“ESG” จึงกลายเป็นเทรนด์ในการลงทุนที่ได้รับความนิยมจากนักลงทุนทั่วโลกในปัจจุบันและอนาคต เนื่องจากเป็นแนวคิดที่นักลงทุนใช้ประกอบการพิจารณาลงทุน เพราะธุรกิจที่มี ESG ที่ดีจะสะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการแข่งขันและศักยภาพของการเติบโตในระยะยาว ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจจากหลายๆ ประเทศทั่วโลก ที่ชี้ให้เห็นว่าการลงทุนแบบยั่งยืนกำลังมีอิทธิพลในตลาดการลงทุนมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะการลงทุนในกลุ่มธุรกิจ ESG จะอยู่ในกลุ่มการลงทุนอย่างยั่งยืน (Sustainable Investment)
กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ในฐานะนักลงทุนสถาบันขนาดใหญ่ (Universal Owner)ของไทย ที่มีสินทรัพย์สุทธิภายใต้การบริหารมูลค่าประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท มีจำนวนหลักทรัพย์ที่ถือครองเป็นจำนวนมาก และกระจายตัวอยู่ทั่วโลก โดย กบข. ได้มีการพัฒนาการดำเนินงานด้านการลงทุน ESG มาอย่างต่อเนื่อง จนได้รับการยอมรับในระดับสากล และถือเป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่เป็นกลไกในการขับเคลื่อนการลงทุนที่มุ่งเน้น ESG มาอย่างต่อเนื่อง ผลสำเร็จจากการจัดทำรายงาน ESG Attribution Report เพื่อนำเสนอข้อมูลแนวทางและผลสัมฤทธิ์ของการบูรณาการปัจจัยด้าน ESG ออกมาสู่สาธารณะ
“กบข. ตระหนักถึงบทบาทของการเป็น “นักลงทุนที่เป็นเจ้าของสินทรัพย์ทั่วโลก (Universal Owner)” ที่เชื่อว่า กบข. สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีระยะยาวให้กับสมาชิกควบคู่ไปกับการสร้างผลตอบแทนทางสังคมได้ กบข. มีสินทรัพย์ภายใต้บริหาร 1.2 ล้านล้านบาท จุดยืนของนักลงทุนสถาบันรวมถึง กบข. จึงต้องรับผิดชอบถึง 3 ขา ได้แก่ P แรก People หมายถึง สมาชิก กบข. ที่ต้องมั่นใจว่าจะมีเงินเพียงพอหลังเกษียณอายุราชการและมั่นคง ส่วน P ที่สองก็คือ Planet ที่ต้องมีความรับผิดชอบต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก สุดท้ายก็คือ People in general หมายถึงสังคมทั่วไป การลงทุน ของ กบข. ย่อมส่งผลกระทบต่อสังคมและประชากรโลก จึงต้องคำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการมีธรรมาภิบาลที่ดี (Environment, Social and Governance หรือ ESG) ดังนั้น ESG จึงเป็นยุทธศาสตร์และแผนงานที่สำคัญด้านการลงทุนของ กบข. ที่ให้น้ำหนักกับกลุ่มธุรกิจ Sustainability” ดร.ศรีกัญญา ยาทิพย์ เลขาธิการ กบข. กล่าว
ดร.ศรีกัญญา เล่าต่อว่า เมื่อ กบข. มีจุดยืนของการลงทุนกลุ่มธุรกิจยั่งยืน เพื่อสร้างผลตอบแทนในระยะยาวจึงจำเป็นต้องวางเกณฑ์บริหารจัดการที่มีความซับซ้อนมากกว่ากองทุนของสถาบันทั่วไป เพราะต้องรักษาผลตอบแทนที่เป็นบวกให้กับสมาชิกหลังเกษียณด้วย ดังนั้นจึงต้องมุ่งสร้างความสมดุลระหว่างผลตอบแทนจากการลงทุนที่มาจากผลการดำเนินงานทางธุรกิจ และการพัฒนาธุรกิจที่ยั่งยืนจะผ่านกรอบการทำงานที่สำคัญคือกำหนดนโยบาย วิเคราะห์ ตรวจสอบข้อมูลและผลการดำเนินงานของบริษัท (Due diligence) ที่จะเข้าไปลงทุนก่อนทุกครั้ง
