รายได้ที่เพิ่มขึ้นเป็นหนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดในการช่วยให้คุณบรรลุเป้าหมายทางการเงิน ไม่ว่าจะเป็นการชำระหนี้สิน การลงทุนต่อยอด ไปจนถึงเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินและการออมเงินเพื่อการเกษียณอายุ แต่คุณเคยสังเกตไหมว่าเมื่อมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ทำไมเงินเก็บของคุณในบัญชีธนาคารกลับไม่เติบโตขึ้นอย่างที่คาดหวังไว้ และบางครั้งกลับกลายเป็นว่าต้องจ่ายเงินมากขึ้นตามรายได้ที่เพิ่มขึ้น ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า “Lifestyle Inflation”
แนวทางการใช้จ่ายที่คุณมีรายได้เพิ่มมากขึ้น แต่รายจ่ายก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย เรียกว่า “Lifestyle Inflation” ซึ่งความเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นจากความรู้สึกที่ว่าคุณมีอำนาจในการใช้จ่ายมากขึ้น เช่น การกินอาหารในร้านที่หรูหรามากขึ้น การเปลี่ยนมาใช้เครื่องสำอางเคาน์เตอร์แบรนด์แทนดรักสโตร์แบรนด์ ไปจนถึงการซื้อรถยนต์และการขยับขยายที่อยู่อาศัยให้มีความกว้างขวาง และสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น
ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว แน่นอนว่าบางสิ่งก็เป็นจำเป็นในการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของคุณให้ดีขึ้น รวมถึงการให้รางวัลตัวเอง หลังจากที่ต้องเหน็ดเหนื่อยทุ่มเทกับการทำงานกว่าประสบความสำเร็จด้านรายได้ แต่หลายครั้งก็ต้องยอมรับว่าสิ่งของบางอย่างก็จัดอยู่ในหมวดฟุ่มเฟือยและอาจไม่ได้จำเป็นกับชีวิตมากนัก แม้ว่าคุณจะสามารถจ่ายได้ก็ตาม
แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าคุณติดกับดักขวางทางรวยอย่าง Lifestyle Inflation เข้าแล้วหรือยัง ? สิ่งที่จะพิจารณาได้ง่าย ๆ คือคุณยังใช้เงินแบบเดือนชนเดือนอยู่หรือไม่ จ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิตตลอดเวลาหรือเปล่า ท้ายสุดถ้าคุณหยุดทำงานในวันนี้ คุณจะยังสามารถซื้อสิ่งของที่คุณเคยซื้อได้หรือไม่ หากคำตอบคือ “ไม่” คุณอาจต้องหันกลับมาโฟกัสกับเป้าหมายทางการเงินให้หนักแน่นขึ้น โดยเฉพาะเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินและการออมเงินเพื่อการเกษียณอายุ
อันดับแรกต้องเข้าใจก่อนว่า Lifestyle Inflation สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนที่เพิ่งเริ่มต้นทำงาน หรือไต่ระดับขึ้นมาจนมีตำแหน่งสูงและรายได้ที่มากขึ้นแล้ว ดังนั้นเพื่อให้หลุดพ้นจากกับดักนี้อย่างยั่งยืน ความรู้ที่ถูกต้องและการวางแผนทางการเงินที่ดีจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ ซึ่งแน่นอนว่าขั้นตอนพื้นฐานที่สุดคือการสร้างวินัยทางการเงินอย่าง “การเก็บก่อนใช้” โดยเมื่อมีรายได้เข้ามาก็ให้แบ่งเงินเป็นสัดส่วนตามความจำเป็นและการใช้งาน เช่น 50 / 30 / 20 โดย 50% คือค่าใช้จ่ายจำเป็น 30% คือค่าใช้จ่ายเพื่อสร้างความสุขให้กับตัวเอง และ 20% คือการเก็บออมเงิน
ถัดมาคือ “การทำบัญชีรายรับรายจ่าย” ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายคนมองข้าม แต่สิ่งนี้จะทำให้คุณมองเห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้น ว่าคุณกำลังใช้จ่ายอยู่กับอะไรบ้าง ของสิ่งนั้นมีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน หากเป็นของชิ้นใหญ่ ของราคาสูง หรืออสังหาริมทรัพย์ที่ต้องมีการผ่อนจ่ายระยะยาว นอกจากจะต้องประเมินความจำเป็นในการใช้งานอย่างถี่ถ้วนแล้ว คุณอาจจะต้อง “ทดลองเก็บเงินทุกเดือนเท่ายอดผ่อนชำระต่อเดือน” เพื่อเป็นการลองสนามก่อนว่าคุณสามารถปรับตัวกับค่าใช้จ่ายตรงนี้ได้อย่างไม่ติดขัด ก่อนจะข้ามขั้นไปสร้างรายจ่ายระยะยาวจริง ๆ ในแบบที่ถอยหลังกลับไม่ได้แล้ว แม้ว่าสินค้าบางอย่างจะเป็นการผ่อน 0% นาน 48 เดือนก็ตาม
ท้ายที่สุดคือ “หยุดเป็นหนี้บัตรเครดิต” และควร “จ่ายบัตรเครดิตในจำนวนเต็มทุกครั้ง” เพราะประโยชน์ที่แท้จริงของการใช้งานบัตรเครดิต คือสิทธิพิเศษในระยะปลอดดอกเบี้ย ไปจนถึงคะแนนสะสม ส่วนลดสินค้าพิเศษสำหรับผู้ถือบัตร และการแลกไมล์สะสมเพื่อการเดินทาง ทั้งนี้ ใครที่กลัวหักห้ามใจใช้จ่ายเกินตัวไม่ได้ การไม่ใช้บัตรเครดิตเลยอาจเป็นทางออกที่ดีที่สุด ส่วนความกังวลเรื่องการชำระค่าบริการดิจิทัลต่าง ๆ ที่ต้องชำระผ่านบัตรเครดิตนั้น ปัจจุบัน ก็มีทางเลือกเป็นบัตรเดบิตหรือดิจิทัลวอลเล็ตหลากหลายเจ้า ที่ให้บริการชำระค่าสตรีมมิง ซึ่งสามารถใช้ทดแทนบัตรเครดิตได้
Lifestyle Inflation ในแบบที่มีรายจ่ายสูงขึ้นตามรายได้ เพราะมีเป้าหมายในการปรับปรุงคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น หรือให้รางวัลกับการทำงานหนักของตัวเองไม่ใช่เรื่องที่ผิด ขอเพียงคุณคิดอย่างรอบคอบ ใช้จ่ายอย่างเข้าใจ และสะสมเงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญลำดับต้น ๆ ให้พร้อมก่อน การยกระดับคุณภาพชีวิตขึ้นตามรายได้ก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิดเลย