บล.เคจีไอ (KGI) รุกตลาด Depositary Receipt (DR) เพิ่มทางเลือกนักลงทุนที่ต้องการลงทุนต่างประเทศ ล่าสุดออก “JAPAN13” – “HK13” – “HKTECH13” DR อ้างอิงกองทุน ETF ที่ลงทุนในหุ้นชั้นนำขนาดใหญ่ของญี่ปุ่น-จีน-ฮ่องกง ชี้ตลาดจีนลงต่ำมีโอกาสฟื้นตัว มีลุ้นมาตรการรัฐกระตุ้นศก. ส่วนญี่ปุ่นดีต่อเนื่อง
นายเจนวิทย์ ชินกุลกิจนิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการฝ่ายธุรกิจตราสารอนุพันธ์ บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า เคจีไอตัดสินใจออก “Depositary Receipt” หรือ “DR” มาพร้อมกันถึง 3 หลักทรัพย์ เพื่อเป็นการต่อยอดธุรกิจ DW และเพิ่มทางเลือกการลงทุนในต่างประเทศให้กับนักลงทุนไทย เนื่องจากการเปลี่ยนแนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยสหรัฐอเมริกาจากที่เป็นขาขึ้นในปี 2023 เป็นแนวโน้มคงที่หรือปรับตัวลง ทำให้มีโอกาสที่จะมีการเคลื่อนไหวของเงินลงทุนทั่วโลกในตลาดหุ้นขนาดใหญ่มากขึ้น
ในปี 2023 ดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลกเคลื่อนตัวแยกกันอย่างชัดเจน โดยในขณะที่ตลาดหุ้นญี่ปุ่นมีมูลค่าสูงขึ้น ตลาดหุ้นจีนและฮ่องกงกลับซบเซาลง โดยในปีที่ผ่านมา ดัชนี Nikkei225 เพิ่มขึ้นถึง 30% จน P/E ขึ้นไปสูงถึง 18 เท่า ขณะที่ดัชนี Hang Seng Index ลดลง 18% และ ดัชนี Hang Seng TECH Index ลดลง 15%
ในปี 2024 เคจีไอจึงมองว่าความต้องการการลงทุนของนักลงทุนจะแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นกลุ่มที่ยังสนใจตลาดหุ้นที่ร้อนแรงในปี 2023 คือตลาดหุ้นญี่ปุ่น กับอีกกลุ่มที่สนใจลงทุนในตลาดหุ้นที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจจีนหลังราคาหุ้นปรับลงมาแรงต่อเนื่อง 3 ปี
ดังนั้น เคจีไอจึงเลือกออก DR ที่อ้างอิงกับเศรษฐกิจฮ่องกงและจีนและตลาดหุ้นญี่ปุ่น ควบคู่ไปกับการออก DW ในประเทศไทย โดย DR ทั้ง 3 ตัว ได้แก่
“DR” หรือ “Depositary Receipt” เป็นตราสารการเงิน หรือ “ตราสารแสดงสิทธิในการฝากหลักทรัพย์ต่างประเทศ” ที่เป็นตัวกลางการลงทุนให้นักลงทุนสามารถลงทุนในต่างประเทศได้ผ่านการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET)
มีข้อดีคือทำให้นักลงทุนสามารถได้รับเงินปันผลและผลตอบแทนจากหุ้นได้เหมือนการถือหุ้นจริง จากที่ปกติการลงทุนในต่างประเทศโดยตรงจะทำได้ยาก เพราะต้องเปิดบัญชีหุ้นที่ต่างประเทศ และต้องเสียภาษีบนกำไรที่นำกลับเข้ามาด้วย
นอกจากนี้ DR ยังมีราคา Bid-Offer ที่อ้างอิงกับราคาหุ้นต่างประเทศที่แปลงมาเป็นสกุลเงินไทยบาท นักลงทุนจึงใช้บัญชีซื้อขายหุ้นปกติลงทุนใน DR ได้เลย โดย DR ไม่มีวันหมดอายุ จึงเหมาะกับการลงทุนระยะยาว แตกต่างจาก DW ที่มีอายุจำกัด และอัตราทดสูง จึงเหมาะกับการเก็งกำไรในระยะสั้นมากกว่า
นายเจนวิทย์กล่าวว่า หุ้นจีน ฮ่องกง เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนในปีนี้เพราะเป็นหุ้นที่ยังมีโอกาสเติบโต เพราะในปัจจุบันมีราคาต่ำ และมีโอกาสฟื้นตัวจากมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาลที่น่าจะอัดฉีดยาแรงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในปีนี้
ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา หุ้นจีนและฮ่องกงปรับตัวลดลงมากกว่า 60% จากทั้งผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 วิกฤตสภาพคล่องในอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ และปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ทำให้เกิดการกีดกันการค้า รวมไปถึงการย้ายฐานการผลิตของบริษัทใหญ่ไปประเทศอื่น
ถึงแบบนั้น หุ้นจีนและฮ่องกงก็ถือว่าเป็นตัวเลือกที่มองข้ามไม่ได้ เพราะเป็นหุ้นที่มีโอกาสฟื้นตัวจากมาตรการรัฐ อีกทั้งในปัจจุบันยังมีราคาต่ำ ทำให้น่าเข้าไปซื้อเก็บไว้ รอราคาดีดขึ้นจากการกระตุ้นเศรษฐกิจในอนาคต
ส่วนตลาดหุ้นญี่ปุ่น แม้ในปีที่ผ่านมาจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นมากจนมีมูลค่าค่อนข้างสูง ก็ยังมีศักยภาพในการเติบโตได้ต่อ เพราะในปีที่ผ่านมารัฐบาลญี่ปุ่นได้มีมาตรการสำคัญในการกระตุ้นให้บริษัทในประเทศลงทุน ด้วยการบังคับให้บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ส่งแผนในการใช้เงินทุนในการดำเนินหรือขยายธุรกิจ ซึ่งเป็นการกดดันให้บริษัทญี่ปุ่นมีการเคลื่อนไหว ทั้งที่เมื่อก่อนเน้นเก็บสินทรัพย์เป็นเงินสดสำรองไว้เป็นปริมาณมากๆ
เคจีไอเชื่อว่ามาตรการนี้จะทำให้บริษัทญี่ปุ่นใหญ่ๆ ต้องออกมาเคลื่อนไหวลงทุนขยายธุรกิจกันมากขึ้น และทำให้มีนักลงทุนต่างชาติเข้าไปลงทุนในตลาดหุ้นญี่ปุ่นเพิ่มมากขึ้น และการเข้าไปของทุนต่างนี้ก็จะทำให้หุ้นญี่ปุ่นมีศักยภาพพอที่จะเติบโตขึ้นได้อีกในอนาคต