SCB เปิดแผนธุรกิจ ปี 2567 ตั้งเป้าสินเชื่อรวมจะทรงตัว หรือ เติบโตได้เล็กน้อยที่ 1-2% เนื่องจากภาพรวมของเศรษฐกิจยังฟื้นตัวได้ไม่ดีนัก โดยปีนี้จะเน้นสินเชื่อธุรกิจรายใหญ่ที่ยังมีแรงขับเคลื่อนที่ดี ซึ่งธนาคารจะใช้กลยุทธ์ด้วยการเสนออัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสม ส่งผลให้ผลตอบแทนลดลง แต่ความเสี่ยงก็ลดลงตามไปด้วย
นอกจากนี้ ธนาคารยังเน้นขยายสินเชื่อรายย่อย โดยเป็นสินเชื่อที่อยู่อาศัย แต่จะเน้นในกลุ่มบ้านราคามากกว่า 5 ล้านบาทขึ้นไป เนื่องจากมีความเสี่ยงต่ำ และ ไม่ได้รับผลกระทบจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ในขณะที่สินเชื่อเอสเอ็มอีคาดว่า จะทรงตัว และ ยังต้องระมัดระวัง โดยจะเน้นกลุ่มลูกค้าเดิมที่ยังมีศักยภาพในการเติบโต
นายกฤษณ์ จันทโนทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB เผย " ธนาคารไทยพาณิชย์ ยังคงเป็นเรือธงหลักในการสร้างกำไร สร้างรายได้ โดยใน และกลุ่ม SCBX จะนำกำไร และ รายได้ ไปลงทุนเพื่อต่อยอดการเติบโตในอนาคต"
ส่วนธนาคารจะกลับมาเพิ่มรายได้ในกลุ่มของรายได้ค่าธรรมเนียมให้กลับมาสู่ระดับการเติบโตที่มากกว่า 10% โดยเน้นรายได้จากธุรกิจกลุ่มเวลธ์ รวมถึงด้านธุรกิจประกัน กองทุนรวม และ ธุรกรรมการโอน จ่าย ผ่านผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่หลากหลาย และรักษาอัตราผลตอบแทนจากส่วนของผู้ถือหุ้น(ROE) ให้อยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง จากปีที่ผ่านมาที่ธนาคารยังคงรักษาระดับการทำกำไรได้ในระดับสูงที่ 49,000 ล้านบาท
ขณะที่นโยบายการจ่ายปันผลนั้น ขึ้นอยู่กับผลประกอบการ ซึ่งหากมอง 5 ปีข้างหน้า คาดว่า เงินปันผลจะไม่น้อยกว่า 5 ปีที่ผ่านมา โดยการจ่ายปันผลต้องเป็นระดับที่เหมาะสม และ ต้องไม่กระทบต่อฐานะทางการเงินของธนาคาร
สำหรับการที่กลุ่ม SCBX ซื้อธุรกิจ Home Credit Vietnam นั้น นับเป็นหนึ่งกลยุทธของ SCBX สู่การเป็น Tech company ระดับภูมิภาค เนื่องจากประเทศเวียดนาม มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพีที่สูงประมาณ 7-8% และ มีประชากรมากกว่า 100 ล้านคน ตลอดจนมีฐานลูกค้าประมาณ 15 ล้านคน โดยคาดว่า กระบวนการจะแล้วเสร็จกลางปี 2568
สำหรับการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน(JV AMC) นั้น นายกฤษณ์ กล่าวว่า ธนาคารยังไม่มีแผนที่จะจัดตั้งบริษัทร่วมทุนดังกล่าวในขณะนี้ โดยธนาคารยังบริหารจัดการหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL) ได้ดีอยู่ แต่การจัดตั้ง JV AMC ก็มีจุดที่ดีเช่นกัน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับโครงสร้างในการบริหารงาน รวมถึงพันธมิตรที่ร่วมในการจัดตั้งด้วย
"เราไม่มีแผนที่จะจัดตั้ง JV AMC เพราะเรายังบริหารจัดการได้เอง ซึ่งธนาคารมีบริษัทลูกอย่าง SCBPLUS ที่ทำหน้าที่บริหารจัดการหนี้เสียอยู่แล้ว จึงมองว่า ไม่มีความจำเป็นที่ต้องจัดตั้งบริษัทขึ้นมาทับซ้อน" นายกฤษณ์กล่าว
บริษัทลูกอย่าง SCBPLUS ที่ทำหน้าที่บริหารจัดการหนี้เสียอยู่แล้ว จึงมองว่า ไม่มีความจำเป็นที่ต้องจัดตั้งบริษัทขึ้นมาทับซ้อน