เปิดโปรโมชั่นในงาน "มหกรรมร่วมใจแก้หนี้สัญจร" วันที่ 4-6 พฤศจิกายน 2565 ณ อิมแพ็คเมืองทองธานี "คลัง" ผนึก 18 หน่วยงาน ชูปรับโครงสร้างหนี้, สร้างงาน-รายได้, สร้างภูมิคุ้มกันทางการเงิน
งาน “มหกรรมร่วมใจแก้หนี้ มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน” ครั้งที่ 1 ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ววันนี้ ณ อิมแพ็ค ฮอลล์ 5 เมืองทองธานี ระหว่างวันที่ 4-6 พฤศจิกายน โดยเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ และหน่วยงานพันธมิตร 18 หน่วยงาน เพื่อแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่กำหนดให้ปี 2565 เป็นปีแห่งการแก้หนี้ครัวเรือน
ภายในงานจะมีกิจกรรม 3 ส่วนหลัก ได้แก่
1. การแก้ไขปัญหาหนี้สินที่มีอยู่เดิม ผ่านการแก้ไขหนี้ การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ หรือการปรับเงื่อนไขการชำระนี้
2. การสร้างรายได้ผ่านการสร้างอาชีพหรืออาชีพเสริม
3. การสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ประชาชนด้วยการส่งเสริมทักษะในการประกอบอาชีพ เพื่อให้ประชาชนสามารถมีรายได้ที่เพียงพอและมั่นคง
ทีมข่าว Spotlight ได้รวบรวมโปรโมชั่นแก้หนี้ที่น่าสนใจของสถาบันการเงินของรัฐ (แบงก์รัฐ) 5 แห่ง มาดังนี้
1. ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) - จัดเต็ม 3 มาตรการ
1.1 มาตรการ 22 (M22)
- สำหรับลูกค้ารายย่อยสถานะ NPL หรือ ลูกค้ารายย่อยสถานะ NPL ที่อยู่ระหว่างการใช้มาตรการ/ปรับโครงสร้างหนี้ ที่กู้เงินกับธนาคารมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี
- ให้ผ่อนชำระเงินงวดต่ำพร้อมลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้พิเศษ ระยะเวลา 2 ปี แบ่งเป็น
เดือนที่ 1-10 ผ่อนชำระเพียงงวดละ 1,000 บาท คิดดอกเบี้ยเท่ากับ 0% ต่อปี (ตัดชำระเงินต้นทั้งหมด) ซึ่งถือเป็นการยกเว้นการคิดดอกเบี้ยนานที่สุดเท่าที่ธนาคารเคยออกมาตรการมา
เดือนที่ 11-18 คิดเงินงวดจากอัตราดอกเบี้ย1.99% ต่อปี
เดือนที่ 19-21 คิดเงินงวดจากอัตราดอกเบี้ย 3.90% ต่อปี
เดือนที่ 22-24 คิดเงินงวดจากอัตราดอกเบี้ย MRR-2.00% ต่อปี
- ทั้งนี้ หากลูกค้าชำระเกินที่ธนาคารกำหนดจะนำไปตัดดอกเบี้ยค้างชำระของลูกค้า(ถ้ามี)
- สำหรับผู้ที่สนใจสามารถลงทะเบียนแก้ไขหนี้ได้ที่เว็บไซต์ https://ln15.gsb.or.th/WEB-DEBT/
1.2 มาตรการ 17 (M17)
- สำหรับลูกค้ารายย่อยสถานะ NPL หรือ ลูกค้ารายย่อยสถานะ NPL ที่อยู่ระหว่างการใช้มาตรการ/ปรับโครงสร้างหนี้
- ให้ผ่อนชำระเงินงวดต่ำพร้อมลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้พิเศษ ระยะเวลา 1 ปี แบ่งเป็น
เดือนที่ 1-3 ผ่อนชำระเพียงงวดละ 1,000 บาท คิดดอกเบี้ยเท่ากับ 0% ต่อปี (ตัดชำระเงินต้นทั้งหมด)
เดือนที่ 4-6 คิดเงินงวดจากอัตราดอกเบี้ย 1.99% ต่อปี
เดือนที่ 7-12 คิดเงินงวดจากอัตราดอกเบี้ย 3.90% ต่อปี
- ทั้งนี้ หากลูกค้าชำระเกินที่ธนาคารกำหนดจะนำไปตัดดอกเบี้ยค้างชำระของลูกค้า(ถ้ามี) ซึ่ง ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2565
1.3 มาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ
- คิดเงินงวดจากอัตราดอกเบี้ย 3.90% ต่อปี นาน 6 เดือน จากนั้นให้กลับมาใช้อัตราดอกเบี้ยเดิมที่เคยใช้อยู่
