หลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไป 0.25% ในสัปดาห์นี้ โฟกัสต่อไปก็ตกไปอยู่ที่บรรดาธนาคารต่างๆ ทันทีว่า จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามทันทีหรือไม่ อย่างไร
ตอนนี้มีตัวแทนจากธนาคารทั้ง 2 ฝั่ง คือ ฝั่งแบงก์รัฐ และฝั่งแบงก์พาณิชย์ ออกมาส่งสัญญาณเรียบร้อยแล้วว่า "จะยังไม่รีบขึ้นดอกเบี้ยตาม" ซึ่งก็สอดคล้องกับที่นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ส่งสัญญาณปรามก่อนหน้านี้ว่า กว่าที่การขึ้นดอกเบี้ยของแบงก์ชาติในแต่ละครั้ง จะส่งผ่านไปถึงแบงก์พาณิชย์นั้น จะใช้เวลาประมาณ 3-6 เดือน จึงอยากให้แบงก์ชาติเจรจากับแบงก์พาณิชย์เพื่อขอความร่วมมือดูแลลูกค้า
เราจึงยังไม่ได้เห็นการขึ้นดอกเบี้ยจากฝั่งแบงก์พาณิชย์ในเวลานี้ จะมีเปลี่ยนแปลงก็แค่โปรโมชั่นผลิตภัณฑ์ทางการเงินบางตัวแค่นั้น แต่ไม่ใช่การขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้หรือเงินฝากตัวหลักๆ
โฟกัสที่เหลือจึงตกมาอยู่ที่บรรดาแบงก์รัฐทั้ง 7 แห่งต่อ เพราะเป็นหน่วยงานของรัฐโดยตรง และรมว.คลัง ยังได้เรียกคุยแล้วว่าขอให้มีการตรึงดอกเบี้ยออกไปให้นานที่สุดเพื่อช่วยลูกค้า ซึ่งแบงก์แต่ละแห่งได้มีการเปิดเผยรายละเอียดโดยสรุป ดังนี้
1. ธนาคารออมสิน
- ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 3 เดือน/6 เดือน ปรับขึ้น 0.15%
- ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือน ปรับขึ้น 0.20%
- ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 24 เดือน/36 เดือน ปรับขึ้น 0.30%
- ตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำ (MLR, MOR และ MRR) ไว้ให้นานที่สุด เพื่อชะลอผลกระทบต่อลูกค้ารายย่อย ผู้ประกอบการ SME และกลุ่มเปราะบาง
- มีผลตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2565 เป็นต้นไป
2. ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)
- ตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไปจนถึงสิ้นปี 2565
- จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากตามความเหมาะสมกับสภาวะตลาดต่อไป
3. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
- ตรึงอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อภาคการเกษตร
- กำหนดแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกร โดยการดูแลภาระหนี้สิน และจัดทำคลินิกหมอหนี้ เพื่อลดหนี้ครัวเรือน
- ให้คำปรึกษาด้านการจัดการหนี้ ทั้งหนี้ในและนอกระบบ และการเติมสินเชื่อใหม่ ภายใต้อัตราดอกเบี้ยที่ผ่อนปรน
4. ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (Exim Bank)
- จะตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไว้ให้นานที่สุด ในอัตรา Prime Rate 5.75% ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดีที่ต่ำที่สุดในระบบ
- จะพัฒนาโปรโมชั่นพิเศษสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำกว่า Prime Rate อย่างต่อเนื่อง
5. ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank)
- จะตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ให้นานที่สุด
- เดินหน้าผลิตภัณฑ์สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำและคงที่ ช่วยเสริมสภาพคล่องและบริหารจัดต้นทุนทางการเงินให้ผู้ประกอบการ
6. ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.)
- จะคงอัตรากำไรสินเชื่อให้นานที่สุดถึงสิ้นปี เพื่อไม่ให้กระทบกับลูกค้า โดยผลตอบแทนเงินฝากนั้นจะจัดสรรตามส่วนแบ่งกำไรตามเงื่อนไข โดยพิจารณาผลตอบแทนในตลาดที่เปลี่ยนแปลงมาประกอบในการพิจารณา
7. บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)
จะเดินหน้าแก้หนี้ให้ลูกค้าอย่างยั่งยืนต่อเนื่องถึงสิ้นปี โดยมี 3 มาตรการช่วยเอสเอ็มอี คือ
- ฟรีค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 2-3 ปีแรก สินเชื่อร่วมกับสถาบันการเงินในโครงการค้ำประกันสินเชื่อ บสย. SMEs สร้างชาติ (PGS 9) รวมถึงโครงการค้ำประกันสินเชื่อภายใต้ พ.ร.ก.สินเชื่อฟื้นฟู และ โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Soft Loan Extra
- ให้คำปรึกษาผู้ประกอบการ SMEs ฟรี ผ่าน บสย.F.A.Center
- ปรับโครงสร้างหนี้ สำหรับลูกหนี้ค้ำประกันสินเชื่อ ภายใต้มาตรการ “บสย. พร้อมช่วย”