โดยผู้จัดการกองทุนทั้งในและต่างประเทศ จะทำหน้าที่คัดกรองและรายงานผลทั้งในรูปแบบการประเมินมูลค่าสินทรัพย์ ปัจจัยด้านการเงิน (Financial) และการเดินหน้าด้าน ESG แน่นอนว่าหากบริษัทนั้นมีผลตอบแทนที่ดีแต่เมื่อประเมิน ESG ไม่ผ่านเกณฑ์การตัดสินใจลงทุนจะไม่เกิดขึ้น เช่นเดียวกับคุณสมบัติของผู้จัดการกองทุนที่ต้องเข้าใจหลักการ ESG และตัดสินใจภายใต้เงื่อนไขที่สอดรับกับแนวทาง กบข. เพื่อให้กลไกการทำงานของ กบข. มีประสิทธิภาพในการลงทุนอย่างสูงสุด ซึ่งจะเห็นว่า กบข. มีกระบวนการที่เข้มข้นในการตัดสินใจลงทุน
เมื่อถามถึงสูตรสำเร็จคัดเลือกองค์กร ESG เพื่อลงทุน เลขาฯ กบข. ย้ำว่าแต่ละกิจการไม่เหมือนกัน อย่างคอนซูเมอร์โปรดักส์ให้ความสำคัญกับเรื่องรีไซเคิล ขณะที่ธุรกิจยานยนต์มุ่งไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า(EV) ฯลฯ กบข. จึงต้องวิเคราะห์ลงลึกแต่ละกิจการและเกณฑ์คัดเลือก โดยมีการทำงานร่วมกับธนาคารโลก(เวิลด์แบงก์) จัดทำรายงาน “วิธีการประเมินน้ำหนักและคะแนนมูลค่าสินทรัพย์ลงทุนของ กบข. ตามหลักที่คำนึงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล” (ESG Weight and Score: Asset Valuation Methodology©) พร้อมทั้งยังทำงานร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ในการประเมินธุรกิจของบริษัทจดทะเบียนในระดับ Top Ten เรียกว่า Best Practice ที่มีการประเมินด้านสิทธิมนุษยชน ที่เน้นให้ความสำคัญสิทธิแรงงานในองค์กร ตลอดจนแรงงานที่อยู่ในระบบธุรกิจที่เป็นห่วงโซ่อุปทาน เน้นไปที่กระบวนการดูแลแรงงานเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นหนึ่งในหัวข้อสำคัญของการประเมิน
การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity loss) เป็นหนึ่งในสามวิกฤตการณ์ของโลก ควบคู่ไปกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและปัญหามลภาวะ เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสิ่งแวดล้อมที่ต้องเร่งแก้ไข ดังนั้น ในปี 2567 โดยส่วนตัวของ ดร.ศรีกัญญา มองว่าการขับเคลื่อนธุรกิจยั่งยืน(ESG) ที่ยังคงเป็นแกนหลักและยังคงเป็นเทรนด์ที่มาแรง โดยเฉพาะธุรกิจที่มีแนวทางเกี่ยวกับ “Biodiversity” หรือความหลากหลายทางชีวภาพที่ปัจจุบันเป็นการร่วมกันระหว่างภาครัฐ เอกชน นักลงทุน เพราะรัฐให้ความสำคัญกับ Global warming เช่น ธุรกิจโรงแรมที่อยู่ติดทะเลที่ต้องวางแผนทางทำให้ชายหาดสวยงาม ลดผลกระทบต่อสัตว์ทะเล เพื่อให้กลับมามีความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นต้น