2. ธนาคารออมสิน
2.2 โครงการสินเชื่อแก้หนี้เพิ่มทุน
-กู้ได้ไม่เกินคนละ 20,000 บาท
- ไม่ต้องมีหลักประกัน ดอกเบี้ยคงที่ 0.35%
- ปลอดชำระเงินต้น 6 เดือน ผ่อนชำระสูงสุดไม่เกิน 2 ปี
2.2 มาตรการแก้หนี้สำหรับลูกหนี้ทุกประเภทสินเชื่อ
- ลูกหนี้ที่เป็น NPLs กรณีปิดบัญชี มีทั้งยกเว้นดอกเบี้ยที่ค้างชำระให้เต็มจำนวน ลดหนี้เงินต้นสูงสุด 20% หรือจ่ายเฉพาะเงินต้น
- กรณีผ่อนชำระธนาคารพักชำระเงินต้นให้ 1 ปี และลดอัตราดอกเบี้ย
- ส่วนลูกหนี้ที่ไม่เป็น NPLs แต่ผ่อนไม่ไหว มีผ่อนปรนให้เลือกพักชำระเงินต้น หรือลดอัตราดอกเบี้ย หรือขยายระยะเวลาการผ่อนชำระออกไป
3. ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank
จัด 3 โปรโมชั่น ลดดอกเบี้ยค้างสูงสุด 100% เติมทุนใหม่ไปต่อ ประกอบด้วย
3.1 จ่ายครบ! จบเร็ว! สำหรับกลุ่มลูกค้าค้างชำระไม่เกิน 90 วัน มอบสิทธิพิเศษ ปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการผ่อนชำระ เช่น พักเงินต้น ลดค่างวด ขยายระยะเวลาผ่อนชำระ แบ่งค่างวดตัดชำระเงินต้นสูงสุด 20% เป็นต้น
3.2 จ่ายหนี้หมด! ลดทันที! กลุ่มลูกค้าที่ค้างชำระเกิน 90 วัน สามารถเข้ามาไกล่เกลี่ยหนี้กับธนาคาร ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อให้ธุรกิจกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติ เช่น ลดอัตราดอกเบี้ย ลดค่างวด ขยายระยะเวลาผ่อนชำระ หากลูกค้าต้องการปิดบัญชี รับสิทธิลดดอกเบี้ยค้างสูงสุด 100% หรือปรับโครงสร้างหนี้ลดสูงสุด 30% เป็นต้น
3.3 เติมทุนใหม่ไปต่อ! เสริมสภาพคล่องกิจการ เดินหน้าธุรกิจได้ดีอีกครั้ง ผ่าน
3.3.1 “สินเชื่อ SMEs Re-Start” อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 5.5% ต่อปี วงเงินกู้สูงสุด 5 ล้านบาท ผ่อนนานสูงสุด 12 ปี ปลอดชำระเงินต้นสูงสุด 24 เดือน
3.3.2 “สินเชื่อ COD ไปรษณีย์ไทย” วงเงินกู้สูงสุด 300,000 บาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 1.05% ต่อเดือน กู้ง่าย รับเงินรวดเร็ว โดยไม่ต้องใช้เอกสาร ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ หรือบุคคลค้ำประกัน
4. บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) หรือ BAM
4.1 มาตรการ บสย.พร้อมช่วย ผ่อนปรน ลูกหนี้ค้ำประกันสินเชื่อ 3 ระดับตามความสามารถในการชำระหนี้ เพื่อบรรเทาภาระหนี้ 3 ระดับ ได้แก่ 1.ตัดเงินต้น หนี้ลด หมดเร็ว 2. ดอกเบี้ย 0% และเน้นตัดเงินต้น 3.ผ่อนนาน 7 ปี ยืดระยะเวลาให้ลูกหนี้ไปต่อได้
4.2 มาตรการเสริมสภาพคล่อง เปิดโครงการใหม่ล่าสุด ค้ำประกันสินเชื่อ BI 7 วงเงิน 10,000 ล้านบาท รองรับความต้องการผู้ประกอบการ SMEs ทุกกลุ่มที่ต้องการสินเชื่อ แต่ยังขาดหลักประกัน วงเงินค้ำสูงสุดต่อราย 100 ล้านบาท ระยะเวลาค้ำประกันสูงสุด 10 ปี พร้อมแคมเปญพิเศษ “บสย. ออก LG ฟรีค่าดำเนินการค้ำประกัน“สำหรับผู้ที่เข้าลงทะเบียนภายในงาน ณ บูธ บสย. SFI 7
4.3 ศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs (บสย.F.A. Center) ยกขบวนให้คำปรึกษาปัญหาหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ ตลอดงาน 3 วัน พร้อมบริการตรวจสุขภาพทางการเงิน Line TCG First
5. ธนาคารกรุงไทย
