การศึกษาเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเด็กทุกคน ผู้ปกครองจึงให้ความสำคัญกับการศึกษาของลูกเป็นอย่างมาก หนึ่งในทางเลือกของผู้ปกครองในการส่งลูกเข้าเรียน คือ โรงเรียนนานาชาติ ซึ่งนอกจากจะให้การเรียนการสอนที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากลแล้ว โรงเรียนนานาชาติยังเปิดโอกาสให้นักเรียนได้เรียนรู้วัฒนธรรมและภาษาต่างประเทศอีกด้วย
เปิด 10 อันดับ ค่าเทอมโรงเรียนนานาชาติ แพงสุดในประเทศไทย รับปี 2024
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC) ได้ออกบทวิเคราะห์ว่า ธุรกิจโรงเรียนนานาชาติในไทยมีมูลค่าตลาดไม่ต่ำกว่า 70,000 ล้านบาท และมีการเปิดสอนในหลักสูตรที่หลากหลาย รองรับกับความต้องการของผู้ปกครองและนักเรียน ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติจากประเทศต่างๆ ตั้งแต่ระดับเตรียมอนุบาล ไปจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย
โดยส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนที่ใช้หลักสูตรจากอังกฤษ และสหรัฐอเมริกา คิดเป็นสัดส่วนราว 50% และ 30% ของจำนวนโรงเรียนนานาชาติทั่วประเทศ ตามลำดับ และ สำหรับโรงเรียนนานาชาติที่มีค่าเทอมสูงสุด 10 อันดับแรกในประเทศไทยในปี 2567 มีดังนี้
10 อันดับ โรงเรียนนานาชาติที่มีค่าเทอมสูงสุดใน ประเทศไทย
- 1 โรงเรียนนานาชาติ โชรส์เบอรี กรุงเทพ (Shrewsbury International School Bangkok) 1,109,400 สำหรับ Year 12
- 2 โรงเรียนนานาชาติ ISB (International School Bangkok) ค่าเทอม 1,075,000 บาท สำหรับ Grade 9-12
- 3 โรงเรียนนานาชาติ นิสท์ (NIST International School Bangkok) ค่าเทอม 1,021,700 บาทบาท สำหรับ Year 12-13
- 4 โรงเรียนนานาชาติ คิงส์คอลเลจกรุงเทพ (King’s College School Bangkok) ค่าเทอม 990,000 บาท สำหรับ Year 10-13
- 5 โรงเรียนนานาชาติ ฮาร์โรว์กรุงเทพ (Harrow International School Bangkok) ค่าเทอม 982,400 บาท สำหรับ Year 12-13
- 6 โรงเรียนนานาชาติ เบซิส กรุงเทพ (BASIS International School Bangkok) ค่าเทอม 975,000 บาท สำหรับ Grade 9-12
- 7 โรงเรียนนานาชาติ ไบร์ทตัน คอลเลจ กรุงเทพ (Brighton College International School Bangkok) ค่าเทอม 964,700 บาท สำหรับ Year 12-13
- 8 โรงเรียนนานาชาติ เวลลิงตันคอลเลจ กรุงเทพ (Wellington College International School Bangkok) ค่าเทอม 940,000 บาท สำหรับ Year 10-13
- 9 โรงเรียนนานาชาติ เด่นหล้า บริติช สคูล (DBS Denla British School) ค่าเทอม 926,367 บาท สำหรับ Year 12-13
- 10 โรงเรียนนานาชาติ บางกอกพัฒนา (Bangkok Patana School) ค่าเทอม 905,300 บาท สำหรับ Year 12
** ป.ล.การจัดอันดับครั้งนี้เราได้เลือกค่าเทอมจากปีที่สูงที่สุดของแต่ละโรงเรียนในปีการศึกษา 2023/24 นั่นก็คือ Grade 12 และ Year 13 มาเป็นเกณฑ์จัดอันดับในครั้งนี้
การแข่งขันของโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทย
SCB EIC มองว่า ตลาดโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะแข่งขันรุนแรงขึ้นในระยะข้างหน้า จากปัจจัยหลักสองประการ ได้แก่
- ประการที่ 1 การแข่งขันจากโรงเรียนนานาชาติเปิดใหม่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นนอก ฝั่งทิศตะวันตกเฉียงเหนือ และฝั่งทิศตะวันออก รวมถึงปริมณฑล สอดคล้องกับการขยายตัวของตลาดที่อยู่อาศัยระดับบนในพื้นที่ดังกล่าว โรงเรียนนานาชาติเหล่านี้มักเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีการลงทุนด้านสิ่งอำนวยความสะดวกที่หลากหลาย จึงสามารถรองรับจำนวนนักเรียนได้มากขึ้น ส่งผลให้การแข่งขันในตลาดมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะโรงเรียนนานาชาติขนาดเล็ก ซึ่งมีข้อจำกัดด้านการลงทุนในการเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน
- ประการที่ 2 โรงเรียนนานาชาติยังเผชิญความท้าทายด้านต้นทุนในการประกอบธุรกิจที่สูงขึ้น โดยเฉพาะการแข่งขันดึงดูดบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเพื่อรักษามาตรฐานการเรียนการสอน อีกทั้งต้นทุนบุคลากรยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากการปรับอัตราค่าจ้างเพิ่มขึ้นทุกปี หากจำนวนนักเรียนขยายตัวได้ช้ากว่าการขยายธุรกิจของโรงเรียนนานาชาติในระยะข้างหน้าแล้ว จะส่งผลกระทบต่อสภาพคล่อง และอัตรากำไรของโรงเรียน
สรุปการแข่งขันของโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทยมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นในระยะข้างหน้า โรงเรียนนานาชาติ จึงจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อรับมือการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนและการให้บริการเพื่อสร้างความแตกต่างและสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาชั้นนำ
ที่มา เว็บไซต์ของแต่ละโรงเรียน ,Wikipedia, ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC) และ FB เพจติดหรู