การเงิน

ธปท.ชี้เงินบาทอ่อนค่า 7.8% จากต้นปี จากเศรษฐกิจในประเทศฟื้นช้า เฟดคงดอกเบี้ยสูงนาน

30 เม.ย. 67
ธปท.ชี้เงินบาทอ่อนค่า 7.8% จากต้นปี จากเศรษฐกิจในประเทศฟื้นช้า เฟดคงดอกเบี้ยสูงนาน

ธปท. เผยจากต้นปีเงินบาทอ่อนค่ามากที่สุดเป็นอันดับ 2 ในภูมิภาค ลดลง 7.8% จากช่วงต้นปี ทั้งจากตัวเลขทางเศรษฐกิจในช่วงต้นปีที่ต่ำกว่าคาด และแรงกดดันจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟดที่มีทีท่าว่าจะคงดอกเบี้ยระดับสูงไปอีกระยะ คาดในไตรมาสที่ 2 อ่อนตัวเพิ่มจากการจ่ายเงินปันผล และการที่นักท่องเที่ยวลดลงในช่วงโลว์ซีซั่น

ในวันนี้ (30 เมษายน) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยสาเหตุและแนวโน้มการอ่อนตัวของค่าเงินบาท ชี้ว่าในช่วงเดือนมกราคมปี 2024 เงินบาทของไทยอ่อนนำค่าเงินอื่นในเอเชียเพราะตัวเลขทางเศรษฐกิจออกมาต่ำกว่าคาด ซึ่งส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักธุรกิจและนักลงทุนในเศรษฐกิจและค่าเงินบาท 

ทั้งนี้ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม เงินบาทเริ่มอ่อนค่าเกาะกลุ่มกับเงินสกุลอื่นในเอเชีย โดยตั้งแต่เริ่มเดือนเมษายนมาอ่อนค่าลง 1.7% เพราะมีสาเหตุจากปัจจัยภายนอก คือการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์สหรัฐที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นมากจากตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ดี เช่น อัตราการบริโภคและการจ้างงานที่สูง ทำให้เงินเฟ้อยังคงระดับ และธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟดต้องคงดอกเบี้ยไว้ในระดับสูงไปอีกระยะหนึ่งเพื่อคุมความร้อนแรงของเศรษฐกิจ

โดยในช่วงปลายปี 2023 และต้นปี 2024 นักวิเคราะห์เคยคาดว่าเฟดจะลดดอกเบี้ยมากถึง 6 ครั้งในปีนี้ แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป ปัจจุบัน นักวิเคราะห์ปรับคาดการณ์การลดดอกเบี้ยลดเหลือเพียง 1 ครั้ง ทำให้เงินทุนยังคงไหลเข้าสหรัฐฯ จากอัตราดอกเบี้ยที่สูง ดันให้เงินดอลลาร์แข็งค่าและคงระดับยาวนาน

ในช่วงไตรมาสที่ 2 แบงก์ชาติคาดว่า เงินบาทจะได้รับแรงกดดันเพิ่มจากการจ่ายเงินปันผล และการที่นักท่องเที่ยวจะเดินทางเข้ามาน้อยลงในช่วงโลว์ซีซั่น ซึ่งธปท. จะจับตามองการเคลื่อนไหวของค่าเงินอย่างใกล้ชิด และดำเนินการแทรกแซงหากมองว่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนมากเกินไปจนส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจของประเทศ

 

เศรษฐกิจไทย Q1 การบริโภคลด เงินเฟ้อขึ้น 

สำหรับสภาพเศรษฐกิจของไทยในช่วงไตรมาสที่ 1 และเดือนมีนาคม พบเป็นไปตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คาด คือมีการเติบโตไม่สูงนัก ประมาณ 1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า การบริโภคลดจากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นและปัญหาหนี้ครัวเรือน การส่งออกฟื้นตัวได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป

จากข้อมูลของธปท. การบริโภคในไตรมาสที่ 1 ของไทยเพิ่มขึ้นเพียง 0.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า ขณะที่หดตัวลง -0.8% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกับปีก่อนหน้า โดยเฉพาะการบริโภคสินค้าคงทน เช่น รถยนต์ส่วนบุคคล เพราะประชาชนมีปัญหาหนี้ และสถาบันการเงินระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น

นอกจากนี้ การบริโภคในเดือนมีนาคมยังลดลงจากเดือนกุมภาพันธ์ -0.8% เพราะแรงส่งจากมาตรการ e-receipt ในช่วงต้นปีหายไป และประชาชนมีความกังวลเรื่องค่าครองชีพมากขึ้นตามทิศทางราคาของน้ำมันเบนซิน 

ในเดือนมีนาคม อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบน้อยลง เป็นผลหลักๆ มาจากหมวดอาหารสดและพลังงาน โดยเงินเฟ้อในหมวดอาหารสดติดลบน้อยลงเป็น -1.9% จาก -2.7% เพราะราคาผักผลไม้สูงขึ้นจากผลผลิตที่น้อยลงจากสภาพอากาศร้อนจัด และเงินเฟ้อในหมวดพลังงานติดลบน้อยลงจากราคาเบนซินที่เพิ่มขึ้น

ในด้านของจำนวนและรายรับจากนักท่องเที่ยวที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักของประเทศ พบว่าในไตรมาสที่ 1 จำนวนนักท่องเที่ยวมีจำนวนรวม 9.4 ล้านคน เพิ่มขึ้น 17.3% จากไตรมาสก่อนหน้า และมีรายได้จากนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 22.8% จากไตรมาสก่อนหน้า จากการเข้ามาของนักท่องเที่ยวจีนในช่วงตรุษจีน และชาวมุสลิมที่เข้ามาเที่ยวก่อนเทศกาลถือศีลอด หรือ รอมฎอน

ทั้งนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวในเดือนมีนาคมลดลงอย่างเห็นได้ชัดจากเดือนก่อนหน้า โดยลดลงเหลือ 3 ล้านคน จาก 3.4 คนในเดือนกุมภาพันธ์ ส่งผลให้รายรับจากนักท่องเที่ยวลดลง 10.1% จากเดือนก่อนหน้า 

ในส่วนของภาคการผลิต พบว่าในเดือนมีนาคม ปริมาณการผลิตติดลบ 5.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และติดลบ  2.4% จากปีก่อนหน้า สาเหตุหลักมาจากการผลิตยานยนต์ที่ลดลง สต็อกสินค้ายังสูง ความต้องการลดลงจากกระแสอีวีที่เข้ามาแข่งขัน 

ทั้งนี้ หากดูในรายไตรมาส ปริมาณการผลิตไทยยังเติบโตเพิ่ม 0.2% จากไตรมาสก่อนหน้า จากการผลิตอาหารและเครื่องดื่ม น้ำตาล นม อาหารแช่แข็ง

สำหรับแนวโน้มการดำเนินเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ธปท. มองว่าเศรษฐกิจไทยจะได้รับการสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยว และการใช้จ่ายของภาครัฐที่เพิ่มขึ้น และระยะต่อไปต้องติดตามผลของการเบิกจ่ายงบประมาณและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ การฟื้นตัวของการส่งอก การฟื้นตัวของจำนวนและรายรับจากชาวต่างชาติ และความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์

 

 




advertisement

SPOTLIGHT