Grab ประเทศไทย (แกร็บ ประเทศไทย) ประกาศปรับพอร์ตฯ สินเชื่อเงินสดเพื่อพาร์ทเนอร์ร้านค้า และร้านอาหาร ให้ครอบคลุมทุกขนาดธุรกิจ พร้อมขยายวงเงินสินเชื่อสูงสุดถึง 10 ล้านบาท ด้วยอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 1% ต่อเดือน สำหรับร้านขนาดใหญ่ หวังช่วยเพิ่มทุนหมุนเวียน เสริมสภาพคล่องและให้ผู้ประกอบการสามารถต่อยอดธุรกิจท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจที่ท้าทาย
โดยพบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ที่ขอสินเชื่อจาก Grab มีความต้องการสินเชื่อเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนและเสริมสภาพคล่องให้กับธุรกิจ เช่น การซื้อวัตถุดิบและบริหารสต็อกสินค้า การบริหารลูกจ้างและพนักงาน การจัดการกระแสเงินสด การปรับปรุงหน้าร้าน การอัปเกรดเทคโนโลยี และการขยายธุรกิจ
นางสาวจันต์สุดา ธนานิตยะอุดม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานพาณิชย์และการตลาด Grab ประเทศไทย กล่าวว่า “ภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ชะลอตัว และอัตราหนี้ครัวเรือนไทยที่อยู่ในระดับที่สูง กระทบถึงการเบิกใช้สินเชื่อใหม่ โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสที่ 2/2567 มีการทยอยชำระคืนสินเชื่อ โดยเฉพาะสินเชื่อภาครัฐและภาคธุรกิจ ทำให้ภาพรวมตลาดสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ขยายตัวชะลอลงราว 0.3% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ส่วนในปี 2567 คาดการณ์ว่า ตลาดสินเชื่อจะเติบโตเพียง 1.5% ลดลงจากที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้าที่ 3%”
แต่ธุรกิจสินเชื่อของ Grab ยังมีผลประกอบการที่ดีและเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการให้สินเชื่อกับกลุ่มพาร์ทเนอร์ร้านค้า ซึ่งในช่วงครึ่งปี 2567 ที่ผ่านมาจำนวนผู้ได้รับสินเชื่อเงินสดจาก Grab เพิ่มขึ้นกว่า 15% เทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า และมีอัตราหนี้เสีย หรือ NPL อยู่ที่ 2.35% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอัตราหนี้เสียของประเทศ
สำหรับผลิตภัณฑ์สินเชื่อเงินสดของ Grab มีการกำหนดวงเงินสินเชื่อให้สอดคล้องไปกับขนาด และรูปแบบของธุรกิจที่ต่างกันไป โดยมีดังนี้:
นอกจากนี้ Grab ได้ใช้ AI และ Big Data เป็นส่วนหนึ่งในการประเมินความเสี่ยง พิจารณาจากพฤติกรรม และข้อมูลการทำธุรกรรมผ่านแอปพลิเคชันของพาร์ทเนอร์ร้านค้า เพื่อการอนุมัติสินเชื่อ และลดความเสี่ยงในการผิดนัดชำระ
“ล่าสุด Grab ยังได้ร่วมกับ ‘ชับบ์สามัคคีประกันภัย’ พัฒนาบริการประกันภัยสำหรับพาร์ทเนอร์ร้านค้า Grab ในชื่อ ‘ประกันค้าขายหายห่วง’ เพื่อให้ความคุ้มครองผู้ประกอบการธุรกิจจากเหตุไม่คาดฝันอย่างอุบัติภัยหรือภัยธรรมชาติ เช่น ไฟไหม้หรือน้ำท่วม ด้วยวงเงินคุ้มครองสูงสุดถึง 5 ล้านบาท โดยมีค่าเบี้ยประกันเริ่มต้นเพียงวันละ 14 บาทเท่านั้น” นางสาวจันต์สุดา กล่าวทิ้งท้าย