Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
ใครว่างานหนักไม่เคยฆ่าคน? รู้จัก Karoshi Syndrome ภาวะทำงานหนักจนตาย
โดย : อมรินทร์ทีวีออนไลน์

ใครว่างานหนักไม่เคยฆ่าคน? รู้จัก Karoshi Syndrome ภาวะทำงานหนักจนตาย

6 ก.พ. 66
15:55 น.
|
3.1K
แชร์

“งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข” และ “งานหนักไม่เคยฆ่าใคร” เป็นวลีที่เคยได้ยิน แต่มันถูกพิสูจน์แล้วว่าไม่จริง! งานที่หนักจนเกินไปสามารถ “ฆ่าเราให้ตายได้” จากปัญหาสุขภาพที่ย่ำแย่ ทั้ง “สุขภาพกาย” และ “สุขภาพจิต”  ดังนั้นการทำงานสมัยใหม่จึงมีคำว่า  Work Life Balance  หาสมดุลให้ชีวิตทั้งงานและความสุขส่วนตัว 

ในโลกแห่งความเป็นจริงทุกปีมีพนักงานจำนวนมากเสียชีวิตจากการทำงานหนัก โดยเฉพาะใน “ญี่ปุ่น” ที่มีผู้เสียชีวิตจากการทำงานเป็นจำนวนมากจนมีคำไว้เรียกการเสียชีวิตในลักษะนี้โดยเฉพาะว่า “Karoshi Syndrome” 

 

“Karoshi Syndrome” คืออะไร? มีจุดกำเนิดมาจากไหน?

“Karoshi Syndrome” หรือ “ภาวะคาโรชิ” เป็นคำที่แพทย์ชาวญี่ปุ่นในช่วง 1980s บัญญัติขึ้นมาใช้เรียกผู้ที่เสียชีวิตจากการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดที่ทำให้สมองขาดเลือดต่างๆ (stroke) โรคหอบหืดขั้นร้ายแรง รวมไปถึงการฆ่าตัวตายจากความเครียดในที่ทำงาน ซึ่งมีจำนวนสูงขึ้นมากในช่วง 1970s-1980s ที่ญี่ปุ่นกำลังมีวัฒนธรรมโหมทำงานหนักเพื่อสร้างชาติในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง โดยมองว่าการทำงานหนักสร้างเกียรติและศักดิ์ศรีให้กับคน และเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ทุกคนต้องยึดถือเพื่อศักดิ์ศรีขององค์กร

จากค่านิยมนี้เอง พนักงานบริษัทญี่ปุ่นในยุคนั้นจึงถูกกดดันให้ทำงานหนักถึงจะไม่อยากทำเพื่อความก้าวหน้าในหน้าที่การงานของตัวเอง โดยการทำงานแบบถวายหัวให้บริษัท มากกว่า 70 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือมากกว่า 14 ชั่วโมงต่อวัน เข้างานเร็ว ออกงานช้า และทำงานล่วงเวลาหลายวันหลายคืนติดต่อกันโดยไม่พัก นอกจากนี้ด้วยวัฒนธรรมที่ให้ความสำคัญกับความอาวุโสในเอเชีย หากหัวหน้างานหรือรุ่นพี่ที่มีตำแหน่งสูงกว่าชวนไปกินดื่มก็ห้ามปฏิเสธ

afp.com-20141008-ph-hkg-hkg10

และแน่นอนว่าเมื่อทำงานหนักแล้วเวลาพักยังไม่ได้พัก ความเหนื่อยและความเครียดที่สะสมในตัวพนักงานเหล่านี้ก็ระเบิดออกมาด้วยการเสียชีวิตคาที่ทำงาน และการฆ่าตัวตายเพราะทนรับความกดดันจากการทำงานไม่ไหว ซึ่งพบมากเสียจนรัฐบาลญี่ปุ่นต้องออกมายอมรับว่าปัญหานี้เป็นปัญหาสาธารณสุขระดับชาติในปี 1987 และตั้งสาย hotline ขึ้นมาให้ผู้ที่มีความเครียดจากการทำงาน และมีแนวโน้มที่จะเสียชีวิตเพราะการทำงานโทรไปปรึกษา

จากสถิติอย่างเป็นทางการของรัฐบาลญี่ปุ่น มีผู้เสียชีวิตจากการทำงานถึงประมาณ 200 รายต่อปี แต่ตัวเลขขององค์กรอิสระและนักเคลื่อนไหวที่รณรงค์เรื่องนี้ในญี่ปุ่นกลับออกมาสูงกว่าที่รัฐบาลเปิดเผยมาก โดยสูงถึง 10,000 รายต่อปี เพราะรวมผู้ที่เสียชีวิตจากการทำงานไม่ประจำที่ควงหลายงานพร้อมๆ กันที่เพิ่มขึ้นมากตั้งแต่ปี 1990 ด้วย

