นาทีนี้สินทรัพย์ที่ร้อนแรงที่สุดเห็นจะเป็น ‘ทองคำ’ วันนี้วันเดียวราคาทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ โดยราคา Gold Spot ใกล้แตะ 3,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อทรอยออนซ์ ขณะที่ราคาทองคำในประเทศปรับตัวขึ้นถึง 13 ครั้งรวมแล้วปรับขึ้น 850 บาทต่อบาททองคำ ทะลุ 47,000 บาทแล้ว ทำให้ในเวลาไม่ถึง 2 เดือนของปี 68 ทองคำปรับขึ้นจากจุดต่ำสุดราว 4,000 บาทแล้ว
วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ฟิวเจอร์ ระบุว่า ราคาทองคำสามารถยืนเหนือ 2,852 ดอลลาร์ ระยะสั้นจึงเกิด Triple Bottom หนุนแรงซื้อทางเทคนิค โดยภาพรวมราคาแกว่งตัวในกรอบกว้างขึ้น ขณะที่แรงซื้อยังมีอยู่ในฐานะที่ทองคำเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยหลังจากล่าสุด
โดนัลด์ ทรัมป์ อาจก่อสงครามการค้าหนักขึ้น โดยเตรียมขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียม 25% ในวันนี้ (10 ก.พ.68)
ขณะที่ตลาดจับตาการตอบโต้หลังจีนขึ้นภาษีนำเข้าถ่านหินและก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากสหรัฐฯ ในอัตรา 15% และเรียกเก็บภาษีนำเข้าน้ำมันดิบ อุปกรณ์ด้านการเกษตร และรถยนต์บางประเภท ในอัตรา 10% โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 ก.พ.นี้เช่นกัน
ธนาคารชั้นนำระดับโลกต่างคาดการณ์ว่า ราคาทองคำจะยังคงพุ่งขึ้นอย่างแข็งแกร่งในปี 2568 โดยมีแนวโน้มที่จะทะยานขึ้นแตะระดับ 3,000 ดอลลาร์/ออนซ์ เนื่องจากนักลงทุนเข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความไม่แน่นอนด้านภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งรวมถึงสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ และผลกระทบที่จะมีต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ
ซิตี้กรุ๊ป ปรับเพิ่มเป้าหมายราคาทองคำในระยะสั้น (3 เดือน) ขึ้นสู่ระดับ 3,000 ดอลลาร์ต่อทรอยออนซ์ จากเดิม 2,800 ดอลลาร์ และคงตัวเลขคาดการณ์ราคาทองคำในช่วง 6-12 เดือนเอาไว้ที่ระดับ 3,000 ดอลลาร์
ขณะที่ธนาคารยูบีเอส (UBS) ระบุว่า แม้ความวิตกกังวลเกี่ยวกับมาตรการภาษีศุลกากรได้ผลักดันราคาทองคำพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ไปแล้ว แต่ก็คาดว่าราคาทองคำยังมีโอกาสที่จะปรับตัวขึ้นไปอีก โดยยูบีเอสได้ปรับเพิ่มคาดการณ์ราคาทองคำขึ้นสู่ระดับ 3,000 ดอลลาร์/ออนซ์ในช่วง 12 เดือนข้างหน้า
ขณะที่ตลาดหุ้นไทยร่วงลงในทิศทางตรงกันข้ามกับทองคำ วันนี้ ร่วงลง 11.60 จุด หรือ 0.90% SET Index ปิดที่ 1,270.49 จุด มูลค่าการซื้อขาย 43,206.59 ล้านบาท โดยดัชนีหุ้นไทยวันนี้ลงไปต่ำสุดที่ 1,262.41 จุด
นายอัสสเดช คงศิริ กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ยอมรับว่าตลาดหุ้นไทยมีความผันผวน โดยทางตลาดหลักทรัพย์พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเพื่อหารือแผนพยุงตลาดหุ้นไทย เป็นการกระตุ้นระยะสั้น
โดยทางกระทรวงการคลังได้สอบถามถึงเงินคงค้างของกองทุนรวมหุ้นระยะยาวหรือ LTF ขณะที่สภาธุรกิจตลาดทุนไทยได้เสนอกระทรวงการคลังให้ปรับเงื่อนไขกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืนหรือ ThaiESG ให้มีนโยบายลงทุนในหุ้นไทยทั้งหมดเหมือนกองทุน LTF เนื่องจากมองว่า ThaiESG ยังไม่ได้ช่วยหนุนตลาดหุ้นไทยมากนักเนื่องจากส่วนใหญ่ไปลงทุนในตลาดตราสารหนี้
ขณะที่นายสรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กรตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย บอกว่า การปรับตัวลงของหุ้นไทยเป็นการรับบรรยากาศจากต่างประเทศมากกว่าและมีการขายของกองทุน LTFเป็นแรงกดดันตลาดแต่ในสภาพเช่นนี้ก็ยังมีหุ้น Under Value และเห็นแนวโน้มการซื้อหุ้นคืนของบริษัทจดทะเบียน หลังบางบริษัทเห็นว่าราคาไม่ได้สะท้อนปัจจัยพื้นฐานของบริษัท
ขณะที่ข้อมูลภาวะหุ้นไทย ณ สิ้นเดือนมกราคม 2568 SET Index ปิดที่ 1,314.50 จุด เดือนแรกของปี 2568 SET Index ปรับลดลง 6.1% แต่กลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีกว่า SET Index เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2567 ได้แก่ กลุ่มการเงินและกลุ่มพลังงาน
ทั้งนี้มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันของ SET และ mai ยู่ที่ 39,006 ล้านบาทลดลง 17.2% จากเดือนมกราคมปีก่อน
โดยในเดือนมกราคมนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 11,504 ล้านบาทนับเป็นการขายสุทธิต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ขณะที่ในปี 2024 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในหุ้นไทย 146,906 ล้านบาท
สถิติอื่นๆที่น่าสนใจของภาวะตลาดหุ้นไทยในเดือน ม.ค.68
• เดือนมกราคม 2568 มีบริษัทเข้าจดทะเบียนใหม่ซื้อขายใน mai 1 หลักทรัพย์ ได้แก่ บมจ. โปร อินไซด์ (PIS)
• Forward P/E ของตลาดหลักทรัพย์ไทย ณ สิ้นเดือนมกราคม 2568 อยู่ที่ระดับ 15.0 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 12.6 เท่า และ Historical P/E อยู่ที่ระดับ 17.7 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 14.2 เท่า
• อัตราเงินปันผลตอบแทน ณ สิ้นเดือนมกราคม 2568 อยู่ที่ระดับ 3.64% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ 3.28%
ที่มา :สมาคมค้าทองคำ , ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ,วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส