โดยการบินไทยต้องดำเนินการแก้ไขให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 7 มีนาคม 2568 หากการบินไทยไม่สามารถดำเนินการได้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ อาจพิจารณาดำเนินการเพิกถอนหลักทรัพย์ต่อไป
ขณะที่คณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ การบินไทย ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ขอแจ้งมติงดจ่ายเงินปันผล สำหรับงวดการดำเนินงานปี 2566 ซึ่งผลประกอบการปี 2566 พลิกกลับมามีกำไร 28,096 ล้านบาท เพิ่มขึ้น +10,429.4% จากรายได้รวมที่ 161,067 ล้านบาท เพิ่มขึ้น +53.3%
ทั้งนี้ มาจากปัจจัยการเพิ่มจำนวนเที่ยวบิน และเส้นทางบินที่ให้บริการเพิ่มขึ้น ตามความต้องการของผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้ง การได้กลับมาให้บริการบินในเส้นทางสู่สาธารณรัฐประชาชนจีนอีกครั้ง หลังจากที่จีนได้เปิดประเทศ และได้เพิ่มความถี่ในเส้นทางบินยอดนิยม เช่น โตเกียว โอซากา เมลเบิร์น สิงคโปร์ และมีการเปิดเส้นทางใหม่บินตรงสู่เมืองอิสตันบูล สาธารณรัฐทูร์เคีย ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา
ขณะที่ส่วนของผู้ถือหุ้นของการบินไทย ในปี 2566 ติดลบจำนวน 43,352 ล้านบาท ติดลบลดลงจากปีก่อน จากผลกำไรที่เพิ่มขึ้น
สำหรับแนวโน้มในปีนี้ เศรษฐกิจคาดว่าจะขยายตัวลดลงในทุกภูมิภาคยกเว้นยุโรป โดยสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) คาดการณ์ว่า ปริมาณผู้โดยสารปี 2567 ของทุกภูมิภาคจะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง จนมากกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤต หรือปี 2562 และในระยะยาวคาดว่า ภูมิภาคเอเซียแปซิฟิก จะเป็นภูมิภาคที่มีอัตราการเติบโตสูงสุดที่ประมาณ 4.5% ต่อปี จากการเติบโตของปริมาณผู้โดยสารของประเทศอินเดีย
ขณะที่ไทยก็ได้ลงนามความตกลงกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ฟรีวีซ่า ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2567 ทำให้ส่งผลดีกับความต้องการเดินทางของผู้โดยสารในเส้นทางไทย-จีนเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม การบินไทยมีแผนที่จะปรับโครงสร้างทุนให้แล้วเสร็จภายในปี 2567 ตามแผนฟื้นฟูกิจการ ฉบับแก้ไขที่ศาลเห็นชอบเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2567 โดยมีเป้าหมายในการทำให้ส่วนทุนเป็นบวก เพื่อให้หลักทรัพย์ของบริษัท สามารถกลับมาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้อีกครั้ง