 

ภาวะคาโรชิไม่ได้มีแค่ในญี่ปุ่น ทุกปีคนหลายแสนคนทั่วโลกเสียชีวิตจากงานหนัก

ถึงแม้ปรากฎการณ์นี้จะพบได้มากในชาติที่ขึ้นชื่อเรื่องความบ้างานอย่างญี่ปุ่น แท้จริงแล้วการเสียชีวิตจากการทำงานหนักเป็นสิ่งที่พบได้ในทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศในทวีปเดียวกันอย่างเอเชีย และในภูมิภาคเอเชียตะวันออก คือ “จีน” และ “เกาหลี” ที่คนทำงานหนักกันจนมีคำไว้เรียกการเสียชีวิตจากการทำงานเช่นกัน คือ “guolaosi” ที่อ่านว่า “กัวเหลาซือ” และ “gwarosa” ที่อ่านว่า “ควาโรซา”

จากการศึกษาขององค์กรอนามัยโลก ในปี 2016 มีคนถึง 488 ล้านคนทั่วโลกมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบทางสุขภาพจากการทำงานหนัก ซึ่งส่วนมากจะเป็นผู้ที่ทำงานมากกว่า 55 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ที่มีความเสี่ยงจะเป็นโรคหลอดเลือดสมองมากกว่าคนปกติ 35% และเสี่ยงจะเสียชีวิตจากโรคหัวใจมากกว่าคนปกติ 17%

โดยในปีนั้น มีผู้ทำงานถึง 745,000 คนเสียชีวิตจากการทำงานหนักที่ทำให้พนักงานหัวใจวาย หรือเกิดหลอดเลือดในสมองแตกหรือตีบกะทันหัน เพิ่มขึ้น 29% เมื่อเทียบกับปี 2000 โดยจำนวนผู้ที่เสียชีวิตจากการทำงานหนักนี้ แบ่งออกเป็น เสียชีวิตจากเส้นเลือดในสมองแตก 398,000 คน (เพิ่มขึ้น 19%) และเสียชีวิตจากโรคหัวใจ 347,000 คน (เพิ่มขึ้น 42%)

นอกจากนี้ การศึกษานี้ยังพบอีกว่า ผู้ที่เสียชีวิตจากการทำงานหนักส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย (72%) และเป็นคนทำงานที่อยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นหลัก โดยเฉพาะคนที่ทำงานในเศรษฐกิจนอกระบบในประเทศรายได้ต่ำหรือรายได้ปานกลาง ที่ต้องควงหลายงาน งานละหลายชั่วโมงต่อวันเพื่อให้มีเงินกินใช้ และไม่ได้รับการคุ้มครองด้านสภาพการทำงานเหมือนแรงงานในระบบ หรือบริษัทใหญ่ๆ 

ในอีกสถิติ องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ยังเปิดเผยอีกว่า 11% ของประเทศสมาชิก OECD มีประชากรที่ทำงานเกิน 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยประเทศที่มีคนทำงานหนักมากที่สุด 4 ประเทศคือ ตุรกี (33%), เม็กซิโก (29%), โคลอมเบีย (26.6%) และเกาหลีใต้ (25.2%) โดย ญี่ปุ่นอยู่ในอันดับที่ 6 ด้วย 17.9% ทำให้แท้ที่จริงแล้ว ประเทศที่มีคนทำงานมากที่สุดในเอเชียไม่ใช่ญี่ปุ่น แต่เป็นเกาหลีใต้ ที่มีวัฒนธรรมทำงานหนัก และพบการเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วในช่วงเวลาเดียวกัน

 

ภาวะคาโรชิแก้ไม่ได้ที่ตัวบุคคล ต้องแก้ที่ “ระบบ”

ถ้ามีคนเสียชีวิตจากภาวะคาโรชิจำนวนมาก แล้วเราจะป้องกันปัญหานี้อย่างไร? 

สำหรับคำถามนี้ หลายๆ คนอาจจะบอกให้พนักงานหัดรู้ลิมิตตัวเอง และหาเวลาพักผ่อนบ้าง อย่าบ้างานจนเกินไป ราวกับว่าพนักงานเป็นคนที่อยากทรมานตัวเองอย่างสมัครใจเพื่อแลกเงินเดือนโดยที่ไม่มีอะไรมากดดันหรือบังคับ และเป็นคนที่คุมชั่วโมงการทำงานของตัวเองได้ ไม่ใช่นายจ้างหรือลูกค้า

