่า 3.4 แสนล้านบาท คิดเป็นราว 10% ของยอดเงินรับฝากของ ‘ธนาคารกรุงเทพ’ ซึ่งมีฐานเงินฝากมากที่สุดในประเทศไทย ที่ 3.2 ล้านล้านบาท ก่อตั้งมาแล้ว 78 ปี
Jennifer Bailey รองประธาน Apple Pay และ Apple Wallet เผยว่า Apple ตั้งใจนำเสนอบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ๆ เพื่อปฏิวัติวงการการเงินในแต่ละด้านที่ Apple เข้าไปให้บริการ โดยคำนึงถึงสุขภาพทางการเงินของลูกค้าเป็นหลัก
“นั่นคือ เป้าหมายของเราตั้งแต่ช่วงที่เปิดตัวบริการ Apple Card เมื่อ 4 ปีที่แล้ว และยังคงเป็นหลักคิดในตอนที่เราเปิดตัว Apple Savings ซึ่งเป็นทางเลือกให้ลูกค้าได้ออมเงินแบบง่ายๆ ไม่มีค่าธรรมเนียม ไม่มียอดฝากขั้นต่ำ ไม่กำหนดยอดเงินขั้นต่ำในบัญชี” Bailey กล่าว
ปัจจุบัน Apple Card และ Apple Savings ยังไม่เปิดให้บริการในเมืองไทย โดยในบ้านเรามีบริการใกล้เคียงคือ บัญชีเงินฝากดิจิทัล หรือ E-Saving ซึ่งให้ดอกเบี้ยที่ราว 1.25 - 3% ต่อปี