อีกกระแสหนึ่งของ ESG ที่กำลังมาคือบริษัทต่างๆ เดิมใช้แนวทาง “การชดเชยคาร์บอน” (carbon offsetting) ซึ่งเป็นกลไกที่เปิดโอกาสให้บุคคล หรือองค์กรจ่ายเงินซื้อคาร์บอนเครดิต ผ่านบริษัทนายหน้าในจำนวนเทียบเท่ากับ Carbon Footprint หรือปริมาณของคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกต่างๆ ที่บุคคล หรือองค์กรนั้นปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ เริ่มปรับมาสู่ Carbon Insetting คือ ลงทุนในโครงการลดคาร์บอนภายในห่วงโซ่อุปทานของตนเองที่จับต้องได้ ดังนั้นทิศทางกิจการ in setting กำลังมาแทน offsetting ซึ่งผู้จัดการกองทุนจะเข้าไปพูดคุยและดูแลใกล้ชิดในจุดนี้
“ปัญญาประดิษฐ์ (AI : Artificial Intelligence) จะเป็นเทคโนโลยีที่อาจเปลี่ยนสังคมและการดำเนินธุรกิจไปจากเดิม นอกจากนี้ยังมีผลไปถึงโครงสร้างทางธนาคาร โครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป ขณะเดียวกัน ESG ก็ยังจะสร้าง “ตลาดใหม่” ที่ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะส่งผลต่อคนทั่วโลกและทางหลากหลายทางชีวภาพด้วย กบข. เองก็เริ่มที่จะนำ AI มาพัฒนาระบบการประเมินผล เพื่อสร้างผลตอบแทนที่มั่นคงให้กับสมาชิก ควบคู่ไปกับการผลักดันภาคธุรกิจให้เข้าสู่การบริหารจัดการธุรกิจอย่างยั่งยืน” ดร.ศรีกัญญา กล่าว
อย่างไรก็ตาม การสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับสมาชิกนับเป็นความท้าทายของการบริหารกองทุน เพราะสมาชิกของ กบข. มีความแตกต่างของช่วงวัย ทำให้รูปแบบการลงทุนของสมาชิก คำนึงถึงปัจจัยที่แตกต่างกัน เช่น สมาชิกที่ใกล้วัยเกษียณ จะให้ความสำคัญกับการลงทุนสร้างผลตอบแทนในระยะยาว ขณะที่สมาชิกรุ่นใหม่ เริ่มให้ความสนใจด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม ว่ากองทุนมีส่วนร่วมด้านใดบ้าง ที่จะทำให้สิ่งแวดล้อมและสังคมดีขึ้น
ดังนั้น กบข. จึงออกแผนทางเลือกการลงทุนให้แก่สมาชิก เพื่อสร้างความหลากหลายในการเลือกลงทุนสอดรับกับการยอมรับความเสี่ยงจากผลตอบแทนที่เกิดขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีแผนให้สมาชิกเลือกลงทุน 12 แผนการลงทุน เป็นแผนที่มีความเสี่ยงแตกต่างกัน และในอนาคตอาจมีแผน ESG ให้สมาชิกเลือกลงทุนในกิจการที่ให้ความสำคัญกับ ESG อย่างเดียว เพื่อวัดกระแสตอบรับของสมาชิกว่ามีการยอมรับมากน้อยแค่ไหน
แผนงาน “กบข.” ผ่านการบริหารของ ดร.ศรีกัญญา ตลอดเวลาที่ผ่านมา จึงนับว่าได้ปูทางจนทำให้การลงทุนด้าน ESG ของ กบข. ได้พิสูจน์ให้เห็นชัดเจนที่ได้รับเชิญให้ไปพูดในเวทีนานาชาติต่างๆ มากมาย เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ให้ประเทศต่างๆ นำไปปรับใช้ ขณะเดียวกันเลขาฯ กบข. เองก็ได้นำความรู้จากเวทีเหล่านี้มาปรับใช้ เพื่อยกระดับการลงทุนของ “กบข.” ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ตามวิสัยทัศน์ที่วางไว้คือ "กองทุนบำนาญไทย มาตรฐานกองทุนบำนาญโลก" เส้นทางของ “กบข.” จึงสะท้อนให้เห็นถึงความยั่งยืนอย่างแท้จริง