แต่อย่างที่เกริ่นไว้ในช่วงแรก ค่านิยมทำงานหนักไม่ได้เกิดจากตัวบุคคล แต่เกิดจากสังคมในระบบทุนนิยมที่กล่อมเกลาว่าต้องทำงานหนักจึงจะได้ดี และวัดคุณค่าของคนจากผลงานและจำนวนเงินที่ทำได้ รวมไปถึงข้าวของเครื่องใช้ราคาแพงที่มนุษย์นำมาวัดคุณค่าของกันและกัน ที่กระตุ้นให้ทุกๆ คนอยากทำงานหนักขึ้นอีกเพื่อนำเงินมาซื้อของหรือบริการต่างๆ ที่คิดว่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้ตัวเองมีความสุข

เมื่อมองแบบนี้แล้ว ปัญหาการทำงานหนักจนเสียชีวิตจึงแก้ไม่ได้ที่ตัวบุคคล แต่ต้องแก้ในระดับโครงสร้างสังคม กฎหมาย และวัฒนธรรม โดยการให้รัฐบาลจำกัดเวลาทำงาน ให้บริษัทออกนโยบายที่เอื้อให้พนักงานสร้างสมดุลระหว่างการทำงาน รณรงค์ให้คนเลิกมองว่าการทำงานหนักและวัตถุที่หามาได้จากการทำงานคือเครื่องวัดคุณค่าของมนุษย์ รวมไปถึงให้ข้อมูลให้ประชาชนรู้จักสิทธิของตัวเองในฐานะแรงงาน และลงโทษบริษัทหากละเมิดสิทธิในการทำงาน

istock-1304876683

โดยในระดับโลก ตัวอย่างกลุ่มประเทศที่มีความจริงจังในการจัดการปัญหานี้คือ กลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป ที่กฎหมายแรงงานชี้ชัดว่าห้ามไม่ให้บริษัทหรือธุรกิจใดๆ ก็ตามให้พนักงานทำงานเกิน 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ รวมจำนวนโอที นอกจากนี้สหภาพยุโรปยังมี European Working Time Directive หรือข้อบังคับด้านเวลาการทำงานว่า พนักงานจะต้องได้รับเวลาพักผ่อนอย่างน้อย 11 ชั่วโมงใน 24 ชั่วโมง เบรก 20 นาทีถ้ากะงานระยะยาวเกิน 6 ชั่วโมง และกำหนดให้มีวันลา 4 สัปดาห์หรือ 28 วันต่อปี ทำให้ประเทศเหล่านี้มีอัตราแรงงานเสียชีวิตจากการทำงานหนักต่ำที่สุดในโลก

นี่รวมไปถึงญี่ปุ่น ที่ปัจจุบันจำกัดเวลาทำงานให้เหลือเพียงไม่เกิน 40-44 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ไม่รวมโอทีที่จำกัดไว้ที่ 15 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และ 45 ชั่วโมงต่อเดือน

ในส่วนของประเทศไทย กฎหมายแรงงานระบุให้นายจ้างต้องไม่ให้แรงงานทำงานเกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน และไม่เกิน 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เช่นกัน แต่จำนวนชั่วโมงนี้ไม่รวมโอทีที่กฎหมายอนุญาตให้อีก 36 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และกำหนดให้บริษัทให้วันลาอย่างน้อย 6 วันต่อปี ซึ่งผู้ประกอบการส่วนมากในไทยก็ให้วันลาตามที่กฎหมายกำหนด ไม่ขาดไม่เกิน

ซึ่งถ้ามองแบบนี้ก็น่าคิดว่าชีวิตแรงงานไทยในปัจจุบันเป็นอย่างไรกันบ้าง เพราะถึงแม้ไทยจะยังไม่มีคำไว้เรียกการเสียชีวิตจากการทำงานเหมือนประเทศอื่นๆ สาเหตุที่เราคิดว่าไม่มีปรากฎการณ์นี้ในไทยอาจเป็นเพราะประเทศไทยไม่เคยสนใจจัดเก็บสถิติผู้ที่เสียชีวิตหรือเจ็บป่วยหนักจากการทำงานมาก่อน ทั้งที่หลายๆ คนต้องเคยได้ยินเรื่องคนใกล้ตัวทำงานหนักจนล้มป่วยกันมาบ้าง หรือจากข่าวดังในขณะนี้ที่มีหนุ่มวงการทีวีทำงานหนักจนเสียชีวิตคาโต๊ะทำงาน จนถ้าเราหันมาเก็บสถิติการตายจากการโหมงานหนักอย่างจริงจัง ภาวะการเสียชีวิตจากการทำงานอาจจะแพร่หลายในสังคมเราอยู่แล้ว แต่เรายังไม่รู้ตัวก็ได้



ที่มา: Institute for the Future of Education, NPR, BBC





แชร์

ใครว่างานหนักไม่เคยฆ่าคน? รู้จัก Karoshi Syndrome ภาวะทำงานหนักจนตาย