ตลาดหุ้นไทยร่วงหนักตั้งแต่เปิดตลาด ดัชนีลงไปต่ำสุดที่ 1,270 จุด ร่วงลงกว่า 40 จุด สุดท้ายปิดตลาดสิ้นวันที่ 3 ก.พ.2568 ดัชนีปิดที่ 1,304.39 จุด ลดลง 10.11 จุด มูลค่าการซื้อขาย 54,212.17 ล้านบาท
5 อันดับหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงสุด
CPALL ปิดที่ 52.50 บาท เพิ่มขึ้น 0.50 บาท (+0.96%)
DELTA ปิดที่ 125.50 บาท ลดลง 0.50 บาท (-0.40%)
KBANK ปิดที่ 159.00 บาท ลดลง 1.50 บาท (-0.93%)
KTB ปิดที่ 22.90 บาท ไม่เปลี่ยนแปลง
PTT ปิดที่ 31.00 บาท ลดลง 0.50 (-1.59%)
ขณะที่ฝั่งของตลาดหุ้นในเอเชียก็ร่วงลงเช่นกันโดยเฉพาะดัชนีนิเคอิ ของญี่ปุ่น ปิดตลาดที่ระดับ 38,520.09 จุด ลดลง 1,052.40 จุด หรือ -2.66% เช่นเดียวกับดัชนีคอมโพสิตตลาดหุ้นเกาหลีใต้ (KOSPI) ปิดที่ 2,453.95 จุด ลดลง 63.42 จุด หรือ -2.52%
นักวิเคราะห์ต่างประเมินการปรับลดลงของตลาดหุ้นเอเชียวันนี้ว่า มาจากความกังวลที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมปื ผู้นำสหรัฐฯ ได้ออกมาตรการเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน 10% แคนาดา และเม็กซิโก 25 % ตลาดหุ้นทั่วโลกร่วงลงท่ามกลางความวิตกกังวลว่ามาตรการภาษีนำเข้ามีความเสี่ยงที่จะทำให้เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นและอาจทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
หุ้นไทยลงหนักเต็มไปด้วยปัจจัยลบ นักวิเคราะห์เห็นพ้องกับมุมมองของ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนเน้นคุณค่า (Value Investor) ซึ่งได้ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อก่อนหน้านี้พูดถึงการลงทุนในหุ้นไทยที่ดัชนีตกลงมาต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ซึ่งการลงของหุ้นรอบนี้อาจจะยังไม่จบ เพราะเหตุผลที่ทำให้หุ้นไทยตกยังคงมีอยู่อย่างครบถ้วนนั่นคือสี่ปัจจัยหลัก
1.การเติบโตของ GDP ที่ปีนี้ยังไม่สดใส
2.อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ยังไม่ลดลง
3.กำไรของบริษัทจดทะเบียนที่ยังไม่ดีขึ้น
4.หุ้นไทยโดยรวมมีราคาแพง วัดจาก PE หุ้นไทยสูงถึง 18 เท่า
ดร.นิเวศน์ มองว่า ถึงเวลาต้องปรับโหมดการลงทุนจากโหมดของการ รุก เป็นโหมดของการ รับ เต็มตัว คล้ายกับการรบในสงครามที่เรารู้ว่าสู้ไม่ได้เมื่อมีการรบศักระยะหนึ่งการที่จะบุกเข้าไปต่อโอกาสจะแพ้สูง ทางที่ดีกว่าคือการปรับกองทัพตั้งรับข้าศึกซึ่งจะทำให้มีโอกาสรอดมากกว่า เช่นเดียวกับการลงทุนในหุ้นไทยที่จะต้องรักษาความมั่งคั่งของเราไว้ วิธีที่ดีและปลอดภัยที่สุดคือการถือเงินสดให้มากที่สุด
มุมมองดังกล่าวนักลงทุนหลายคนที่ได้อ่านน่าจะรู้สึกถึงบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นที่ไม่สู้ดีนัก SPOTLIGHT พูดคุยกับ คุณ ประกิต สิริวัฒนเกตุ กรรมการผู้จัดการ บลจ. เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ จำกัด ในรายการ SPOTLIGHT Live Talk คุณประกิตเห็นด้วยกับดร.นิเวศน์ ในมุมมองของหุ้นไทยที่มีปัจจัยลบสำคัญ 4 ด้าน ทำให้การลงทุนหุ้นไทยในอดีตไม่สามารถใช้ได้ในการลงทุนปัจจุบัน มองจังหวะของดัชนีที่ปรับขึ้นตามกรอบแนวต้าน 1360 ถึง 1400 จุด เป็นจังหวะที่นักลงทุนจะต้องพิจารณาเกลี่ยการลงทุน การมีเงินสดในมืออาจเป็นโอกาสให้กลับไปลงทุนในหุ้นไทยได้อีกครั้งในช่วงจังหวะที่เหมาะสม เช่นเดียวกับการไปลงทุนในต่างประเทศที่มองว่า ตลาดเกาหลีใต้ ยุโรป และอินเดีย เป็นตลาดต่างประเทศที่มีความน่าสนใจ