- มาตรการช่วยเหลือลูกค้าด้วยการปรับปรุงโครงสร้างหนี้สำหรับลูกค้ารายย่อย ด้วยวิธี การรวมหนี้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อรายย่อยประเภทอื่น (Debt Consolidation) อาทิ สินเชื่อบุคคล สินเชื่อบัตรเครดิต หรือสินเชื่อเช่าซื้อ เป็นต้น ภายใต้สถาบันการเงินเดียวกันและ/หรือสถาบันการเงินอื่น เพื่อเปลี่ยนสินเชื่อวงเงินกู้หมุนเวียน เป็นสินเชื่อแบบมีกำหนดระยะเวลา เพื่อขยายระยะเวลากู้ ปรับลดงวด ผ่อนชำระ และลดภาระผ่อนชำระ โดยสามารถเข้าร่วมมาตรการได้ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566
- มาตรการช่วยเหลือพิเศษเพื่อแก้หนี้อย่างยั่งยืน สำหรับลูกค้าประเภทบุคคลและลูกค้าธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ ผ่านเครื่องมือทางการเงินที่หลากหลาย ทั้งลดอัตราดอกเบี้ย ลดค่างวดการชำระหนี้แบบ Step Up พักชำระเงินต้นและชำระเฉพาะดอกเบี้ย เปลี่ยนประเภทหนี้ วงเงินกู้หมุนเวียน (Revolving Loan) เป็นวงเงินกู้แบบมีกำหนดระยะเวลา (Term Loan) ผ่อนสบายๆ แบบมีกำหนดระยะเวลาหรือมาตรการอื่นๆ เช่น การขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยการโอนทรัพย์ชำระหนี้ การแปลงหนี้เป็นทุน การเพิ่มสภาพคล่อง หรือ การขยายระยะเวลาผ่อนชำระ เป็นต้น ทั้งนี้ การพิจารณาลูกค้าแต่ละรายเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารกำหนด โดยธนาคารจะเสนอแนวทางการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ที่เหมาะสมกับความสามารถในการชำระหนี้และความเสี่ยงของลูกค้าสำหรับลูกค้าที่สนใจเข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือลงทะเบียนได้ที่ https://krungthai.com/th/personal/loan/personal-loan/486
- โครงการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ลูกค้าธุรกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์เศรษฐกิจ และวิกฤติโควิด -19 ที่มีเจ้าหนี้หลายราย (Multi-Creditors) โดยมุ่งเน้นให้ความช่วยเหลือลูกค้าธุรกิจที่มีวงเงินสินเชื่อกับธนาคารมากกว่า 1 แห่ง วงเงินรวมตั้งแต่ 250 ล้านบาทขึ้นไป ลดการผ่อนชำระตามความสามารถของลูกค้า ยืดระยะเวลาผ่อนชำระหนี้ตามความเหมาะสม และเสริมสภาพคล่องตามศักยภาพของลูกค้า
- มาตรการพักทรัพย์พักหนี้ เพื่อช่วยเหลือลูกค้าธุรกิจที่มีศักยภาพและมีทรัพย์สินเป็นหลักประกันให้สามารถลดภาระทางการเงินชั่วคราว ในช่วงที่รอให้ธุรกิจฟื้นตัว ด้วยวิธีการโอนทรัพย์ชําระหนี้และให้สิทธิซื้อทรัพย์คืนในอนาคต โดยราคาซื้อคืน เท่ากับ ราคารับโอน บวก ต้นทุนการถือครองทรัพย์ (Carrying Cost) 1 % ต่อปี บวกค่าใช้จ่ายในการดูแลทรัพย์ที่ธนาคารจ่ายตามจริง และหักค่าเช่าทรัพย์หลังตีโอนที่ลูกค้าชำระมาแล้ว
- มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู เพื่อเสริมสภาพคล่องให้ธุรกิจ ในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ 2 ปีแรก ไม่เกิน 2% ต่อปี (อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 5 ปี ไม่เกิน 5% ต่อปี) ผ่อนชำระสูงสุดไม่เกิน 10 ปี ได้รับยกเว้นดอกเบี้ย 6 เดือนแรก รวมทั้งได้รับการค้ำประกันสินเชื่อจากบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) นานสูงสุด 10 ปี