ตั้งแต่วันที่ 15 พ.ย. นี้ ฝากเงินสดผ่านตู้ CDM ทุกครั้ง ต้องใช้บัตรเดบิต/เครดิต ยืนยันตัวตนที่ตู้ทุกครั้ง ทุกแบงก์! ถ้าไม่มีต้องไปสาขา หรือตัวแทนธนาคาร
วันนี้ (17 ต.ค. 65) ธนาคารกรุงไทย ได้ประชาสัมพันธ์ลูกค้าเรื่องการใช้บริการฝากเงินสดผ่านช่องทางตู้อัตโนมัติ (CDM หรือ ADM) โดยระบุว่า “เพื่อยกระดับความปลอดภัยในการทำธุรกรรม ตามกฎเกณฑ์หน่วยงาน ปปง. ลูกค้าต้องเสียบบัตรเดบิต (Debit) หรือบัตรเครดิต (Credit) และใส่ PIN ของผู้ฝากก่อนการฝากเงินสดที่เครื่องอัตโนมัติของทุกธนาคาร ตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 เป็นต้นไป
ศึกษารายละเอียดประเภทบัตรที่สามารถทำรายการได้ที่เว็บไซต์ธนาคาร หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Call Center ของธนาคารที่ท่านใช้บริการ”
การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ เป็นไปตามโครงการ CDM AMLO ของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ซึ่งกำหนดมาตรการให้ธนาคารต่าง ๆ มีวิธีการพิสูจน์ตัวตนผู้ทำรายการฝากเงินสดที่ตู้อัตโนมัติของทุกธนาคาร ทั้งเครื่องฝากเงินสดอัตโนมัติ (CDM/ADM) และตู้ฝากถอนเงินสดอัตโนมัติ (ATM Recycling) ตั้งแต่วันที่ 15 พ.ย. 2565 เป็นต้นไป
ทั้งนี้เนื่องจากที่ผ่านมา การฝากเงินสดอัตโนมัติผ่านตู้ถือเป็นธุรกรรมยกเว้น ไม่ต้องรายงาน ปปง. ทำให้กลายเป็นช่องโหว่ที่มีการใช้ฟอกเงินยาเสพติด-การพนัน เพราะสามารถใช้ให้ใครก็ได้ ฝากเงินสดไปยังบัญชีปลายทางได้ โดยไม่ต้องถูกตรวจสอบว่าผู้ฝากเงินเป็นใคร จึงได้ออกมาตรการยืนยันตัวตนดังกล่าว ซึ่งธนาคารบางแห่งได้ทำการประชาสัมพันธ์ไปบ้างแล้ว
สำหรับการฝากเงินสดที่ตู้อัตโนมัติ ตามโครงการ CDM AMLO จะต้องยืนยันตัวตนทุกครั้งที่ทำรายการ ด้วยบัตรเดบิต หรือบัตรเครดิตที่มีอยู่ และใส่รหัสบัตร (PIN) ก่อนการทำรายการฝากเงินสดที่ตู้อัตโนมัติทุกธนาคาร โดยสามารถใข้บัตรเดบิต หรือบัตรเครดิต ธนาคารใดก็ได้ จาก 11 ธนาคาร ดังนี้
สำหรับลูกค้าธนาคารที่ไม่มีบัตรเดบิต หรือบัตรเครดิต ยังสามารถทำรายการฝากเงินสดได้ที่เคาน์เตอร์สาขาของธนาคาร รวมไปถึงตัวแทนธนาคาร (Banking Agent) ของแต่ละธนาคาร โดยยืนยันตัวตนด้วยบัตรประชาชนของผู้ฝาก พร้อมเสียค่าธรรมเนียมการฝากเงินตามที่ธนาคารกำหนด
ทั้งนี้การทำธุรกรรมฝากเงินสดดังกล่าว ไม่มีค่าสำหรับการใช้บัตรเพื่อยืนยันตัวตน แต่จะมีค่าธรรมเนียมในการฝากเงินสด ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขปกติของแต่ละธนาคาร เช่น ธนาคารกสิกรไทย ฝากในเขตสำนักหักบัญชี ไม่คิดค่าธรรมเนียม แต่ถ้าฝากข้ามเขตสำนักหักบัญชี จะคิดค่าธรรมเนียมขั้นต่ำ 10 บาท จนถึงสูงสุด 10,000 บาท/รายการ และเป็นค่าคู่สาย 10 บาท/รายการ แต่ถ้าฝากเงินข้ามธนาคารก็จะมีค่าธรรมเนียมเพิ่มอีก
นอกจากนี้ ก็จะเป็นค่าธรรมเนียมในส่วนของ "บัตรเดบิต หรือบัตรเครดิตแทน" โดยปัจจุบันการทำธุรกรรมชำระเงินต่างๆ มีการใช้ระบบโมบายแบงก์กิ้งผ่านโทรศัพท์มือถือกันมากขึ้น ขณะที่การกดเงินสดผ่านตู้ ATM ก็สามารถกดเงินผ่านมือถือโดยไม่ต้องใช้บัตร ทำให้ผู้บริโภคจำนวนมากยกเลิกการใช้บัตรเอทีเอ็ม/เดบิต กันไปแล้ว
จากการตรวจสอบที่ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ศคง.) พบว่า ปัจจุบันมีบัตรเดบิตเพียงส่วนน้อยที่ไม่คิดค่าธรรมเนียมรายปี ส่วนใหญ่ยังคงคิดค่าบริการรายปีอยู่ โดยเริ่มต้นตั้งแต่ 50 บาท/ปี ไปจนถึง 1,699 บาท/ปี
ด้านนางบุษกร ธีระปัญญาชัย ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายระบบการชำระเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้แจงกรณีข่าวที่ธนาคารจะปรับขั้นตอนการฝากเงินผ่านเครื่อง CDM ซึ่งต้องมีการยืนยันตัวตนผ่านบัตรเดบิต บัตรเอทีเอ็มหรือบัตรเครดิต ทุกครั้ง โดยจะเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 เป็นต้นไป นั้น เป็นการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย ของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ตามที่ ปปง. ได้มีข้อชี้แจงเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2565
"การยืนยันตัวตนของผู้ทำรายการฝากเงิน เป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการทำธุรกรรมทางการเงินมากขึ้น โดยธนาคาร ให้มีการยืนยันตัวตนผ่านเครื่อง CDM ของแต่ละธนาคาร" นางบุษกร ระบุ
สำหรับประชาชนที่ไม่มีบัตรเดบิต บัตรเอทีเอ็ม หรือบัตรเครดิต ทำให้ไม่สามารถฝากเงินที่เครื่อง CDM ได้นั้น จะยังคงสามารถฝากเงินโดยใช้บัตรประชาชน ผ่านช่องทางอื่นนอกเหนือจากฝากที่สาขาธนาคารได้ ได้แก่ ตู้เติมเงิน เคาเตอร์ของร้านสะดวกซื้อ ไปรษณีย์ และตัวแทนรับฝากเงินอื่นของธนาคาร
ทั้งนี้ ธปท. จะเร่งให้ธนาคารพาณิชย์ดำเนินการพัฒนาระบบให้สามารถรองรับการยืนยันตัวตนรูปแบบอื่น ๆ เช่น การใช้บัตรประชาชน หรือการยืนยันตัวตนในลักษณะ cardless เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนทุกกลุ่มโดยเร็วต่อไป