จากกระแสข่าว ‘ทำงานหนักจนเสียชีวิต’ ที่สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั้งแวดวงการทำงาน ทำให้มนุษย์วัยทำงานหลายคนกลับมาทบทวนว่า Work-life balance ของชีวิตตัวเองตอนนี้ยังดีอยู่ไหม? กระตุกให้นายจ้างกลับมาทบทวนเรื่องความทั่วถึงในการดูแลพนักงาน และกำหนดลิมิตในการทำงาน
ซึ่งอันที่จริง กฎหมายคุ้มครองแรงงานได้มีการกำหนดเพดานเวลาการทำงานของลูกจ้าง แต่หลายครั้ง ในโลกแห่งความเป็นจริง พนักงานก็ต้องตรากตรำทำงานล่วงเวลาไปมาก อาจเพราะภาระงานที่ตึงมือ หรือเพราะนโยบายบริษัทที่ต้องการรีดศักยภาพของพนักงานให้ถึงที่สุด
แล้วในต่างประเทศเป็นอย่างไร? แต่ละประเทศทำงานหนักต่างกันมากน้อยแค่ไหน? Spotlight ได้รวบรวมชั่วโมงการทำงานของแต่ละประเทศ ทั้งเวลาการทำงานตามที่กฎหมายของแต่ละประเทศกำหนด และเวลาการทำงานจริง จากผลสำรวจของเว็บไซต์ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ของหลากหลายกลุ่มประเทศ โดยได้หยิบ 10 จากกลุ่มประเทศอาเซียนซึ่งอยู่ในภูมิภาคเดียวกับไทย, กลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ และกลุ่มประเทศยุโรป ซึ่งมักถูกมองว่ามีคุณภาพชีวิตที่ดี มาให้ได้เห็นภาพมากขึ้น
ประเทศ | ชม.ทำงานตามกฎหมาย (ชม./คน/สัปดาห์) | ชม. ทำงานจริง |
อินเดีย | 48 | 50 |
จีน | 40 | 46.1 |
สิงคโปร์ | 48 | 42.6 |
ไทย | 48 | 40.5 |
เวียดนาม | 48 | 39.2 |
เกาหลี | 40 | 38.5 |
ญี่ปุ่น | 40 | 36.6 |
สหรัฐ | 40 | 36.6 |
สวิส | 45 | 34.4 |
นอร์เวย์ | 40 | 33.5 |
แล้วเราเห็นอะไรจากข้อมูลชุดนี้? ใน 10 ประเทศที่ยกมานี้ จะมีเพียง 2 ประเทศ ได้แก่ จีนและอินเดีย ซึ่งมีชั่วโมงการทำงานเฉลี่ย “สูงกว่าที่กฎหมายกำหนด” ส่วน 2 ตัวแทนจากกลุ่มประเทศยุโรป ได้แก่ นอร์เวย์ และ สวิตเซอร์แลนด์ มีชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์ที่น้อยที่สุด
ตามมาด้วยสหรัฐ ญี่ปุ่น และเกาหลี ส่วนใน 3 ประเทศในกลุ่มประเทศอาเซียนนั้น ลำดับจำนวนชั่วโมงการทำงาน ได้แก่ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม
นอกจากเวลาการทำงานปกติ ตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว กฎหมายคุ้มครองแรงงานยังครอบคลุมไปถึงการกำหนดเพดานชั่วโมงการทำงานล่วงเวลา การทำงานในวันหยุด และการทำงานล่วงเวลาในวันหยุด รวมแล้วต้องไม่เกิน 36 ชม./สัปดาห์ ในประเทศไทย ส่วนประเทศอื่นก็มีการกำหนดเช่นกัน ซึ่งจะแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ
นี่เป็นเพียงชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยของแต่ละประเทศเท่านั้น ในความเป็นจริง มนุษย์วัยทำงานบางคนอาจต้องทนทำงานมากกว่านี้ แต่อยากฝากข้อคิดไว้ว่า “งานหนักฆ่าคนได้จริง” แม้จะไม่ใช่ทางตรง แต่เป็นความเครียดจากการทำงาน ที่ส่งผลกระทบอยากหนักหนาต่อร่างกาย ดังที่เรียกว่า ‘ภาวะคาโรชิ (Karoshi Syndrome)’ ซึ่งหมายถึงผลกระทบร่างกายที่เกิดขึ้นจากการโหมงานหนัก ไม่ว่าจะเป็น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดที่ทำให้สมองขาดเลือดต่างๆ (stroke) โรคหอบหืดขั้นร้ายแรง รวมไปถึงการฆ่าตัวตายจากความเครียดในที่ทำงาน
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับภาวะคาโรชิได้ที่นี่
แม้แต่ละคนจะมีความจำเป็นในชีวิตต่างกัน บางคนกำลังแบกภาระความรับผิดชอบอันใหญ่หลวงของบริษัทไว้ บางคนกำลังมุ่งหารายได้เพื่อครอบครัวและคนรัก แต่หากเงินหลายบาท หลายสตางค์ที่หามาได้ ถูกนำไปใช้กับการรักษาตัวเองจนหมด คงเป็นเรื่องที่น่าเศร้า และไม่คุ้มกับเวลาชีวิตที่เสียไป
Spotlight จึงอยากอาศัยพื้นที่ตรงนี้ สร้างความตระหนักรู้เรื่อง ‘Work-Life Balance’ ในชีวิตของคุณ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าต้องแบ่งเวลาให้ทุกมิติของชีวิตเท่ากัน แต่ควรแบ่งเวลาอย่างลงตัว และไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน เพราะสุดท้ายแล้ว งานก็ไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิต
ที่มา : ILO, สำนักคุ้มครองแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน, India Law Offices, Simmons Simmons, Thompson Reuters Practical Law, Replicon, DOL, JETRO, I am Expat, arbeidstilsynet