ส่วนมุมมองของนายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด พูดถึงทิศทางตลาดหุ้นไทยเดือนกุมภาพันธ์ว่า SET Index มีโอกาสปรับตัวลงในช่วงแรก หลังในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ปธน.ทรัมป์ของสหรัฐฯลงนามเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากทั้ง แคนาดา เม็กซิโก ในอัตรา 25% และจีน ในอัตรา 10% ตามที่เคยประกาศไว้ก่อนหน้านี้ ปัจจัยดังกล่าวทำให้ไม่กี่ชั่วโมงให้หลัง ได้พัฒนากลายมาเป็นสงครามการค้าย่อมๆ จากการตอบโต้ของประเทศเหล่านี้ ทั้งการเตรียมเก็บภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯของทั้งแคนาดา (25%) และเม็กซิโก รวมถึงจีนที่เตรียมจะยื่นคำร้องต่อ WTO ด้วยเช่นกัน
ปัจจัยนี้ส่งผลกระทบทางอ้อมไปยังราคาน้ำมันดิบให้ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากทั้งแคนาดาและเม็กซิโก ต่างก็เป็นแหล่งนำเข้าทางด้านเชื้อเพลิงที่สำคัญของสหรัฐฯ
มองการปรับตัวลงของดัชนี SET ในช่วงแรกของเดือนน่าจะได้รับการประคับประคองบ้างจากกลุ่ม Oil & Gas ที่ได้ Sentiment เชิงบวกจากราคาน้ำมันดิบที่สูงขึ้น รวมถึงกลุ่ม Domestic play ที่คาดว่าจะเห็นการรีบาวด์ขึ้นบ้าง หลังราคาลงไปแรงจากผู้นำกลุ่มเช่น CPALL ในช่วงปลายเดือนก่อน ไม่นับรวมกับ Valuation ของดัชนีที่อยู่ต่ำเป็นทุนเดิม ด้วยเหตุนี้ จึงเชื่อว่ามีโอกาสที่หุ้นไทยจะปรับตัวแข็งแกร่งกว่าหุ้นต่างประเทศ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับประเทศที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากสงครามการค้าที่เกิดขึ้น
ประเมินแนวรับสำคัญของ SET Index เดือนนี้จะอยู่ที่จุดต่ำสุดที่เคยทำไว้แถวบริเวณ 1270-1280 จุด ซึ่งในเชิง Valuation ถือว่าน่าสนใจมาก เนื่องจากเป็นระดับเทียบเท่า PBV 1.22x เท่านั้น ถูกที่สุดเป็นอันดับ 3 นับตั้งแต่วิกฤติซับไพรม์ ในเชิงกลยุทธ์ แนะนำซื้อหุ้นที่บริเวณแนวรับดังกล่าวนี้ โดยเน้นไปที่กลุ่ม Domestic play ที่ค่อนข้างปลอดภัยจากประเด็นสงครามการค้าที่เกิดขึ้นนี้
ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามในเดือนกุมภาพันธ์
1.ความเสี่ยงที่สงครามการค้าจะลากยาวจนก่อให้เกิดความกลัวเกี่ยวกับการกลับมาของเงินเฟ้ออีกครั้ง ซึ่งหากเกิดขึ้นจริง อาจทำให้โอกาสในการปรับลดดอกเบี้ยของธปท.ในเดือนนี้ลดลง
2.การประกาศผลประกอบการบจ.ไตรมาส 4 ซึ่งหากออกมาแย่กว่าคาด อาจนำมาสู่การปรับลดประมาณการในตลาดอีกครั้ง
3.แรงขายสุทธิของนักลงทุนสถาบันในประเทศที่อาจเกิดขึ้น หากเริ่มมีความชัดเจนว่าตลท.จะมีการปรับปรุงการคำนวณดัชนีหุ้นไทยรูปแบบใหม่ไปเป็นวิธี Free-float adjusted market cap weighted
4.ความเสี่ยงที่ MSCI อาจปรับลดน้ำหนักหุ้นไทย จนนำมาสู่แรงขายของนักลงทุนต่างชาติในระยะสั้น
สำหรับกลุ่มหุ้นที่น่าสนใจในเดือนนี้ มองไปยัง 3 ธีมการลงทุนสำคัญ
1.หุ้นกลุ่มค้าปลีกที่ราคาปรับลงมาแรง และได้ประโยชน์จากมาตรการ Easy E-Receipt รวมถึงการเติบโตของนักท่องเที่ยวต่างชาติ
2.หุ้นขนาดใหญ่ที่ Valuation ลงมาอยู่ในโซน Trough เมื่อเทียบเคียงกับในอดีต
3.กลุ่มธนาคารที่จะได้ประโยชน์ หากดัชนี Free float adjusted market cap weighted index ได้รับความนิยมในตลาดสูงขึ้น