บรรยากาศการลงทุนส่งท้ายปี 2566 ของตลาดหุ้นไทยอาจไม่ค่อยสดใสนักโดยล่าสุดวันนี้(7ธ.ค.2566) ตลาดหุ้นไทยยังปรับลดลงต่อเนื่องปิดตลาดที่ 1,378.73 จุด ปรับตัวลดลง 10.82 จุด มูลค่าการซื้อขายเบาบาง 41,649.80 ล้านบาท โดยระหว่างวันดัชนีลงไปต่ำสุดที่ระดับ 1,373.34 จุด สูงสุดที่ 1,384.52 จุด
บทวิเคราะห์จาก บลริษัทหลักทรัพย์ ASL ระบุ ปัจจัยกดดันตลาดหุ้นวันนี้มาจากจีนรายงานตัวเลขนำเข้า-0.6 % ต่ากว่าที่คาดที่3.3%ประกอบกับที่Moody’sที่ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของรัฐบาลจีนลงสู่ "เชิงลบ" จาก"มีเสถียรภาพ“ ทำให้มองภาพเศรษฐกิจจีนจะยังคงชะลอตัวลงอีกทั้งราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงเกือบ 3% จากแนวโน้มความต้องการที่ลดลงจากจีนและสหรัฐ กดดันกลุ่มพลังงานทำให้ปรับตัวลง ด้านปัจจัยในประเทศกระทรวงพาณิชย์ รายงานตัวเลขเงินเฟ้อไทยเดือน พ.ย.หดตัว0.44% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ส่งผลให้เงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 11 เดือนอยู่ที่ 1.41%
อย่างไรก็ตามวันนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานกล่าวเปิดงานสัมมนาแถลงยุทธศาสตร์ ก.ล.ต. ประจำปี 2567 พร้อมด้วย นายพิชิต อัคราทิตย์ ประธานกรรมการ ก.ล.ต. และนางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ ก.ล.ต. โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “นโยบายและทิศทางการพัฒนาตลาดทุนไทย”
นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำ 3 แนวทางสำคัญ ที่รัฐบาลจะเสริมสร้างจุดแข็งของตลาดทุนไทยให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยลดความผันผวน อีกทั้งส่งเสริมโอกาสการเติบโต(prospect) และเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันของทั้งตลาดทุนไทยและเศรษฐกิจโดยรวมในระยะข้างหน้าต่อไป ดังนี้
รัฐบาลมุ่งเน้นเปิดตลาดการค้าระหว่างประเทศ เขตเศรษฐกิจ และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะเร่งเจรจาและขยาย Free Trade Agreement (FTA) เปิดตลาดใหม่ ๆ และสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะประเทศทางยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา รวมทั้ง ส่งเสริมความสะดวกในการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยให้กับผู้ลงทุนและธุรกิจต่างประเทศ (ease of doing business) นอกจากนี้ จะดำเนินการนำเสนอข้อมูลการลงทุนของตลาดหุ้นไทย หรือ การโรดโชว์เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ลงทุนต่างประเทศอย่างต่อเนื่องด้วย
รัฐบาลจะดำเนินการและสนับสนุนทุกภาคส่วนเพื่อเดินหน้าอย่างเต็มกำลัง มุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs (Sustainability Development Goals) และเป้าหมายของประเทศไทยด้านความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2608 จะดำเนินการส่งเสริมให้ตลาดทุนไทยพัฒนากลไกให้ภาคธุรกิจมีเงินทุนเพียงพอในการเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (green companies) และให้ธุรกิจขนาดเล็กเข้าถึงองค์ความรู้ เทคโนโลยี และเงินทุนเพื่อปรับตัวให้พร้อมรับมือกับวิกฤตสิ่งแวดล้อม
พร้อมผลักดัน นโยบายการกระตุ้นตลาดตราสารหนี้สีเขียว (Green Bond Market) การระดมทุนเพื่อสนับสนุน SDGs (Financing for SDGs) และนโยบายการจัดหาเงินทุนที่ยั่งยืนที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล กลไกการเงินสีเขียว (green finance mechanism) โดยตั้งเป้าการออกและเสนอขายตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-Linked Bond) ไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาท เพื่อให้องค์กรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันดำเนินนโยบายที่สร้างความยั่งยืน และการจัดทำ Thailand Green Taxonomy ส่งเสริมการเติบโตและการลงทุนในโครงการด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม
เพื่อให้มีเงินเพียงพอในการดำเนินธุรกิจ เติบโตและขยายต่อไปได้ในระดับโลก โดยด้านเศรษฐกิจดิจิทัล ภาครัฐและเอกชนจะลงทุนร่วมกันในบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ปัญญาประดิษฐ์ การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ด้าน SMEs / Startups ภาครัฐจะมีการพัฒนากลไกช่วยเหลือ SMEs / Startups อย่างครบวงจร ตั้งแต่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การจัดหาเงินทุน ตลอดจนการเปิดตลาด
ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่ารัฐบาลยังมีความหลากหลายทางนโยบายที่จะดำเนินการในภาคส่วนอื่น ๆ ด้วย ซึ่งเชื่อมั่นว่าหากผนวกการดำเนินการของรัฐบาลในทุกภาคส่วนเข้าด้วยกันแล้วจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืนต่อไป
นายกรัฐมนตรี ระบุด้วยว่า ปัจจัยพื้นฐานของตลาดทุนไทย มีความแข็งแกร่งในระยะยาวและมีความยืดหยุ่นสูง ไม่ว่าจะเป็นมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดหุ้นซึ่งติดอันดับที่ 27 ของโลกและมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของอาเซียน อีกทั้งมีมูลค่าเสนอขายหุ้น IPO สะสมย้อนหลังสูงที่สุดในอาเซียน เช่นเดียวกับสภาพคล่องนับตั้งแต่ปี 2555
โดยสำหรับด้านความยั่งยืน ส่วนที่เห็นเป็นรูปธรรม คือ การจัดตั้ง Thailand ESG Fund ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีบริษัทจดทะเบียนที่ได้รับคัดเลือกเข้าสู่ดัชนีความยั่งยืนในระดับสากลจำนวนมาก เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ไทยมีพันธบัตรสีเขียวและในอนาคตจะมีการระดมทุนไปดำเนินกิจกรรมเหล่านี้มากขึ้นทั้งภาครัฐและเอกชน ให้ได้ประโยชน์ทั้งผู้ระดมทุนไปทำสิ่งที่ดีกับสังคมและผู้มีเงินออมที่ได้ผลตอบแทนระยะยาว ควบคู่กับการส่งเสริมด้าน ESG ของประเทศด้วย โดยข้อมูลเบื้องต้นคาดการณ์ว่า จะมีบริษัทจัดการลงทุน (“บลจ.”) ที่เสนอขายกองทุน ThaiESG จำนวน 16 บลจ. จำนวนกองทุน 25 กองทุน สร้างเม็ดเงินระดมทุนไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท จากผู้ลงทุนที่อายุตั้งแต่ 30-60 ปี ไม่น้อยกว่า 100,000 บัญชี และคาดว่าจะช่วยสร้างนักลงทุนหน้าใหม่ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน