ตัวเลขเงินฝากในไทยปี 2566 ติดลบครั้งแรกในรอบ 10 ปี สะท้อนถึงปัญหาเศรษฐกิจที่รุนแรงขึ้น พบว่า 112 ล้านบัญชี หรือกว่า 80% ของผู้มีเงินฝาก มีเงินในบัญชีเฉลี่ยไม่ถึง 50,000 บาท สาเหตุหลักมาจากปัจจัยหลายประการ ทั้งการหันไปลงทุนทางเลือกที่ให้ผลตอบแทนสูง เช่น ตราสารหนี้ ทองคำ อสังหาริมทรัพย์ และหุ้น ประกอบกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น ดังนั้นในวันนี้ทาง Spotlight จะพาท่านผู้อ่านไป ส่องบัญชีเงินฝากคนไทยกันว่า เวลานี้ท่านผู้อ่านอยู่ในกลุ่มไหน
จากข้อมูลของทาง สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) ได้ระบุว่า ในเวลานี้จำนวนผู้ฝากเงินไทยเพิ่มขึ้น 3.37% ในเดือนสิงหาคม 2566 จากปีก่อนหน้า โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ฝากเงินที่มีเงินฝากไม่เกิน 50,000 บาท อย่างไรก็ตาม จำนวนเงินฝากสุทธิลดลง 1.32% ในเดือนเดียวกัน ซึ่งเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 10 ปี ปัจจัยที่ส่งผลต่อการลดลงของเงินฝากสุทธิ ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา ค่าครองชีพที่สูงขึ้น และพฤติกรรมการออมของคนไทยที่เปลี่ยนไป
และจากสถิติเงินฝากย้อนหลัง 5 ปี ( 2562 - ส.ค. 2566 ) พบว่า จำนวนผู้ฝากที่มีเงินฝากไม่เกิน 50,000 บาท โดยในเดือน ส.ค. 2566 มีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 4.45% มีจำนวนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี แต่จำนวนเงินฝากกลับเริ่มหดตัวตั้งแต่ปี 2565 โดยในเดือนสิงหาคม 2566 ลดลงถึง 3.61%
จากรายงานข้อมูลสถิติเงินฝากของ สคฝ. ที่ได้รับความคุ้มครอง ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2566 พบว่าใน 10 ปี ที่ผ่านมาลดลง 1.32% เหลือ 15.96 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2566 ลดลงจากสิ้นปี 2565 จำนวน 212,688 ล้านบาท โดยปัจจัยหลักมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ภาวะสงคราม ราคาพลังงานปรับตัวสูง การดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของธนาคารกลางต่างๆ ของโลก และค่าครองชีพที่สูงขึ้น ส่งผลให้ผู้ฝากทุกกลุ่มมีเงินฝากลดลง
สำหรับผู้ฝากรายย่อยที่มีเงินฝากไม่เกิน 1 ล้านบาทได้รับผลกระทบหนักที่สุด มีการปรับตัวลงทั้งจำนวนเงินฝากและจำนวนผู้ฝากตลอดช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น ส่งผลให้ผู้ฝากเหล่านี้ต้องนำเงินออมมาใช้จ่าย จนอาจทำให้สุขภาวะที่ดีทางการเงินอ่อนแอลงได้
จากข้อมูลจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ได้รายงานสถิติเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในประเทศไทย ล่าสุด ณ เดือน ต.ค. 2566 พบว่าบัญชีเงินฝากรวมทุกประเภทของโดยแบ่งออกเป็น 12 ระดับดังนี้
1.บัญชีเงินฝากไม่เกิน 50,000 บาท
2.บัญชีเงินฝากเกิน 50,000 บาท แต่ไม่เกิน 1 แสนบาท
3.บัญชีเงินฝากเกิน 1 แสนบาท แต่ไม่เกิน 2 แสนบาท
4.บัญชีเงินฝากเกิน 2 แสนบาท แต่ไม่เกิน 5 แสนบาท
5.บัญชีเงินฝากเกินกว่า 5 แสนบาท แต่ไม่เกิน 1 ล้านบาท
6.บัญชีเงินฝากเกิน 1 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 10 ล้านบาท
7.บัญชีเงินฝากเกิน10 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 25 ล้านบาท
8.บัญชีเงินฝากเกิน 25 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 50 ล้านบาท
9.บัญชีเงินฝากเกิน 50 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 100 ล้านบาท
10.บัญชีเงินฝากเกิน 100 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 200 ล้านบาท
11.บัญชีเงินฝากเกิน 200 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 500 ล้านบาท
12.บัญชีเงินฝากตั้งแต่ 500 ล้านบาทขึ้นไป
ข้อมูลจำนวนบัญชีเงินฝากของคนไทยปี 2566 สะท้อนให้เห็นว่าความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจนยังอยู่ในระดับสูงต่อไป โดยเห็นได้จากคนส่วนใหญ่ของประเทศ หรือ จำนวนบัญชีเกือบ 90% ของทั้งหมด เป็นผู้มีเงินในบัญชีไม่เกิน 50,000 บาท รวมกันทั้งหมด 437,428 ล้านบาท จำนวนบัญชีมากกว่า แต่มูลค่าน้อยกว่าผู้มีเงินในบัญขีเกิน 500 ล้านบาท แม้มีจำนวนเพียง 1,504 บัญชี คิดเป็น 0.00135% ของจำนวนบัญชีทั้งหมด แต่มีมูลค่ารวมสูงถึง 2.34 ล้านล้านบาท
ยิ่งเจอภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้นจาก ภาวะเศรษฐกิจโลก ที่ได้รับผลกระทบจาก สงครามและความไม่สงบสุขทั่วโลกในเวลานี้ อาจจะยิ่งทำให้เห็นความเหลื่อมล้ำของคนไทยห่างกันมากยิ่งขึ้น
ที่มา ธนาคารแห่งประเทศไทย และ สถาบันคุ้มครองเงินฝาก