แม้ว่าบิตคอยน์จะเกิดทีหลังทองคำนานมากแค่ไหน แต่การมาของบิตคอยน์ก็ได้สร้างความตื่นตัวให้กับผู้คนได้อย่างมาก 15 ปีที่ผ่านมา บิตคอยน์ได้รับการยอมรับเพิ่มมากขึ้น รวมถึงในฐานะสินทรัพย์ที่สามารถ เป็น ‘ทุนสำรองระหว่างประเทศ’ ได้เหมือนทองคำ
SPOTLIGHT พาไปสำรวจว่าปัจจุบันประเทศต่างๆในโลก มีสัดส่วนทุนสำรองระหว่างประเทศเป็นทองคำหรือบิตคอยน์มากแค่ไหน
ย้อนกลับไปในปี 2009 ผู้ใช้งานที่มีชื่อว่า Satoshi Nakamoto ได้พัฒนาบิตคอยน์ขึ้นมา
ถ้าได้ยินชื่อนี้แล้วคิดไปต่อ เราคงคิดแน่ ๆ ว่าชายคนนี้ต้องเป็นชายสัญชาติญี่ปุ่นคนหนึ่งที่สนใจเรื่องเทคโนโลยีการเงินเป็นอย่างมาก
แต่จริง ๆ แล้วชื่อ Nakamoto นั้นยังเป็นปริศนาอยู่ทั้งเรื่องเพศ สัญชาติ รวมถึงเรื่องที่ว่าจริง ๆ แล้วชื่อผู้ใช้งานนี้ เป็นคนหรือคำที่ใช้แทนชื่อกลุ่มเฉย ๆ
แล้วบิตคอยน์ของคุณ Nakamoto หรือ กลุ่ม Nakamoto คืออะไร?
มันก็คือสกุลเงินแบบหนึ่งที่จับต้องไม่ได้ แต่มีตัวตนอยู่ในถังข้อมูลของเครือข่ายคอมพิวเตอร์หลายเครื่อง
ทั้งข้อมูลธุรกรรมในปัจจุบันและก่อนหน้านี้ โค้ดที่ใช้ดำเนินธุรกรรมนั้น ๆ ไปจนถึงที่อยู่ผู้ใช้งานที่มีหน้าตาแบบนี้
“3JT9t1spEZ73CNmQviecrnyiWrnqRhWNLx”
เลยทำให้ถึงแม้เราจะรู้ว่าบิตคอยน์ถูกส่งไปที่ไหน แต่มันก็ยากที่จะรู้ว่าคนที่ใช้ที่อยู่นี้เป็นใคร ชื่ออะไร
พอเป็นแบบนี้ ก็คงสรุปได้ว่าบิตคอยน์เป็นเทคโนโลยีที่ตรวจสอบการทำธุรกรรมได้จริง แต่ก็มีปัญหาเรื่องการเข้าถึงตัวตนผู้ใช้
ซึ่งความลึกลับตรงนี้ก็เป็นเหมือนกับกล่องดำที่รอคนเข้ามาไขปริศนา และทำให้มันโปร่งใสได้จริง
แต่ถึงแม้ธุรกรรมที่ทำผ่านบิตคอยน์จะตรวจสอบได้ยากขนาดไหน แต่เราก็คงต้องยอมรับว่ามีกลุ่มคนจำนวนไม่น้อยที่ยอมใช้มันเป็นเครื่องมือในการทำธุรกรรมไปทั่วโลก
มาต่อกันที่ทองคำ แร่สีทองอันนี้มีประวัติที่ยาวนานกว่ามาก
ทองคำถูกใช้กันอย่างแพร่หลายตั้งแต่เมื่อหลายพันปีที่แล้ว โดยในตอนแรกทองคำถูกใช้เป็นเครื่องประดับตกแต่ง เป็นของแฟชั่น
ก่อนจะกลายมาเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าในเวลาต่อมา จนในปี 1816 ประเทศอังกฤษก็ได้ผูกค่าเงินปอนด์เข้ากับทองคำ ทำให้เงินปอนด์แลกเปลี่ยนได้อย่างอิสระ
ก่อนที่ต่อมาสหรัฐอเมริกาจะเริ่มผูกค่าเงินดอลลาร์เข้ากับทองคำเหมือนอังกฤษ และประกาศการใช้ระบบที่ชื่อว่า Gold Standard ขึ้น
โดยระบบที่ว่า ก็คือ ระบบที่ให้กลุ่มประเทศที่เข้าร่วมผูกค่าเงินเข้ากับทองคำเหมือนกัน เพื่อให้แน่ใจว่าสกุลเงินของประเทศนั้น ๆ มีคุณค่าอยู่จริง ๆ
แต่พอเวลาผ่านไป คุณ Richard Nixon ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ก็ได้สั่งยกเลิก Gold Standard ไป
ด้วยเหตุผลที่ว่า จะได้อัดฉีดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากขึ้น ลองมาดูตัวอย่างให้เห็นภาพกัน
สมมติว่าตอนนี้เงิน 1 บาท ต้องมีค่าเท่ากับทองคำ 10 บาท เสมอ
ซึ่งถ้าเราจะพิมพ์เงินบาทออกมาเพิ่มอีก 1 บาท นั่นเท่ากับว่าเราต้องหาทองคำมาเพิ่มอีก 10 บาท รวมเป็น 20 บาท เราถึงจะพิมพ์เงินบาทออกมาเพิ่มได้
นั่นก็เลยเป็นเหตุผลที่ทำให้มาตรฐาน Gold Standard ถูกยกเลิกไปในตอนนั้น เพราะรัฐบาลจะได้พิมพ์เงินออกมากระตุ้นเศรษฐกิจได้มากขึ้น
แน่นอนว่า การทำแบบนี้เงินดอลลาร์จะต้องอ่อนค่าลงอย่างหนัก แต่ตอนนั้นเงินดอลลาร์ถูกใช้เป็นสกุลเงินสำรองของประเทศ และ ใช้ค้าขายกันอย่างแพร่หลาย
อีกทั้งผู้คนยังเชื่อมั่นในศักยภาพของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา ที่มีขนาดใหญ่และยังเติบโตอย่างแข็งแกร่ง
นั่นก็เลยทำให้การทิ้งทองคำเป็นข้อยกเว้นสำหรับสหรัฐอเมริกา
จะเห็นได้ว่าทองคำมีประวัติมายาวนาน และถูกมองว่าเป็นสินทรัพย์ที่มีค่า จับต้องได้ แต่เราก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการเก็บทองคำนั้น มีน้ำหนักมาก และทำได้ยากกว่าบิตคอยน์
อีกทั้งยังต้องผ่านกระบวนการขุด แปรรูป ไปจนถึงขนส่งอีก สิ่งเหล่านี้เป็นต้นทุนของทองคำซึ่งช่องโหว่ตรงนี้เป็นสิ่งที่บิตคอยน์อุดรอยรั่วได้
ก็น่าติดตามว่าในอนาคตอีก 5 ปี 10 ปี ข้างหน้านี้ บิตคอยน์จะเป็นที่ยอมรับได้มากเท่าทองคำ และ เงินดอลลาร์ หรือไม่
หรือสุดท้ายแล้วทองคำ และดอลลาร์ จะเปลี่ยนมาเป็นผู้ตามเสียเอง..
ที่มา: britannica.com,chainanalysis.com, investopedia.com, nma.org