ไม่นานมานี้ ในช่วงไตรมาส 1 ของปี 2568 หลายคนน่าจะได้เห็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยประกาศซื้อหุ้นคืนกันหลายบริษัท อย่างเช่น
- บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่ซื้อหุ้นคืนไปแล้วเป็นเงิน 2,550 ล้านบาท โดยมีแผนจะซื้อหุ้นคืนในสัดส่วน 1.65% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด
- บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เจ้าของแบรนด์ทูน่ากระป๋อง SEALECT เองก็ซื้อหุ้นคืนไปแล้วเป็นเงิน 1,780 ล้านบาท โดยมีแผนจะซื้อหุ้นคืนในสัดส่วน ถึง 9.99% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด
นอกจากนี้ก็ยังมีบริษัทอื่น อย่างเช่น
- TOA เจ้าของสีท้าบ้านแบรนด์ TOA
- SNNP ผู้ผลิตขนมขนเคี้ยวเจ้าของแบรนด์ เบนโตะ เจ่เล่
- TKN เจ้าของแบรนด์สาหร่ายเถ้าแก่น้อย
ที่ตบเท้าเข้ามาซื้อหุ้นคืนเหมือนกัน แล้วการซื้อหุ้นคืนมันคืออะไร ? ทำไมบริษัทจดทะเบียนถึงชอบทำกันในช่วงนี้ ลองมาดูกัน
การซื้อหุ้นคืน อธิบายง่าย ๆ ก็คือการที่บริษัทซื้อหุ้นของตัวเองคืนมาจากนักลงทุน เป็นวิธีที่ใช้จัดการเงินสดในมือของบริษัท
เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น ตัวอย่างเช่น บริษัท A มีหุ้นอยู่ 1,000 หุ้น และมีกำไร 1,000 บาท ซึ่งเท่ากับว่าบริษัท A มีกำไรต่อหุ้น 1 บาทต่อหุ้น
แต่ถ้าบริษัท A ประกาศซื้อหุ้นคืน 10% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด หรือ จำนวน 100 หุ้น บริษัท A ก็จะมีจำนวนหุ้นเหลืออยู่ 900 หุ้น ซึ่งจะทำให้กำไรต่อหุ้นของบริษัท A กลายเป็น 1.11 บาทต่อหุ้น หรือ เพิ่มขึ้น 11%
พอเป็นแบบนี้ ก็จะเท่ากับว่าบริษัท A มีกำไรต่อหุ้นเพิ่มขึ้นทันที เพราะอย่างนั้นมูลค่าของหุ้น A ก็ควรจะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
จะเห็นได้ว่าการซื้อหุ้นคืน เป็นวิธีที่สร้างผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้น
ซึ่งนอกจากการซื้อหุ้นคืนแล้วก็ยังมีอีก 2 วิธี ก็คือ
- เอาเงินไปขยายธุรกิจ หรือ ลงทุน เพิ่มเติม
- จ่ายเป็นเงินปันผลออกมาให้กับนักลงทุน ซึ่งจะมีภาษีหัก ณ ที่จ่ายอยู่ 10%
ถ้าธุรกิจของบริษัทยังเติบโตดี ลงทุนแล้วรายได้ กำไรเติบโต การเอาเงินไปขยายธุรกิจก็จะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า
ส่วนกรณีที่บริษัทเอาเงินไปขยายธุรกิจ แล้วได้ผลตอบแทนไม่คุ้มค่า การซื้อหุ้นคืน หรือ การจ่ายปันผล ก็จะเป็นวิธีที่ดีกว่า
แล้วการซื้อหุ้นคืน กับ การจ่ายปันผล ต่างกันอย่างไร ?
ปกติแล้วการจ่ายเงินปันผลกับผู้ถือหุ้นจะมีการเก็บภาษีหัก ณ ที่จ่าย อยู่ที่ 10%
ส่วนการซื้อหุ้นคืนมีข้อดีก็คือไม่ต้องเสียภาษี แต่ก็มีเงื่อนไขอยู่ว่าบริษัทจะต้องซื้อหุ้นในราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงของบริษัท
เพราะไม่อย่างนั้นจะเป็นการเอาเงินของนักลงทุนไปใช้แบบไม่คุ้มค่า
ส่วนอีกข้อจำกัดของการซื้อหุ้นคืนในไทยก็คือ ทำทีละมาก ๆ ทีเดียวไม่ได้
รู้ไหมว่า ถ้าบริษัทจดทะเบียนในไทยตัดสินใจจะซื้อหุ้นคืนทันที จะต้องทำในสัดส่วนที่ไม่เกิน 10% ของทุนชำระแล้ว
และถ้าอยากซื้อหุ้นคืนในสัดส่วนที่เกิน 10% ของทุนชำระแล้ว จะต้องจัดประชุมผู้ถือหุ้นขึ้นมาก่อน และ ซื้อหุ้นคืนภายใน 1 ปี
ส่วนสาเหตุที่ต้องมีข้อจำกัดตรงนี้ ก็เพื่อป้องกันไม่ให้บริษัทใช้การซื้อหุ้นคืนทีละมาก ๆ เป็นเครื่องมือในการลากราคาหุ้นนั่นเอง
จะเห็นได้ว่าทั้งการซื้อหุ้นคืน และ การจ่ายปันผล ต่างก็มีข้อดี และ ข้อจำกัดที่ต่างกันออกไป
โดยการจ่ายเงินปันผลทำได้เลยทันที แต่ต้องเสียภาษีส่วนการซื้อหุ้นคืนไม่ถูกหักภาษี แต่มีเงื่อนไข อย่างเช่น เรื่องสัดส่วน และ เรื่องราคาหุ้นที่ต้องต่ำกว่าพื้นฐานกิจการ
ซึ่งนั่นก็โยงกลับมาถึงเหตุผลที่ว่า ทำไมช่วงนี้บริษัทจดทะเบียนในไทยถึงพากันซื้อหุ้นคืน
เพราะตลอด 3 ปีที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทย (SET) ได้ปรับตัวลงมา -32% ไปแล้ว หลายบริษัทในไทยเลยใช้โอกาสตรงนี้ในการซื้อหุ้นคืน
ซึ่งก็จะช่วยให้บริษัทมีกำไรต่อหุ้นมากขึ้น มีมูลค่าเพิ่มในสายตานักลงทุน
อีกทั้งยังเป็นการกู้ความเชื่อมั่นให้นักลงทุนเห็นว่า บริษัทเองมองว่าราคาตรงนี้ ต่ำกว่าพื้นฐานจริง ๆ นั่นเอง
ที่มา: set.or.th, setinvestnow.com